สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2523[1] โดยสาขาวิชานิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เปิดทำการเรียนการสอนในสาขานิติศาสตร์เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย (รองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง) และเป็นสถาบันอุดมศึกษาอันดับที่ 6 ของประเทศไทยที่เปิดสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ (รองจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์) ปัจจุบันสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรทางกฎหมาย จนถึงหลักสูตรปริญญาทางนิติศาสตร์

สาขาวิชานิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
School of Law Sukhothai Thammathirat
Open University
สถาปนาพ.ศ. 2523
คณบดีรองศาสตราจารย์ลาวัลย์ หอนพรัตน์
ที่อยู่
วารสารวารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธราช
Sukothai Tammatirat Law Journal
สีเขียว
มาสคอต
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เปล่งรัศมีธรรมจักร
เว็บไซต์www.law.stou.ac.th/

ปัจจุบัน ปริญญาทางนิติศาสตร์ จากสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับการรับรองจากเนติบัณฑิตยสภา[2] ผู้ได้รับปริญญาทางนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สามารถสมัครเข้าเป็นนักศึกษา ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาและสามารถสอบไล่เพื่อเป็นเนติบัณฑิตไทยได้ (น.บ.ท.) [3] และผู้ได้รับปริญญาทางนิติศาสตร์ จากสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สามารถสมัครเป็นวิสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาได้ ซึ่งทำให้ผู้ได้รับปริญญาทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตได้ และหากได้ผ่านการอบรมวิชาว่าความจากสภาทนายความแล้ว สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายความได้โดยไม่ต้องสอบไล่ได้เนติบัณฑิตไทยก่อน[4]

ประวัติ

แก้
 
อาคารที่ทำการของสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 อาคารวิชาการ 3 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีนโยบายจัดตั้งสาขาวิชานิติศาสตร์ขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงความต้องการของสังคมในวิชาการด้านนี้เป็นอย่างมาก ดังปรากฏในรายงานการวิจัยเรื่องความคิดเห็นของประชาชนต่อมหาวิทยาลัยเปิด (พ.ศ. 2521) ที่เสนอต่อทบวงมหาวิทยาลัย และผลของการสำรวจ ความต้องการของสังคมที่มีต่อวิชากฎหมาย (พ.ศ. 2523) โดยคณะกรรมการการศึกษาและจัดทำโครงการสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจศึกษาวิชานิติศาสตร์ถึงร้อยละ 83.11 ของผู้ที่ตอบ แบบสอบถามมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงมีนโยบายที่จะเสริมสร้างและพัฒนา บุคลากรในวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีความรู้ทางด้านวิชานิติศาสตร์อย่างกว้างขวาง และเหมาะสมกับลักษณะงานในหน้าที่ของตนตาม ความต้องการของสังคม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชยังมีนโยบายที่จะส่งเสริม การศึกษาต่อเนื่องให้แก่ผู้ที่จบการศึกษา ขั้นปริญญาตรีและอนุปริญญาในสาขาวิชาอื่น ตลอดจนประชาชนผู้สนใจในวิชากฎหมายเพื่อเป็นการให้ความรู้ และให้บริการทางวิชาการ แก่สังคมอย่างกว้างขวางและทั่วถึง[5]


สัญลักษณ์

แก้

สัญลักษณ์สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาจากแนวความคิดของเค้าโครงขององค์เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์อันเป็นลักษณะที่เด่นที่สุดของตรามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วงกลมวงใหญ่หนาบางซึ่งมาจาก รูปแบบของธรรมจักรหรือธรรมศาสตร์ อันหมายถึงความเป็นธรรม ความชอบธรรม ความดีงาม ซึ่งเป็นเครื่องหมายดั้งเดิมของคำว่า "นิติศาสตร์" ในปัจจุบัน ตราชูสองแขนอันเป็นสัญลักษณ์สากลของศาสตร์แห่งกฎหมาย ด้านบนของแกนตราชั่งมีวงกลมหนาวงเล็ก หมายถึงบุคคล ขณะเดียวกันก็เป็นแกนของวงล้อธรรมจักรด้วย นำทั้งหมดนี้มาพัฒนารูปแบบให้เป็นรูปแบบกราฟิก เน้นความเรียบง่าย โดดเด่น งดงาม จำติดตา

