สวนเสรีไทย
สวนเสรีไทย หรือชื่อเดิมว่า สวนน้ำบึงกุ่ม เป็นสวนสาธารณะระดับย่าน ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านสหกรณ์ ซอยเสรีไทย 57 ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 350 ไร่ มีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง ได้แก่
- อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ภายในมีพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์, ห้องสมุดประชาชน, ห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน และพิพิธภัณฑ์บึงกุ่ม
- สวนน้ำ เป็นเอกลักษณ์ของสวนเสรีไทย ประกอบด้วยพรรณไม้ชายน้ำประดับตามขอบบึง, น้ำตก และม่านน้ำพุกลางสระ
- เกาะกลางน้ำ บริเวณกลางบึงสร้างเป็นเกาะธรรมชาติ มีศาลาพักผ่อน ปลูกสวนปาล์มพันธุ์ต่างๆ กว่า 10 ชนิด ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดจะเป็นพันธุ์ที่หายากและเพาะยาก เช่น ปาล์มน้ำพุ, ตาลฟ้า ฯลฯ
- สวนป่า มี 3 สวนคือ "สวนป่าทวีสุข" "สวนป่าร่มไทร" และ "สวนป่าเจริญกาญจน์" ปลูกต้นไม้ใหญ่ที่เป็นไม้ยืนต้น เช่น ต้นไทร, หางนกยูง, ขี้เหล็ก กระทิง ฯลฯ
- ลานไม้ดอกหอม ไม้ดอกที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้ไทย เช่น พิกุล, โมก ฯลฯ
- สวนไม้ผล มีต้นส้มโอ, กระท้อน, น้อยหน่า, ขนุน ฯลฯ[1]
สวนเสรีไทย | |
---|---|
ประเภท | สวนสาธารณะระดับย่าน |
ที่ตั้ง | ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°47′14″N 100°40′26″E / 13.787091°N 100.673765°E |
พื้นที่ | 350 ไร่ |
ผู้ดำเนินการ | กรุงเทพมหานคร |
สถานะ | 05.00 - 20.00 น. ทุกวัน |
ประวัติ
แก้เดิม “ บึงกุ่ม” หรือ “ บึงตาทอง” เป็นบึงสาธารณะเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่ถูกรุกล้ำจนมีสภาพตื้นเขิน ในปี พ.ศ. 2528 เริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนาบึงกุ่มตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ (โครงการแก้มลิง) ให้เป็นบึงรับน้ำจนสามารถรองรับน้ำได้ถึง 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ และระบายสู่คลองบึงกุ่ม ต่อเนื่องสู่คลองแสนแสบต่อไป[2] ต่อมาได้มีการพัฒนาขยายพื้นที่ สร้างเป็นสวนสาธารณะ และสวนป่าตามโครงการสวนป่า กทม. เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539) ในชื่อว่า "สวนน้ำบึงกุ่ม"
ในปี พ.ศ. 2538 สมาชิกขบวนการเสรีไทย ได้ขอสถานที่ส่วนหนึ่งของสวนน้ำบึงกุ่มจัดเป็น “ลานเสรีไทย” และมีพิธีเปิดลานเสรีไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2538 ต่อมาคุณดุษฎี พนมยงค์ ซึ่งเป็นทายาทของหัวหน้าขบวนการเสรีไทย พร้อมคณะ ได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อ สวนน้ำบึงกุ่มเป็น “สวนเสรีไทย” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ขบวนการเสรีไทย และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งตรง กับวันครบรอบ 52 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2[3]
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542 กรุงเทพมหานครร่วมกับคณะกรรมการโครงการฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้ร่วมจัดงาน "วันสันติภาพไทย" เพื่อเป็นการรำลึกถึงการประกาศสันติภาพไทยในวาระครบรอบ 54 ปี และเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่ขบวนการเสรีไทยที่ได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงมีการก่อสร้าง "อาคารเสรีไทยอนุสรณ์" โดยจำลองแบบมาจาก "ทำเนียบท่าช้าง" หรือบ้านเลขที่ 19 ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทำเนียบท่าช้างจึงเป็นเสมือนกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2[4] มีพิธีเปิด "อาคารเสรีไทยอนุสรณ์" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546
รูปภาพ
แก้ภาพถ่ายภายในพื้นที่รอบสวนเสรีไทย
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-09. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
- ↑ http://www.yourhealthyguide.com/parks/park-serithai.htm
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-25. สืบค้นเมื่อ 2009-08-25.
- ↑ http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=31&s_id=2&d_id=2
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สวนเสรีไทย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์