ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สืบแสง พรหมบุญ (18 ธันวาคม พ.ศ. 2484 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2555) อดีตนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ นักการศึกษา และนักการเมืองชาวไทย

ประวัติ แก้

สืบแสง เกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนพิณพลราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยม) ปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนของมูลนิธิเอ็ดวาร์ด ดับเบิลยู เฮเซน และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 77 (วปรอ.377)

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน[1]

ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ขณะที่โดยสารรถแท็กซี่ สิริอายุได้ 71 ปี ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลา 2 วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร และเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 [2] [3]

การทำงาน แก้

รับราชการโดยเริ่มจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนวิชาประวัติศาสตร์จีนแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งที่ทรงเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เป็นนายกสมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เป็นคณบดีระหว่างปี พ.ศ. 2526-พ.ศ. 2528

ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ เป็นอาจารย์พิเศษในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ในหลายสถาบันการศึกษา และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและยุทธศาสตร์องค์กร และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในปี พ.ศ. 2538

ในทางด้านการศึกษา ได้เป็นผู้วางรากฐานการศึกษา โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ในหลายสถาบัน เป็นกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และ ประธานคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยจากเอกสารจีน สำนักนายกรัฐมนตรี[4]

งานการเมือง แก้

ทางด้านการเมือง ได้ร่วมงานกับพรรคพลังใหม่ จากนั้นได้ย้ายเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 7 กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ) เมื่อปี พ.ศ. 2553 ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 62 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[5] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

เคยเป็นประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2538[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. สืบแสง พรหมบุญ จากเดลินิวส์
  2. กำหนดการพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ
  3. ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ[ลิงก์เสีย]
  4. ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ[ลิงก์เสีย]
  5. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
  6. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๑/๒๕๓๘ เรื่องแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (นายสุรวรณ ไตรผล, นายสุกิจ อัถโถปกรณ์, นายสืบแสง พรหมบุญ)
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๘, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๔๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