สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ เป็นสระน้ำตั้งอยู่ในตำบลสระแก้ว จังหวัดสุพรรณบุรี โดยห่างจากอำเภอเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 18 กิโลเมตร[1]

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่
แผนที่
ที่ตั้งริมถนนทางหลวงหมายเลข 322 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทสระ, โบราณสถาน
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนสระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกตุ
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในจังหวัดสุพรรณบุรี
เลขอ้างอิง0004888
กำหนดพื้นที่22 กันยายน พ.ศ. 2558

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ประกอบไปด้วยสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 4 สระ ได้แก่ สระแก้ว, สระเกษ, สระคา, และสระยมนา โดยสระแก้วอยู่เหนือสุด ถัดลงมาเป็นสระคา ส่วนสระยมนาอยู่ทางทิศตะวันตกของสระคา และด้านล่างทิศใต้เป็นสระเกษโดยมีขนาดใหญ่ที่สุด[1]: 3 

น้ำภายในสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ถูกนำไปใช้ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ โดยครั้งล่าสุดได้นำน้ำจากสระไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]: 208, 210 

ลักษณะทางกายภาพ

แก้

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ประกอบไปด้วยสระน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 4 สระ ได้แก่ สระแก้ว สระเกษ เป็นสระที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สระคา และสระยมนา นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังพบสระขนาดเล็ก 2 สระ ตั้งอยู่ระหว่างสระยมนา และสระเกษ บ้างเรียกว่า สระอมฤต 1 และสระอมฤต 2 โดยปรากฏตำแหน่งของสระอยู่ในแผนผังของกรมศิลปากรมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502 แต่กลับไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสระน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ในระยะหลัง และมิได้มีความสัมพันธ์กับสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่[1]: 3 

บริเวณใกล้กับสระเกษ มีคันดินอยู่หนึ่งแนว กล่าวกันว่าแนวคันดินดังกล่าวทอดตัวยาวไปทางทิศใต้จนถึงเมืองเก่า แต่ปัจจุบันถูกไถรื้อปรับพื้นที่จนเกือบสิ้นสภาพแล้ว ด้านบนของคันดินมีเจดีย์ที่สร้างใหม่เมื่อประมาณ 50 ปี อย่างไรก็ตาม ผลจากการขุดแต่งทางโบราณคดีของกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่าด้านล่างของเจดีย์มีฐานโบราณสถาน ก่อด้วยอิฐ ลักษณะคล้ายฐานของมณฑป แต่ไม่สามารถศึกษารูปแบบที่สมบูรณ์ได้ เนื่องจากพบหลักฐานหลงเหลืออยู่ค่อนข้างน้อย[1]: 6 

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และมีการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558 มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 55 ไร่ 30 ตารางวา

รายละเอียดสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่
สระเกษ สระแก้ว สระยมนา สระคา
       
       
กว้าง: 76 เมตร 75 เมตร 50 เมตร 48 เมตร
ยาว: 144 เมตร 102 เมตร 75 เมตร 67 เมตร

ประวัติ

แก้

ตำนาน

แก้

นิทานเชิงตำนานนี้ได้เล่าถึงสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ว่า ครั้งหนึ่งมีเจ้าเมืองผู้ครองนครองค์หนึ่ง มีธิดา 4 องค์ ชื่อ แก้ว คา ยมนา และเกศ พระธิดาสามองค์แรกมีสวามีเป็นคนธรรมดา แต่ธิดาองค์สุดท้องมีสวามีเป็นลิงเผือก ต่อมา เมื่อเจ้าเมืองรู้ว่าตนเองชราภาพลงมาก จึงคิดจะยกเมืองให้กับลูกเขยครองแทน โดยตั้งกติกาว่า ให้พระธิดาช่วยกันขุดสระให้เสร็จภายใน 7 วัน ผู้ใดขุดสระได้ใหญ่ที่สุด ก็จะให้สวามีของธิดาองค์นั้นเป็นเจ้าเมืองแทน

