สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม
สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 (ฝรั่งเศส: Léopold Louis Philippe Marie Victor, ดัตช์: Leopold Lodewijk Filips Maria Victor, 9 เมษายน ค.ศ. 1835 - 17 ธันวาคม ค.ศ. 1909) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเบลเยียม พระราชสมภพที่กรุงบรัสเซลส์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง (แต่มีพระชนมายุมากที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพ) ของพระเจ้าเลออปอลที่ 1 และสมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารี พระองค์สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1865 และเป็นพระมหากษัตริย์กระทั่งสวรรคต
สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมฉายาลักษณ์ ค.ศ. 1889 | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม | |||||
ครองราชย์ | 17 ธันวาคม ค.ศ. 1865 – 17 ธันวาคม ค.ศ. 1909 (44 ปี 0 วัน) | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 1 | ||||
พระมหากษัตริย์แห่งเสรีรัฐคองโก | |||||
ครองราชย์ | 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1885 – 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 | ||||
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง | ||||
ถัดไป | ล้มเลิกตำแหน่ง (คองโกเป็นอาณานิคมเบลเยียม) | ||||
พระราชสมภพ | 9 เมษายน ค.ศ. 1835 บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม | ||||
สวรรคต | 17 ธันวาคม ค.ศ. 1909(74 พรรษา) ลาเคิน ประเทศเบลเยียม | ||||
คู่อภิเษก | มารี เฮนรีทเทอแห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม | ||||
พระราชบุตร | เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเบลเยียม (ประสูติ ค.ศ. 1858) เจ้าชายเลโอโปลด์ ดยุกแห่งบราบันต์ เจ้าหญิงสเตฟานีแห่งเบลเยียม เจ้าหญิงคลิเมนไทน์แห่งเบลเยียม | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม | ||||
พระราชมารดา | หลุยส์-มารีแห่งออร์เลอ็อง | ||||
ลายพระปรมาภิไธย |
สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 ทรงเป็นที่จดจำกันมากที่สุดในฐานะผู้ก่อตั้งและเจ้าของเพียงพระองค์เดียวของรัฐอิสระคองโก ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่ดำเนินการในนามของพระองค์ พระองค์ทรงใช้เฮนรี่ มอร์ตัน สแตนเลย์ช่วยพระองค์อ้างสิทธิ์เหนือคองโก พื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเบอร์ลินผูกมัดให้รัฐดังกล่าวพัฒนาชีวิตของประชากร อย่างไรก็ดี นับแต่ต้น สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 ได้ทรงเพิกเฉยต่อเงื่อนไขเหล่านี้และปกครองคองโกอย่างโหดร้าย ทรงใช้กำลังทหารรับจ้าง เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ พระองค์นำเอาความมั่งคั่งออกจากคองโก เริ่มจากการรวบรวมงาช้าง และหลังจากราคายางขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1890 ก็ทรงบีบบังคับให้ประชากรเก็บน้ำยางจากต้นยาง การปกครองอย่างโหดร้ายของพระองค์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตหลายล้านคน คองโกได้กลายมาเป็นหนึ่งในกรณีอื้อฉาวระหว่างประเทศที่เสื่อมเสียที่สุดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 ท้ายที่สุดทรงถูกบีบให้ยกเลิกและโอนการควบคุมรัฐดังกล่าวให้แก่รัฐบาลเบลเยียม
พระราชประวัติ
แก้ปฐมวัย
แก้สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 เสด็จพระราชสมภพ ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1835 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองของพระเจ้าเลออปอลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งเบลเยียม กับพระอัครมเหสี สมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารี พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาพระองค์ใหญ่ของพระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในปีค.ศ. 1834 จึงทำให้พระองค์กลายเป็นองค์รัชทายาท พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งบราบันต์" ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานให้แก่มกุฎราชกุมารเท่านั้น
