โรตารีสากล
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
โรตารีสากล (อังกฤษ: Rotary International) เป็นองค์กรของนักธุรกิจและผู้นำด้านวิชาชีพจากทั่วโลก ผู้ซึ่งให้บริการเพื่อมนุษยชาติ สนับสนุนมาตรฐานจริยธรรมในทุกวิชาชีพ และช่วยส่งเสริมไมตรีจิตและสันติภาพในโลก[1] ปัจจุบันมีสโมสรมากกว่า 46,000 แห่งทั่วโลก[2] ซึ่งมีสมาชิก 1.4 ล้านคนที่มีชื่อว่าโรแทเรียน[1]
คําขวัญ | Service Above Self |
---|---|
ก่อตั้ง | 1905 |
ผู้ก่อตั้ง | พอล พี. แฮร์ริส |
ประเภท | Service club |
สํานักงานใหญ่ | เอแวนสตัน รัฐอิลลินอย สหรัฐ |
ที่ตั้ง |
|
สมาชิก | 1.4 ล้าน |
ภาษาทางการ | อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลี, โปรตุเกส และสเปน |
ประธาน | Jennifer E. Jones (กรกฎาคม ค.ศ. 2022 – ปัจจุบัน) |
บุคลากรหลัก | John Hewko (CEO & เลขาธิการทั่วไป) |
Publication | The Rotarian |
เว็บไซต์ | www |
สโมสรโรตารีในประเทศไทย
แก้สองทศวรรษหลังจากโรตารีได้ถือกำเนิดขึ้นในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 (ค.ศ.1905)
ในบริเวณภาคพื้นแหลมทอง โรตารีได้ไปเริ่มก่อตั้งสโมสรแห่งแรกที่นครกัวลาลัมเปอร์ ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ.1928) โดย โรแทเรียน เจมส์ ดับบลิว. เดวิดสัน แห่งสโมสรโรตารีแคลแกรี่ เมืองอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา (Rtn James W. Davidson, Rotary Club of Calgary, Alberta, Canada) ได้รับการแต่งตั้งจากโรตารีสากลเป็นผู้แทนพิเศษผู้มีอำนาจเต็ม (General Commissioner) ในการก่อตั้งสโมสรโรตารี เดินทางมายังภาคตะวันออก เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการก่อตั้งสโมสรต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ และประสบความสำเร็จในการก่อตั้งสโมสรโรตารีถึง 7 สโมสรในสหพันธรัฐมลายูภายในเวลาสองปี หลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
เจมส์ ดับบลิว. เดวิดสัน ได้ขอพระราชทานวโรกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อกราบทูลถวายเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของโรตารีให้ทรงทราบโดยละเอียด อีกทั้งยังได้ขอให้พระองค์ประทานพระดำริในอันที่จะก่อตั้งสโมสรโรตารีแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) เสด็จในกรมฯ ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบในอุดมการณ์ของโรตารี ดังนั้น สโมสรโรตารีแห่งแรกในประเทศไทย จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2473 (ค.ศ.1930) เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" และได้รับสารตราตั้ง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2473 มีสมาชิกก่อตั้งรวม 69 ท่าน ซึ่งมีสัญชาติต่างๆ อยู่ถึง 15 ชาติด้วยกัน โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้งท่านหนึ่ง การประชุมก่อตั้งได้จัดทำขึ้น ณ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร) โดยเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงรับเป็นนายกก่อตั้งสโมสร
ปี พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ในวาระที่โรตารีในประเทศไทยครบรอบ 25 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรตารีในประเทศไทย อดีตนายกหลวงสิทธิสยามการ ได้แปลธรรมนูญและข้อบังคับของโรตารีสากลเป็นภาษาไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ได้มีการก่อตั้งสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นสโมสรที่สองของประเทศไทยและเป็นสโมสรแรกที่ใช้ภาษาไทยในการประชุมมีพระยามไหสวรรย์เป็นนายกก่อตั้ง
ปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ในวาระที่โรตารีในประเทศไทยครบรอบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพร้อมทั้งพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จร่วมงาน ฉลองฯ ที่สวนอัมพร โดยมีอดีตผู้ว่าการภาคเนลสันอเล็กซานเดอร์ (Nelson Alexander) ในฐานะผู้ว่าการภาคถวายการต้อนรับสโมสรโรตารีธนบุรีและหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ร่วมกับการสื่อสารแห่ง ประเทศไทย ได้จัดแสตมป์โรตารี ออกจำหน่าย เพื่อเป็นที่ระลึกโรตารีครบรอบ 50 ปี
ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) โรตารีในประเทศไทยฉลองครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 และได้สร้างสังคีตศาลาขึ้นบริเวณ "สนามราษฎร์" ในสวนหลวง ร. 9
ปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) โรตารีสากล อนุมัติให้จัดแบ่งภาค จาก 2 ภาค คือ 335 และ 336 เป็น 4 ภาค มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไป และในปีนั้น โรตารีสากล ได้จัดระเบียบการให้หมายเลขจาก 3 ตัว เป็น 4 ตัว ภาคในประเทศไทย จึงได้หมายเลขภาคเป็น 3330,3340, 3350 และ 3360 มีการจัดตั้งศูนย์โรตารีในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ในปีนี้มีจำนวนสโมสรประมาณ 255 สโมสรและจำนวนสมาชิกประมาณ 5,600–5,800 ท่าน และได้มีการจัดประชุมใหญ่ภาคร่วม 4 ภาคครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) วันที่ 28 พฤศจิกายน โรตารีในประเทศไทยฉลองครบรอบ 70 ปี มีการเฉลิมฉลองและ บำเพ็ญประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ และรับสโมสรโรตารีพนมเปญ แห่งประเทศกัมพูชา เข้าภาค 3350 และ มีการก่อตั้งสโมสรกรุงเทพ-สุริวงศ์ พูดภาษาญี่ปุ่น,ก่อตั้งสโมสรกรุงเทพ-บางนา พูดภาษาจีนกลาง และมีคนไทยคนแรก ได้ดำรงตำแหน่งประธานโรตารีสากล คือนาย พิชัย รัตตกุล โดยมี คำขวัญประจำปีว่า " มีน้ำใจ ให้ความรัก" (Sow the Seeds of Love) เป็นการฉลองตำแหน่งประธานโรตารีสากลของคนไทยคนแรก ได้มีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการโรตารีฉบับ 2001 เป็นภาษาไทยสำเร็จอีกครั้งโรตารีในประเทศไทยครบรอบ 72 ปี มีการจัดทำซัพพลีเม้นท์ฉบับครบรอบ 72 ปี ในประชาชาติธุรกิจ จัดประชุมใหญ่ร่วม 4 ภาค ครั้งที่ 2
เขตพื้นที่สโมสรโรตารีในประเทศไทย
แก้สโมสรโรตารีในประเทศไทย ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ภาค ตามพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ได้แก่
- โรตารีภาค 3330 โรตารีสากล ครอบคลุม พื้นที่ ภาคใต้ ภาคตะวันตก
- โรตารีภาค 3340 โรตารีสากล ครอบคลุม พื้นที่ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ประเทศลาว
- โรตารีภาค 3350 โรตารีสากล ครอบคลุม พื้นที่ ภาคกลาง และประเทศกัมพูชา
- โรตารีภาค 3360 โรตารีสากล ครอบคลุม พื้นที่ ภาคเหนือ
บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นสมาชิกสโมสรโรตารี
แก้- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน - พระบิดาแห่งโรตารีไทย , นายกก่อตั้งสโมสรโรตารีกรุงเทพ , พระบิดาแห่งรถไฟไทยและการท่องเที่ยวไทย
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา - สมาชิกก่อตั้งและอดีตนายกสโมสรโรตารีกรุงเทพ , นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย
- พิชัย รัตตกุล - อดีตประธานโรตารีสากล , สมาชิกก่อตั้งสโมสรโรตารีธนบุรี , อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
- นพ. สงวน คุณาพร - แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง-ผ่าตัดแปลงเพศมือหนึ่งของประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการภาคโรตารี 3330
- ภาณุ อุทัยรัตน์ - นายกก่อตั้งสโมสรโรตารีพรหมคีรี , ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ , อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.
- ดร.ไกร ตั้งสง่า - อดีตผู้ว่าการภาค 3350 , สมาชิกสโมสรโรตารีเจริญนคร,คณะกรรมการบริหารรถไฟฟ้ามหานคร
- บิ๊ก ภุชิสสะ หรือ พิสิฏฐ์พล ศุภธนพัฒน์ ดารา นักแสดง/นักร้อง , สมาชิกสโมสรโรตารีสนามจันทร์ ภาค 3330
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "About Rotary". rotary.org.
- ↑ "Join". www.rotary.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-06-12.
ข้อมูล
แก้- "2019–20 Rotary president selected". www.rotary.org. สืบค้นเมื่อ 2019-07-05.
หนังสืออ่านเพิ่ม
แก้- Charles, Jeffrey A. (1993). Service Clubs in American Society: Rotary, Kiwanis, and Lions. University of Illinois Press. ISBN 978-0252020155.
- Goff, Brendan M. (2008). The heartland abroad: The Rotary Club's mission of civic internationalism. ProQuest 304572560. Goff's 2008 doctoral dissertation, which departs from Charles's earlier work in its emphasis on the international aspects of Rotary International.
- Lewis, Su Lin, "Rotary International's 'Acid Test': Multi-ethnic Associational Life in 1930s Southeast Asia," Journal of Global History, 7 (July 2012), 302–34.