ธิดาและสวามี 3 คู่แรก ต่างช่วยกันขุดสระ ยกเว้นธิดาองค์สุดท้องที่ต้องขุดเพียงคนเดียว และก็ยังถูกพวกพี่กลั่นแกล้ง โดยนำดินมาถมใส่ จนกระทั่งในคืนสุดท้าย ธิดาเกตจึงอ้อนวอนให้ลิงเผือกช่วยเหลือ พญาลิงจึงพาพลพรรคลิงมาช่วยขุด จนได้สระใหญ่กว่าสระ ของธิดาผู้พี่ทั้งสาม และยังทำเป็นเกาะกลางน้ำปลูกต้นเกตเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้ด้วย พอรุ่งเช้า เจ้าเมืองเกิดสวรรคตไปก่อน บรรดาเสนาอำมาตย์พิจารณากันแล้วเห็นว่า สระของเกตกับลิงเผือกใหญ่กว่าของคู่อื่น จึงมีมติมอบราชสมบัติให้ครอบครองแทน

ธิดาองค์พี่ทั้งสามและสวามีไม่พอใจ จึงขโมยพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์หนีไป พญาลิงเผือก ออกติดตามไปทันกันที่สระเกต พวกพี่จึงขว้างพระขรรค์ลงสระ บังเอิญถูกต้นเกตขาดสะบั้น ล้มลง และพระขรรค์ก็จมสูญหายไปด้วย ตั้งแต่นั้นมาสระดังกล่าวจึงกลายเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมีพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในสระแห่งนี้

ตำนานดังกล่าว คงเป็นการแต่งขึ้นโดยชนรุ่นหลัง เพื่อเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ ซึ่งเรื่องเล่าประเภทนี้ถือเป็นขนบอย่างหนึ่งที่มักพบอยู่เสมอในสังคมไทยครั้งอดีต[1]: 8 [3]

การใช้งาน

แก้
...ด้วย ณ วันเดือนแรมห้าปีมะเส็ง สัพศก กำหนดพระราชพิธีก[ต]รุษ ขุนคงคาออกไปตักน้ำสระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ข้าพเจ้าได้แต่งให้หมื่นรองแขวง กรมการกำกับขุนคงคาออกไปตักน้ำสระ [...] กับหญ้าคามัดนั่งเข้ามา ณ ศาลากลางข้าพเจ้ากรมการได้เอาผ้าขาวกรองน้ำใส่หม้อใหม่กระละหม้อมีตราประจำครั่ง ข้างสี่หมอกับหญ้าคามัดมอบให้ขนคงศาเจ้าพนักงานคุมหม้อนำเข้ามาสั่ง ณ กรุงเทพฯ

— ใบบอกเมืองสุพรรณบุรี จ.ศ. 1207

วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ [...] เวลา ๑๐.๒๐ น. พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) ลั่นฆ้องชัย พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัดไรทัย) สมุหราชมณเฑียร ไขสหัสธาราโปรยน้ำพระมูรธาภิเษก ซึ่งประกอบด้วยน้ำปัญจมหานที่ในมัธยมประเทศ คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหิ น้ำเบญจสุทธองคาจากแม่น้ำสำคัญ ทั้ง ๕ สาย [...] และน้ำจากสระ ๔ สระ คือ สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา แขวงจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเคยแต่งเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าเป็นราชประเพณีสืบมาแต่โบราณกาล...

— หนังสือประมวลพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2489–2510

น้ำภายในสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ค้นพบหลักฐานว่าถูกนำไปใช้ในพระราชพิธีของราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการบันทึกการใช้น้ำในสมัยรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2388 ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีใบบอกเมืองสุพรรณบุรี จ.ศ. 1207 โดยเป็นการแจ้งให้นำน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่เพื่อไปใช้ในพระราชพิธีตรุษ

ในปี พ.ศ. 2398 ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือสมุดไทยดำ หมวดจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 จ.ศ. 1217 แจ้งกรมการเมืองสุพรรณบุรี ให้ตักน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ เพื่อไปทำพระราชพิธีสารท ในปี พ.ศ. 2409 ทรงพระมีพระบรมราชโองการสั่งให้พระยาสุพรรณ และกรมการเมืองส่งน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ไปกรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นน้ำสรง น้ำเสวย