เจริญพระชันษา
แก้พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านการเมืองของประเทศ โดยเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1855 เมื่อทรงเป็นสมาชิกวุฒิสภา และในปีเดียวกันนั้นทรงผลักดันให้รัฐบาลเริ่มหาอาณานิคมเป็นของตน ในปี ค.ศ. 1853 ทรงอภิเษกกับมารี เฮนรีทเทอเแห่งออสเตรีย พระธิดาของอาร์ชดยุกโจเซฟแห่งออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1853 มีพระราชโอรสและธิดารวมทั้งสิ้นสี่พระองค์ เป็นพระราชธิดาทั้งหมดสามพระองค์ และพระราชโอรสพระองค์เดียว คือ เจ้าชายเลโอโปลด์ ดยุกแห่งบราบันต์ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาเพียง 9 ปี
ขึ้นครองราชย์
แก้ในปี ค.ศ. 1865 ทรงเสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายด้าน รัฐบาลพรรคเสรีนิยมนั้นได้ปกครองเบลเยียมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857 ถึง ค.ศ. 1880 โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัย ได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปี ค.ศ. 1879 ซึ่งประกาศให้มีการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในชั้นประถมศึกษา โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งการยกเลิกการสนับสนุนจากรัฐต่อโรงเรียนประถมโรมันคาทอลิกทั้งหมด ต่อมาในปี ค.ศ. 1880 พรรคคาทอลิกได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาและต่อมาได้แก้กฎหมายเพื่อคืนการสนับสนุนจากรัฐให้แก่โรงเรียนคาทอลิกอีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1855 กลุ่มการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้เป็นตัวแปรทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายครั้งตั้งแต่มีการจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับบุรุษขึ้นในปี ค.ศ. 1893 พระองค์ทรงสนับสนุนการพัฒนากองทัพเพื่อป้องกันประเทศอันถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะทรงผลักดันให้มีการผ่านร่างกฎหมายการเกณฑ์ทหารได้จนกระทั่งในคืนสวรรคต
อาณานิคม
แก้พระองค์มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าดินแดนอาณานิคมในต่างทวีปนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศได้ และพระองค์ก็ทรงบากบั่นที่จะหาดินแดนอาณานิคมสำหรับเบลเยียม ในที่สุดพระองค์ก็ได้มาซึ่งอาณานิคมในฐานะพระราชสมบัติส่วนพระองค์ โดยที่รัฐบาลนั้นเป็นผู้ให้ยืมเงินสำหรับการนี้โดยเฉพาะ
ในปี ค.ศ. 1866 พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้เอกอัครข้าราชทูตประจำกรุงมาดริดในขณะนั้น เป็นผู้แทนฯ ร้องขอดินแดนหมู่เกาะฟิลิปปินส์จากสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปน แต่อย่างไรก็ตามเอกอัครข้าราชทูตนั้นก็มิได้ทำตามที่ทรงรับสั่งเนื่องจากเห็นควรว่าเป็นการไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น และต่อมาพระองค์ได้มีรับสั่งให้ย้ายเอกอัครข้าราชทูตนี้โดยให้แทนที่ด้วยคนที่พร้อมที่จะเชื่อฟังพระองค์และสามารถจะทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จลงได้[1]
ต่อมาในปี ค.ศ. 1868 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปนถูกถอดลงจากราชสมบัติ พระองค์จึงได้พยายามฉวยโอกาสนี้ในการครอบครองดินแดนฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน พระองค์จึงทรงเปลี่ยนแผนการโดยทรงพยายามผลักดันให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นรัฐอิสระ และจะได้ถูกยึดครองได้ง่ายโดยเบลเยียม แต่ทว่าแผนการนี้ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระทัยไปยังการครอบครองดินแดนในทวีปแอฟริกาแทน[1]