โดยองค์ประกอบของสัญลักษณ์ทั้งหมดนี้ สื่อความหมายถึงถึงบุคคลผู้ศึกษาหาความรู้จากศาสตร์แห่งความเป็นธรรมในสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะสามารถใช้ความรู้ความสามารถเพื่อดำรงความเป็นธรรม ความชอบธรรม ให้เกิดแก่สังคมและมวลมนุษย์[6]

หลักสูตร [7]

แก้
ระดับหลักสูตรประกาศนียบัตร ระดับอนุปริญญา ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท

ประกาศนียบัตรกฎหมายการที่ดินและทรัพย์สิน

  • หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายการที่ดินและทรัพย์สิน (2 ปี) อักษรย่อ ป.กท.[8]

อนุปริญญานิติศาสตร์​

  • หลักสูตรอนุปริญญานิติศาสตร์ อักษรย่อ อนุ น.บ.

นิติศาสตรบัณฑิต​

  • หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (4 ปี) อักษรย่อ น.บ.
  • หลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง (3 ปี) อักษรย่อ น.บ.[9]

นิติศาสตรมหาบัณฑิต​

  • หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต วิชาเอกกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม ′′อักษรย่อ น.ม.
  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกกฎหมายธุรกิจ อักษรย่อ น.ม.
  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกกฎหมายมหาชน อักษรย่อ น.ม.[10]


การศึกษา

แก้
 
ศาลจำลองสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

การศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการศึกษาในระบบทางไกล โดยนักศึกษาต้องศึกษาทำความเข้าใจจากเอกสารการสอนและสื่อต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยส่งไปให้นักศึกษาทางไปรษณีย์ และจากการเข้าเรียนเสริมจากศูนย์บริการการศึกษาต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดห้องเรียนเฉพาะขึ้นในบางวิชา รวมไปถึงการศึกษาจากสื่อสารสนเทศต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เช่น e-Learning โทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น

จาการที่สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตัดคะแนนผ่านด้วยการสอบไล่ 100% ไม่มีคะแนนเก็บในทุกชุดวิชา และไม่มีการเปิดห้องเรียนตามปกติเหมือนมหาวิทยาลัยปิดและเปิดอื่น ๆ ในประเทศไทย นักศึกษาจึงจำเป็นต้องศึกษาด้วยตนเองจากสื่อที่จำกัด ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้จำเป็นต้องศึกษาเอกสารการสอนและศึกษาเพิ่มเติมให้ครบถ้วนและเข้าใจด้วยตนเองโดยถ่องแท้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด เพื่อสามารถทำข้อสอบของมหาวิทยาลัยได้


สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีการออกข้อสอบวิชากฎหมาย แตกต่างจากโรงเรียนกฎหมายอื่นในประเทศไทยคือ มีการออกข้อสอบแบบปรนัยในการสอบไล่วิชากฎหมายด้วย โดยตัดคะแนนปรนัย 50% และอัตนัย 50% โดยการออกข้อสอบในภาคปรกติ จะออกข้อสอบแบบตัวเลือก (ปรนัย) 60 ข้อ และข้อสอบแบบเขียนตอบ (อัตนัย) 3 ข้อ (ข้อละ 20 คะแนน) โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนอัตนัยเช่นเดียวกับโรงเรียนกฎหมายทั่วไป (คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ) โดยตัดคะแนนผ่านในชุดวิชานั้น ๆ ที่ 60/100 คะแนน

(ในคำวินิจฉัยปัญหาข้อสอบกฎหมาย ในวารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช มีคำแนะนำว่า มีหลายครั้งที่นักศึกษาทำข้อสอบอัตนัยได้คะแนนดี แต่ทำข้อสอบปรนัยไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เนื่องจากข้อสอบปรนัยของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการออกข้อสอบที่ไม่เน้นออกบทเรียนเฉพาะจุด ไม่ซ้ำซ้อนกับภาคที่ผ่านมา (ออกข้อสอบใหม่หมดในทุกภาค ไม่มีการนำข้อสอบเก่ามาออกใหม่) ทั้งนี้เพื่อการประเมินผลความรู้โดยรวมของนักศึกษา และบ่อยครั้งที่ออกข้อสอบปรนัยในระดับวิเคราะห์และสังเคราะห์ปะปนกันไป[11] ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เน้นเฉพาะการทำข้อสอบอัตนัยเท่านั้นสอบไม่ผ่าน ทั้งที่สามารถทำข้อสอบอัตนัยได้คะแนนดีมาก)