ในปี พ.ศ. 2403 ทรงมีพระราชประสงค์นำน้ำเข้ากรุงเทพมหานครสำหรับใช้ในพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีสารททุกครั้ง เอกสารบางฉบับแสดงให้เห็นถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างมากกับน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2407 มีสารตราถึงเมืองสุพรรณบุรี ให้หาเครื่องบวงสรวง แล้วตักน้ำส่งกรุงเทพมหานคร, ในปี พ.ศ. 2410 มีสารตราจากเจ้าพระยาจักรีถึงพระยาสุพรรณบุรี แจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมโหรและกรมช้าง ไปตักน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่เพื่อเป็นน้ำพระราชพิธี

...เสด็จสู่มณฑปพระกระยาสนานสถิตย์เหนืออุทุมพรราชอาสนี้ แปรพระพักตร์ สู่สิริมงคลทิศอาคเนย์ [...] พระยาราชโกษาไขสหัสธารา น้ำนทีทั้งห้า คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครไชยศรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชร และแม่น้ำเชิงเทรา) ซึ่งเจือด้วยน้ำเบญจมหานที่ในมัชฌิมประเทศ คือแม่น้ำคงคา ยมนา นที สรภู และอจิรวดี และน้ำ ๔ สระ (คือ สระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี) สรงมุรธาภิเษก...

— จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
น้ำศักดิ์สิทธิ์จะถูกบรรจุลงในคนโทน้ำในพิธีเชิญคนโทน้ำไปอภิเษกที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

สำหรับขั้นตอนในการพลีกรรมตักน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นั้นปรากฏหลักฐานในหนังสือสมุดไทยดำ หมวดจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 จ.ศ. 1226 เลขที่ 61 มีรายละเอียดขั้นตอนเอาไว้ว่า เมื่อจะกระทำพิธีตักน้ำ ได้ให้หมอยอดสี่กรมช้าง และขุนพิไชยฤกษ์โหร เชิญท้องตราออกมายังพระยาสุพัน และกรมการ โดยให้จัดการปลูกศาลที่สระ สระละศาล และจัดบายศรี 4 สำรับ, ศีรษะสุกร 4 ศีรษะ, เครื่องกระยาบวช, และให้จัดผ้าขาว เพื่อให้โหรนุ่งห่ม จากนั้นเมื่อถึงวันที่กำหนด ให้พระยาสุพันและกรมการพร้อมกับหมอยอด และขุนพิไชยฤกษ์ออกไปที่สระเพื่อตั้งการบวงสรวง เมื่อโหรบอกฤกษ์แล้วให้ยิงปืนเป็นสัญญาณ จึงตักน้ำจากสระทั้งสี่ที่ใสสะอาดดี ใช้ผ้าขาวกรองอย่าให้มีผง นำน้ำใส่ในกระถาง เอาผ้าขาวปิดปากกระถางแล้วเอาเชือกผูก ประทับตราให้มั่นคง และมอบให้หมอยอดกับขุนพิไชยฤกษ์ นำเข้าไปยังกรุงเทพมหานครโดยเร็ว

ต่อมา ปรากฏหลักฐานการนำน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ไปใช้ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ 3 รัชกาล: ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏความในจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปรากฏความในหนังสือประมวลพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2489–2510

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 มีพิธีพลีกรรมตักน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในพิธีพลีกรรมตักน้ำ โดยเริ่มพิธีตักน้ำบรรจุในขันน้ำสาคร โดยเริ่มจากสระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษตามลำดับ ต่อมา ตั้งขบวนนำขันน้ำสาครทั้งแปดใบ เดินทางไปยังพระวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เพื่อทำพิธีทำน้ำอภิเษก[4][5]

การศึกษา

แก้

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ของเมืองสุพรรณบุรี ในครั้งนั้นทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับสระศักดิ์สิทธิ์ โดยทรงกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ ความว่า

