น้อยหน่า

สปีชีส์ของพืช
น้อยหน่า
ผลน้อยหน่าเมื่อผ่าขวาง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช
หมวด: พืชดอก
ชั้น: พืชใบเลี้ยงคู่
อันดับ: จำปา
วงศ์: กระดังงา
สกุล: Annona
สปีชีส์: A.  squamosa
ชื่อทวินาม
Annona squamosa
L.

น้อยหน่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Annona squamosa Linn.) ชื่ออื่น ๆ เช่น บักเขียบ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ลาหนัง, لانوڠ (ปัตตานี), บะน้อแน่ บะแน่ (ภาคเหนือ), หน่อเกล๊ะแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ตีบ (เขมรสุรินทร์), ទៀប, เตียบ (เขมรกัมพูชา) เป็นต้น[1] เป็นพืชยืนต้น ผลมีเนื้อสีขาว เมล็ดดำ รสหวาน ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกากลาง และใต้ แต่จะพบได้ทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แก้

น้อยหน่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3–5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 3–6 เซนติเมตร ยาว 7–13 เซนติเมตร ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ ห้อยลง กลีบดอกสีเหลืองแกมสีเขียวเขียว 6 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ หนาอวบน้ำ มีเกสรตัวผู้และรังไข่จำนวนมาก ผลเป็นผลกลุ่ม ค่อนข้างกลม เมล็ดสีดำ มีจำนวนมาก[2]

สรรพคุณ

แก้
  • ใบสดและเมล็ดน้อยหน่าสามารถใช้ฆ่าเหา, โรคกลาก, เกลื้อน โดยเอาใบน้อยหน่าสดมาคั้นเอาแต่น้ำ แล้วพอกหัว ภายใน 7 วัน กลาก เกลื้อน และเหาก็จะหาย ซึ่งมีวิธีรักษาเหาอยู่ 2 วิธีคือ
    • นำใบน้อยหน่าประมาณ 3–4 ใบ มาบดหรือตำให้ละเอียดแล้วคลุกกับสุราขาว เคล้าให้เข้ากันจนได้กลิ่นน้อยหน่า แล้วนำมาทาหัวให้ทั่ว เอาผ้าคลุมไว้สัก 10–30 นาทีแล้วเอาผ้าออก ใช้หวีสาง เหาก็จะตกลงมาทันที
    • นำใบน้อยหน่า 7–8 ใบ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำทาหัวทิ้งไว้สักครู่ แล้วล้างออก ซึ่งจะช่วยทำให้ไข่ฝ่อ และฆ่าเหา นอกจากนั้น ใบยังใช้ ขับพยาธิลำไส้ แก้หิด แก้กลากเกลื้อน และแก้ฟกบวมได้
  • ราก เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน และแก้พิษงู ถอนพิษเบื่อเมา
  • เปลือกลำต้นเป็นยาสมานลำไส้ สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้พิษงู แก้รำมะนาด เป็นยาฝาดสมาน
  • ผลดิบ เป็นยาแก้พิษงู แก้ฝีในคอ กลาก เกลื้อน ฆ่าพยาธิ โรคผิวหนัง และผลแห้ง แก้งูสวัด เริม แก้ฝีในหู[3]
  • ใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืช ในใบน้อยหน่ามีสารแอลคาลอยด์ แอนโนเนอีน (anonaine) และเรซิน (resin) ในเมล็ดมีน้ำมันอยู่ร้อยละ 45 ซึ่งเป็นพิษกับด้วงปีกแข็ง เพลี้ยอ่อนแมลงวัน และมวนปีกแข็ง สารสกัดเมทานอลของใบน้อยหน่าเป็นพิษต่อไรทะเล และใบน้อยหน่ายังเป็นพิษต่อเพลี้ยอ่อนถั่วโดยมี LC50 2,089.30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร[4]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "น้อยหน่า กับสรรพคุณที่คาดไม่ถึง". Matichon Academy.
  2. น้อยหน่า ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  3. "น้อยหน่า". ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2022.
  4. สุดารัตน์ หอมหวล, ยุวดี ชูประภาวรรณ และวิรัตน์ จันทร์ตรี. 2554. ฤทธิ์ฆ่าแมลงของพืชต่อเพลี้ยอ่อนถั่ว เก็บถาวร 2022-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ปีที่ 13 ฉบับที่ 4 ตุลาคม–ธันวาคม. หน้า 22–29. ISSN 1685-7941.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้