สนามแรงบิด (วิทยาศาสตร์เทียม)

สนามแรงบิด (อังกฤษ: Torsion field ชื่อพ้อง: Axion field, Spin field, Spinor field, Microlepton field) เป็นวิทยาศาสตร์เทียม[1]ด้านพลังงาน ซึ่งกล่าวถึงสภาพการหมุนเชิงควอนตัมของอนุภาคสามารถทำให้เกิดการส่งผ่านข้อมูลผ่านห้วงสุญญากาศด้วยความเร็วพันล้านเท่าของแสงโดยไม่ใช้มวลและพลังงาน ทฤษฎีถูกตั้งขึ้นในสหภาพโซเวียตโดยกลุ่มนักฟิสิกส์ใน ค.ศ. 1980 โดยอ้างอิงทฤษฎีไอน์สไตน์-คาตานแบบหลวม ๆ และใช้ผลลัพธ์ดัดแปลงจากสมการของแมกซ์เวลล์[2] อนาโตลี อาคิมอฟ (อังกฤษ: Anatoly Akimov, รัสเซีย: Анатолий Акимов) และเกนนาดี้ ชือปอฟ (อังกฤษ: Gennady Shipov, รัสเซีย: Геннадий Шипов) [3] เป็นหัวหอกนำคณะวิจัยโดยใช้ทุนจากรัฐภายใต้ชื่อองค์กร ศูนย์เทคโนโลยีทางเลือก (Center of Nontraditional Technologies) อย่างไรก็ตาม คณะทำงานดังกล่าวถูกยุบลงใน ค.ศ. 1991 เมื่อศาสตราจารย์อเลกซานดรอฟ (Ye. B Aleksandrov) เปิดโปงคณะทำงานของชือปอฟว่าเป็นงานหลอกลวงต้มตุ๋นขโมยเงินทุนของรัฐ แต่โดยไม่ทราบสาเหตุ อาคิมอฟ และ ชือปอฟ ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยสนามแรงบิดจากรัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ระหว่างช่วง ค.ศ. 1992-1995 และจาก กระทรวงกลาโหมระหว่างช่วง ค.ศ. 1996-1997 และยังมีการได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องมาเป็นการลับ[2]ในฐานะบริษัทเอกชนใช้ชื่อว่า The International Institute for Theoretical and Applied Physics ซึ่งเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น บริษัท ยูวิเตอร์ จำกัด (UVITOR) [4] ในภายหลังบริษัทจดทะเบียนที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ ค.ศ. 2005 โดยมีการให้บริการสินค้าเวชภัณฑ์ในที่ตั้งเดียวกันด้วย[5] ในประเทศไทยงานวิจัยสนามแรงบิดได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงมีการให้ทุนทำวิจัยในมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานให้ทุนวิจัยภาครัฐ[6][7]

สนามแรงบิด (วิทยาศาสตร์เทียม)
คำกล่าวอ้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างโมเมนตัมเชิงมุม (spin-spin interaction) สามารถส่งผ่านระนาบกาลอวกาศด้วยความเร็วสูงกว่าแสง 109 เท่า ผ่านสนามพิเศษ ทำให้ปรากฏการณ์เช่น “การเดินทางเร็วกว่าแสง” “พลังเอสเปอร์” “ธรรมชาติบำบัด” “การเหาะเหินเดินหาว” และเรื่อง ”ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ” ต่าง ๆ เป็นไปได้
สาขาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องฟิสิกส์
ปีที่เสนอ1987
ผู้สนับสนุนริเริ่มA. Akimov, G. Shipov
ผู้สนับสนุนปัจจุบันA. Akimov, G. Shipov, A. A. Shpilman, J. Sarfatti, R. N. Boyd, Richard C. Hoagland
แนวคิดวิทยาศาสตร์เทียม

ณ ปัจจุบัน แม้จะไม่ได้รับการยอมรับในวงวิทยาศาสตร์ แต่ทฤษฎีดังกล่าวก็ได้ถูกใช้กล่าวอ้างอย่างกว้างขวางในเรื่องการเดินทางเร็วกว่าแสง พลังจิต (ESP) ธรรมชาติบำบัด การลอยตัวต้านแรงโน้มถ่วง และปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติมากมาย และถูกใช้เป็นเหตุผลอธิบายเชิงการทำงานของการรักษาด้วยวิธีเหนือธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์วิเศษอื่น ๆ