"ที่สระนั้นมีสัญฐานต่าง ๆ อยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ ตรงทางที่ขึ้นไปถึงสระคา ก่อนสระยมนาอยู่ข้างเหนือ สระแก้วอยู่ตวันตกเกือบจะตรงกับสระคา สระเกษอยู่ ข้างใต้แนวเดียวกับสระแก้ว แลเห็นปรากฏว่าเป็นสระที่ขุด มีเจดีย์ซึ่งว่ามีพระรูปหนึ่ง [...] ไปก่อเสริมฐานของเก่า ที่สระคาแห่งหนึ่ง สระยมนาแห่งหนึ่ง ที่สระแก้วเป็นศาลเจ้า ที่ซึ่งสำหรับบวงสรวงก่อนตักน้ำสรง แต่ที่สระเกษนั้นมีคันดินสูงยาวไปมาก ที่บนนั้นมีรากก่อพื้นดินสูงจะเป็นเจดีย์ถามณฑป ซึ่งถูกแก้แต่ไม่สำเร็จ"

ทรงมีพระราชาธิบายถึงสภาพของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ ความว่า

ราษฎรในเมืองนี้มีความเกรงกลัวเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ปลาในสระก็ไม่กิน มีหญ้าขึ้นรกเต็มอยู่ในสระ มีจร[ะ]เข้ทั้งสีสระได้ทราบมาแต่แรกที่ทูลกระหม่อมรับสั่งว่า น้ำท่วม ถึงแต่เวลานี้เป็นเวลาน้ำมาก พอปริ่ม ๆ ไม่ท่วม เห็นจะเป็นบางปีจึงจะท่วม แต่น้ำล้นขอบสระ ทางที่เดินต้องพูนขึ้นหน่อยหนึ่งแต่กระนั้นก็ชื้น ๆ น่าจะท่วมได้จริง น้ำสระคา สระยมนา ไม่สะอาดมีสีแดง แต่น้ำสระแก้ว สระเกษใสสะอาด

ทรงสันนิษฐานว่าสระเป็นส่วนหนึ่งของเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ดังความว่า

"สระที่ขุดไว้เหล่านี้เป็นสระ สำหรับพราหมณ์ลงชุบน้ำ ให้ผ้าเปียกเสียก่อนที่จะเข้าไปมัสการตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ จึงจะได้เป็นสระที่ศักดิ์สิทธิ์ [...] ที่นี่น่าจะเป็นเทวสถานถาวัดพราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งมาแต่สุพรรณเก่า จึงได้ใช้น้ำนี้เป็นน้ำอภิเษกสืบมาแต่โบราณ ก่อนพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศแถบนี้"

นอกจากนี้ ยังทรงกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ที่เคยใช้น้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ไปประกอบพิธีอภิเษก ความว่า

"มีเรื่องที่เกี่ยวถึงหลายเรื่อง เช่นพร[ะ]เจ้าประทุมสุริ[ย]วงษ์ เป็นเจ้าที่เกิดในดอกบัว ฤามาแต่ประเทศอินเดีย อันเป็นเจ้าแผ่นดินที่ ๑ ฤาที่ ๒ [...] เจ้าของพร[ะ]นครวัด ก่อนพุทธศาสนากาลจะราชาภิเศกต้องให้มาตักน้ำ [...] พร[ะ]เจ้าสินธพอมรินทร์ พร[ะ]ยาแท[ก]รกราชาภิเศก กรุงละโว้ ประมาณ ๑๔๐๐ ปีกว่าใช้น้ำสี่สระนี้ราชาภิเศก พรเจ้าอรุณมหาราชกรุงศุโขทัยจะทำการราชาภิเศกก็ต้องลงมาตีเมือง [...] แล้วจึงตักน้ำไปราชาภิเศก"

และทรงมีพระราชาธิบายปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า "น้ำซึ่งใช้ในสหัสธารานั้นใช้น้ำสี่สระคือ น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา รวมกันน้ำสี่สระนี้ เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัยมีลัทธิถือกันว่าน้ำสี่สระนี้ ถ้าผู้ใดเอาไปกินอาบเป็นเสนียดจัญไรมักให้เปื่อยพัง และมีอันตรายต่าง ๆ ที่ว่านี้ตามคำกล่าวไว้แต่โบราณผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดอ่านทดลอง ได้ทราบคำเล่าบอกว่ามีผู้ที่ฟุ้ง ๆ วุ่นวายได้ทดลองก็บังเกิดอันตรายต่างๆ เพราะผู้นั้นมีจิตใจไม่สู้สุจริตอยู่แล้ว"

...พระยาสุนทรสงครามรามพิไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้หมื่นรอง สัสดีกรมการกำกับขุนคงคาผู้รักษาสระน้ำ ออกไปตักน้ำจากสระทั้งสี่ โดยนำผ้าขาวกรองน้ำใส่หม้อใหม่สระละหม้อ แล้วนำผ้าขาวปิดปากประทับตราช่อดอกไม้ประจำครั่ง ตามพระราชประสงค์ที่สั่งการมา...