ภายใต้ความพยายามของพระองค์ ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1876 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส่วนพระองค์ โดยให้เป็นเสมือนองค์กรระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยธรรม ซึ่งได้ตั้งชื่อว่า "สมาคมแอฟริกันนานาชาติ" (Association Internationale Africaine) และในปี ค.ศ. 1878 กิจการในนามของบริษัทได้จ้างนักสำรวจผู้โด่งดัง เฮนรี สแตนลีย์ (Henry Morton Stanley) เพื่อที่จะสำรวจและสร้างอาณานิคมภายในดินแดนของคองโก.[2] ซึ่งด้วยความสามารถในการทูติของพระองค์ ทำให้ผลของการประชุมเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1884-1885 ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องของแอฟริกานั้น ทำให้ทั้งสิบสี่ประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับพระองค์ ในฐานะองค์ประมุขในดินแดนซึ่งพระองค์และเฮนรี สแตนลีย์ได้กล่าวอ้าง ในที่สุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 "รัฐอิสระคองโก" ก็ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้การปกครองส่วนพระองค์ ซึ่งดินแดนแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าเบลเยียมกว่า 76 เท่า ซึ่งพระองค์ได้ทรงควบคุมผ่านกองทัพส่วนพระองค์ ในนามว่า "Force Publique"
ปลดปล่อยคองโก
แก้หลังจากมีเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์จากพรรคสังคมนิยมคาทอลิกและพรรคแรงงาน จึงเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลได้บังคับพระองค์ให้ปลดปล่อยการถือกรรมสิทธิ์ในคองโกโดยโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินในปี ค.ศ. 1908 ทำให้รัฐอิสระคองโกได้กลายเป็นดินแดนอาณานิคมของเบลเยียมในนามว่าเบลเจียนคองโกภายใต้การปกครองของรัฐบาล และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อให้อิสรภาพจนกลายเป็น สาธารณรัฐคองโก, สาธารณรัฐซาอีร์ และในปัจจุบัน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ "DRC"
ลอบปลงพระชนม์
แก้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902 ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตยชาวอิตาเลียน เกนนาโร รูบิโน ได้พยายามลอบปลงพระชนม์พระองค์ในขณะที่ทรงม้าในพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีมารี เฮนรีทเทอพระมเหสีซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคตไม่นาน รูบิโนได้ยิงปืนสามนัดโดยเล็งไปที่พระองค์ขณะที่ขบวนกำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าเขาไป แต่กระสุนทั้งสามนัดนั้นพลาดจึงทำให้เขาถูกจับกุมในทันที
พงศาวลี
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Ocampo, Ambeth (2009). Looking Back. Anvil Publishing. pp. 54–57. ISBN 978-971-27-2336-0.
- ↑ Hochschild, Adam: King Leopold’s Ghost: A Story of Greed, Terror, and Heroism in Colonial Africa, Mariner Books, 1998. p. 62. ISBN 0-330-49233-0.
บรรณานุกรม
แก้- Ascherson, Neal: The King Incorporated, Allen & Unwin, 1963. ISBN 1-86207-290-6 (1999 Granta edition).
- Hochschild, Adam: King Leopold’s Ghost: A Story of Greed, Terror, and Heroism in Colonial Africa, Mariner Books, 1998. ISBN 0-330-49233-0.
- Petringa, Maria: Brazza, A Life for Africa, 2006. ISBN 978-1-4259-1198-0
- Wm. Roger Louis and Jean Stengers: E.D. Morel's History of the Congo Reform Movement, Clarendon Press Oxford, 1968.
- Ó Síocháin, Séamas and Michael O’Sullivan, eds: The Eyes of Another Race: Roger Casement's Congo Report and 1903 Diary. University College Dublin Press, 2004. ISBN 1-900621-99-1.
- Ó Síocháin, Séamas: Roger Casement: Imperialist, Rebel, Revolutionary. Dublin: Lilliput Press, 2008.
- Roes, Aldwin, Towards a History of Mass Violence in the État Indépendant du Congo, 1885-1908, http://eprints.whiterose.ac.uk/74340/2/roesAW2.pdf, South African Historical Journal, 62 (4). pp. 634-670, 2010.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 | พระมหากษัตริย์เบลเยียม (17 ธันวาคม ค.ศ. 1865 – 17 ธันวาคม ค.ศ. 1909) |
สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 1 | ||
สถาปนาสำหรับมกุฎราชกุมาร | ดยุกแห่งบราบันต์ (9 เมษายน ค.ศ. 1840 – 17 ธันวาคม ค.ศ. 1865) |
เจ้าชายเลโอโปลด์ |