คำอธิบาย แก้

ในทางฟิสิกส์ สนามเป็นการบ่งชี้ของปริมาณ (เวกเตอร์, การบิด - Tensor หรือ การหมุน - Spinor) ต่อทุกจุดบนอวกาศที่มีมันอยู่ข้างใน คำว่า Torsion ที่แปลว่าการบิด หมายถึงตัวแปรใด ๆ ก็ตามที่แสดงถึงการบิดหมุน ดังนั้น สนามแรงบิดจึงมีอยู่จริง ตัวอย่างเช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีการ Polarized เป็นรอบวง หรือความเครียดจากแรงบิดของวัตถุแข็งภายใต้แรงเครียดบิด (Stress tensor) ก็สามารถแสดงอธิบายออกมาในรูปของสนามแรงบิดได้ แม้ในการใช้งานจริงเราจะไม่ใช้ศัพท์นี้เท่าไร สนามการหมุน โดยเฉพาะใน Fermionic field อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามคอนเซปต์ของฟิสิกส์อนุภาค และทฤษฎีสนามควอนตั้ม เมื่อก้าวล่วงจากส่วนงานวิจัยที่เป็นระเบียบแบบแผนตามข้างต้น ก็มีกลุ่มคนที่นำลักษณะของสนามการหมุนหรือสนามการบิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ไปใช้อ้างว่า Spin-Spin interaction (ที่เป็นปรากฏการณ์เชิงควอนตัมที่มีการศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี) สามารถส่งผ่านห้วงว่างอวกาศคล้ายกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยไม่มีการนำมวล หรือพลังงาน เป็นการส่งผ่านเฉพาะข้อมูลล้วน ๆ และเดินทางด้วยความเร็ว 109 เท่าของความเร็วแสง ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ยังอ้างด้วยว่า Spin-Spin interaction ถูกนำพาด้วยนิวตริโน ซึ่งมีมวลเพียงน้อยนิด มีพลังงานมหาศาล และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสสาร แต่ในขณะเดียวกัน สามารถผลิตขึ้น และตรวจจับได้อย่างง่ายดาย[8]

การใช้งาน แก้

แม้ว่าจะมีการบ่งชี้ข้อขัดแย้งต่อสมมุติฐานของทฤษฎีเหล่านี้ออกมาหลายข้อ[9] (และถึงกับมีถ้อยแถลงต่อทฤษฎีดังกล่าวในระดับว่าเป็นเรื่องไร้สาระ สำหรับวิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน[9]) ทฤษฎีสนามแรงบิดถูกใช้ในฐานะคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ต่อ ธรรมชาติบำบัด เทเลพาธี เทเลไคเนซิส การต้านแรงโน้มถ่วง การหายตัวล่องหน เอสเปอร์ และปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอื่น ๆ [10] การผูกทฤษฎีสนามแรงบิดเข้าไปทำให้สามารถอ้างอะไร ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่การเครื่องอุปกรณ์รักษามหัศจรรย์ เช่นเครื่องรักษาโรคพิษสุรา[11]) จนถึงการทำงานของเครื่องจักรกลนิรันดร์ ประตูสารพัดสถานที่ (Stargates) [12] กลไกการขับเคลื่อนของจานบิน รวมถึง อาวุธมหาประลัย (Weapon of Mass Destruction-WMD) [13] อุปกรณ์บางชิ้น เช่น กล่องวิเศษรักษาสารพัดโรค ได้รับการจดสิทธิบัตร[14] ผลิต และขาย