— ใบบอก ลงวันที่ 18 กันยายน ร.ศ. 108

พื้นที่บริเวณสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ สันนิษฐานว่ามีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลรักษาสระมาตั้งแต่แรก เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าเมืองอื่นมาลักลอบตักน้ำไปใช้ แต่ก็ไม่ปรากฏรายชื่อผู้รักษาสระอย่างชัดเจน

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 3–4 เริ่มพบเอกสารจดหมายเหตุกล่าวถึงตำแหน่ง "ขุนคงคา" โดยเป็นผู้ดูแลรักษาสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นี้ โดยมีเลกในสังกัดจำนวนหนึ่งในเขตชุมชนโดยรอบ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาสระเหล่านี้ ขุนคงคา ตำแหน่งนี้ยังคงมีสืบต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพบการกล่าวถึงขุนคงคาในใบบอก ลงวันที่ 18 กันยายน ร.ศ. 108 สำหรับตำแหน่งขุนคงคานี้ มีการรับราชการติดต่อกันเรื่อยมา จนกระทั่ง ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้ยุบตำแหน่งดังกล่าวลง

อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2395 ครั้งสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการร้องเรียนว่า มีสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง, ม้า, วัว, และควาย เข้าไปลุยน้ำในสระจนขุ่นไม่ใสสะอาด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนคงคาขุดลอกสระ และจัดทำเขื่อนไม้กันรอบสระ และในปีต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเทพารักษ์รวมถึงสร้างพระปรางค์ที่สระทั้งสี่ แต่การดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2397 ก็ยังมีหนังสือ สั่งการเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

สภาพของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ คงสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากถูกปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานาน โดยเมื่อปี พ.ศ. 2509 ตรี อมาตยกุล เขียนถึงสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ไว้ในบทความเรื่อง สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ดังความว่า[6]

สระทั้งสี่นี้ แต่เดิมเล่ากันมาว่าอยู่ในป่า มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมร่มรื่น และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด แต่ในปัจจุบันชาวบ้านได้หักร้างถางพงทำเป็นไร่เป็นนากันเสียหมดแล้ว [...] น้ำในสระซึ่งปรากฏว่าไม่เคยแห้งเลยนั้น บัดนี้ใช้การไม่ได้แล้ว เพราะหน้าแล้งคงมีแต่โคลนตม และเต็มไปด้วยต้นไม้น้ำ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ตายไปกองทับถมซับซ้อนกันอยู่ในสระทำให้ตื้นเขินขึ้นทุกที ถ้าปล่อยไว้ [...] อนุชนรุ่นหลังคงไม่มีโอกาสได้ทราบว่า ครั้งหนึ่งเคยมีสระน้ำอันใหญ่โตสี่สระ อยู่ในบริเวณนี้เป็นแน่

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2549 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ดำเนินการปรับปรุงโดยทำการขุดลองสระใหม่ รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยได้มีการมอบอำนาจให้เทศบาลตำบลท่าเสด็จเป็นผู้ดูแลรักษาบริเวณรอบพื้นที่สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่[1]: 29 

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี. สระศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสี่ แห่งเมืองสุพรรณบุรี. มปป.
  2. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น. น้ำอภิเษก. 2562.
  3. พีพีทีวี. เปิดตำนาน 4 สระศักดิ์สิทธิ์ในสุพรรณบุรี. 2562.
  4. ไทยรัฐ. พิธีพลีกรรมตักน้ำ "สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่" สุพรรณบุรี พักในวิหารหลวงพ่อโต. 2562.
  5. ประชาชาติ. น้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก จาก 108 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย สู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10. 2562.
  6. ตรี อมาตยกุล. จังหวัดสุพรรณบุรี. "สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ." จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏธรรมธาดา ต.จ., 2497.