เมื่อใกล้สำเร็จการศึกษา สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะมีการจัดอบรมประสบการณ์วิชาชีพกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (นนทบุรี) เพื่ออบรมนักศึกษาในด้านฝึกการปฏิบัติการทางกฎหมาย และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเข้าห้องเรียนศาลจำลอง (โดยมีผู้พิพากษาตัวจริงเป็นผู้พิพากษาศาลจำลอง) เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริงในการปฏิบัติการทางกฎหมาย เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยไปใช้จริงได้ในอนาคต

วารสารประจำสาขาวิชา (วารสารคณะ)

แก้
 
หน้าปก "วารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช" ​ฉบับพิเศษเล่มที่ 2 (พิมพ์ครั้งที่​2)

วารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นวารสารประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช​ได้ตีพิมพ์วารสารสุโขทัยธรรมาธิราชขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531​เพื่อเป็นวารสารกลางในการลงพิมพ์บทความทางวิชาการ รายงานการวิจัยทางนิติศาสตร์ รวมไปถึงเฉลยและวิเคราะห์ข้อสอบปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจที่สาขาวิชานำมาออกเป็นปัญหาข้อสอบในภาคที่ผ่านมา รวมไปถึงการวิจารณ์และแนะนำหนังสือกฎหมายที่น่าสนใจ

ปัจจุบัน วารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช แบ่งเป็นวารสารฉบับปกติ และฉบับพิเศษ โดยฉบับปกติตีพิมพ์ปีละ 2 ฉบับ ในเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม ส่วนฉบับพิเศษตีพิมพ์เพียงสองฉบับ โดยฉบับพิเศษแรกตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 ฉบับพิเศษที่สองตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 โดยฉบับพิเศษทั้งสองเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแนะนำการศึกษาวิชากฎหมายในแต่ละชุดวิชาของมหาวิทยาลัย และข้อสอบวิชากฎหมายบางส่วนที่สาขาวิชาเคยนำมาออกเป็นข้อสอบประจำภาค รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อสอบที่น่าสนใจอย่างละเอียด[12]

ความร่วมมือทางวิชาการและบริการสังคม

แก้

ปัจจุบันสาขาวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ก่อตั้งศูนย์กฎหมายและสถาบันให้ความรู้ด้านกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเป็นการให้ความรู้และเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้ในด้านกฎหมายเฉพาะต่าง ๆ แก่สังคมไทย เช่น การจัดตั้งศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (ศกส)[13] โครงการสถาบันศึกษากฎหมายเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น

เกียรติประวัติ

แก้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. 2527 และทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2531 (รุ่นที่ 2) จึงนับว่าเป็นมงคลและเกียรติประวัติยิ่งแก่สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอย่างหาที่สุดมิได้[14]

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การจัดตั้งสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เล่ม ๙๗, ตอน ๔๐, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓, ฉบับพิเศษ หน้า ๕
  2. "รายชื่อสถาบันการศึกษาที่เนติบัณฑิตยสภารับรองในปัจจุบัน. จากเว็บไซต์เนติบัณฑิตยสภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-17. สืบค้นเมื่อ 2007-07-03.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา​พ.ศ. ๒๕๐๗, เล่ม ๘๑, ตอน ๓๕ก, ๒๑​เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓, หน้า ๒๔๒
  4. การสมัครสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา. [ออน-ไลน์]. (2552). [ออน-ไลน์]. /แหล่งข้อมูล [1]
  5. ข้อมูลสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  6. นายสมศักดิ์ จุนถาวร เป็นผู้ออกแบบตราประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  7. [2]เก็บถาวร 2007-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  8. โครงสร้างหลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๓[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๗, ตอน ๘๗ ก, ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓, หน้า ๑
  10. [3]เก็บถาวร 2008-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงสร้างหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  11. กิตติพงศ์ หังสพฤกษ์.ผศ.ดร..วารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช:วิธีศึกษาวิชากฎหมายและวิธีตอบปัญหาข้อสอบ.นนทบุรี:สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2547
  12. "ข้อมูลวารสารกฎหมายสุโขทัยธรรมาธิราช. จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-26. สืบค้นเมื่อ 2008-05-07.
  13. "เว็บไซต์หลัก โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สาขาวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-07. สืบค้นเมื่อ 2008-05-05.
  14. พระราชภารกิจด้านการศึกษา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้