ทฤษฎีสนามแรงบิด บางครั้งถูกนำเสนอในลักษณะการทดแทนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เช่น ทฤษฎี ไอน์สไตน์-คาร์ตาน, gauge theories of gravitation for the Poincaré and the affine groups ซึ่งหาวิธีเพิ่มการบิดของกาลอวกาศเข้าไปกับสภาพความโค้งของแรงโน้มถ่วง และใช้ในการทำนายผลกระทบทางฟิสิกส์ในหลากหลายระดับ อย่างไรก็ตาม ผลของการทำนายของทฤษฎีทดแทนเหล่านี้ มันจะได้ผลในระดับไม่มีนัยสำคัญ หรือขัดแย้งต่อหลักฐานจากการทดลอง[15] มันอาจต้องบ่งชี้ไว้ว่าความโค้งของกาลอวกาศและการบิดเป็นทฤษฎีทางเลือกที่ใช้อธิบายสนามแรงโน้มถ่วงและอาจสามารถใช้ทดแทนกันได้ ในขณะที่ความพยายามที่จะรวมผลของมันมาใช้ด้วยกันกลับส่งผลกลายเป็นความเบี่ยงเบน[16]

ศ. ดร. รูบาคอฟ (อังกฤษ: Rubakov V.A.) ได้มีข้อบ่งชี้สำหรับทฤษฎีสนามแรงบิด โดยเฉพาะส่วนที่นำเสนอโดย ชือปอฟ ว่า ซือปอฟ นำเสนองานแค่ในระดับกลศาสตร์นิวตันซึ่งได้มีการเรียนการสอนในคาบเรียนฟิสิกส์ระดับโรงเรียนกัน โดยนำเสนอว่าโมเมนตัมนั้นไม่อนุรักษ์ ขัดแย้งกับกฎการอนุรักษ์โมเมนตัม ซึ่งเป็นเรื่องน่าขบขัน เด็กนักเรียน ม. 4 ของรัสเซียสามารถบ่งชี้ข้อผิดพลาดการทดลองของ ชือปอฟ ได้ไม่ยาก เมื่อลงลึกไปในส่วนทฤษฎี งานของ ชือปอฟ มีการสรุปพลาดในระดับสมการ มีการขัดแย้งกันเองหลายส่วนมาก งานเขียนของ ชือปอฟ นั้นไม่มีค่าที่จะถูกรีวิวใน Uspekhi Fizicheskikh Nauk เลย ถ้าไม่ใช่เพราะ ชือปอฟ และพรรคพวก พยายามโฆษณาทฤษฎีของเขาให้สาธารณชนชวนเชื่อ [15]

การใช้เงินทุนวิจัย แก้

ผู้นำเสนอทฤษฎีสนามแรงบิดมีความพยายามเข้าหาเพื่อทำสัญญาโครงการขนาดใหญ่กับรัฐและการทหารหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1987 มีการร้องขอทุนจากกระทรวงกลาโหมของสหภาพโซเวียตเพื่อพัฒนา อุปกรณ์ตรวจจับอาวุธทางยุทธศาสตร์ประสิทธิภาพสูง (มิสไซล์ข้ามทวีป เรือดำน้ำนิวเคลียร์ ยานบิน ฯลฯ) อุปกรณ์ทำลายอาวุธทางยุทธศาสตร์ของศัตรูระยะไกลแบบไร้การสัมผัส; แผงช่องทางสื่อสารป้องกันการดักฟังไปกับวัตถุในอวกาศ บนโลก ใต้พิภพ และใต้น้ำ อุปกรณ์มือถือที่ทำงานบนหลักแรงโน้มถ่วง การใช้ผลสัมพันธ์ทาง จิตวิทยา-กายภาพ และ ชีวภาพ-ยา ในการสร้างผลกระทบต่อทหารและประชากร[2] รัฐบาลโซเวียด ให้เงินทุน 500 ล้านรูเบิ้ลสำหรับงานวิจัยนี้ (ประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐตามอัตราแลกเปลี่ยนใน ค.ศ. 1987) [17]

อีกตัวอย่างหนึ่งของการขอทุนวิจัยเช่นการทดลองใน ค.ศ. 1994 โดยกลุ่มวิจัยอิสระของรัสเซียภายใต้ชื่อ "VENT" (VEnture for Non-traditional Technologies) [9] ซึ่งอ้างว่าสามารถลดความต้านทานไฟฟ้าของทองแดงลงเหลือ 1/80 ของค่าความต้านทานตั้งต้นเมื่อนำมันไปผ่านเครื่องกำเนิดสนามแรงบิด (Torsion Field Generator) กลุ่มดังกล่าวได้ยื่นขอทุนจากรัฐบาลสหภาพรัสเซียเพื่อเปิดโรงงาน และสัญญาว่าจะสามารถประหยัดการใช้พลังงานลงได้จำนวนมาก ตัวอย่างของทองแดงที่ผ่าน และ ไม่ผ่านเครื่องกำเนิดสนามแรงบิดถูกนำไปทดสอบต่างหากภายใต้การสังเกตการณ์ของตัวแทนของ VENT และพบว่า ความต้านทานไฟฟ้าของทั้งสองตัวอย่างนอกจากจะเท่ากันแล้ว [ (2.08+/-0.02) ×10−7 Ωm และ (2.05+/-0.02) ×10−7 Ωm] ค่าความต้านทานของทั้งสองตัวอย่างยังเลวกว่าทองแดงที่ใช้ในอุตสาหกรรมเสียอีกด้วย (1.7×10−8 Ωm) [9]

ใน ค.ศ. 2002 ได้มีการยื่นขอใบอนุญาตขุดเจาะน้ำมันในรัสเซียและอังกฤษโดยใช้เทคโนโลยี microlepton[18]

ในประเทศไทย แก้

ในประเทศไทย สภาวิจัยแห่งชาติ (วช. หรือ NRCT) อนุมัติงบประมาณ 4 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2554 เพื่อสนับสนุนการวิจัย โครงการ การศึกษา ทดสอบ ประเมินผล และ สาธิตความเป็นไปได้ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสนามแรงบิด [19] โดยมี โดยมี ดร. สุธีวัน โล่สุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ[20] โครงการมีขอบเขตการศึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎี และด้านปฏิบัติในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสนามแรงบิดในด้านพลังงาน ระบบการเดินทางขนส่ง และวิวัฒนาการทางการแพทย์ และสาธิตการประยุกต์ด้วยแบบจำลองระดับ ขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง (Bench หรือ Pilot Scale) ซึ่งภายหลังได้ปรับลดขอบเขตการวิจัยโดยได้ตัดประเด็นเรื่องการแพทย์ลงและเน้นไปที่ด้านพลังงาน [20]

โครงการมีการใช้พื้นที่ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดสัมมนาระดมทุน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555 [21] ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยถึงความเกี่ยวพันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อการวิจัยสนามแรงบิด [22] อย่างไรก็ตาม ทางคณะวิทยาศาสตร์จุฬา ก็ได้มีข้อสังเกตถึงความผิดปรกติของงานวิจัยสนามแรงบิดนี้ และได้มีการสืบค้น ส่งจดหมายเวียนภายในองค์กร เพื่อเตือนถึงข้อน่าสงสัย ว่างานวิจัยสนามแรงบิดที่ใช้พื้นที่ของจุฬาเพื่อจัดสัมมนานี้ มีลักษณะน่าสงสัยจะเป็นวิทยาศาสตร์เทียม และหลีกเลี่ยงการเข้าไปข้องเกี่ยว[22]

ประเด็นงานวิจัยสนามแรงบิด ได้รับการติดตามต่อเนื่องในเว็บไซต์พันทิป.คอม ห้องหว้ากอ [22] นำโดย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนนำมาสู่ความสนใจของสื่อกระแสหลัก โดยในรายการ คมชัดลึก ตอน พลังงาน สูญตา...สูญเงิน ? ได้มีการสัมภาษณ์ รศ. พิชัย โตวิวิชญ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาเคมี จุฬาฯ ผู้เป็น ประธานชุดตรวจสอบ งานวิจัยของ วช. และ เลขาธิการมูลนิธิวิทยาศาสตร์ไอน์สไตน์และเทสล่า และมี ข้อบ่งชี้เบื้องต้นว่า ผู้รับทุนวิจัยครั้งนี้ คือ ดร. สุธีฯ [23] และยืนยันความสัมพันธ์ได้ว่า กลุ่มบุคคล ผู้ขอทุน ผู้ตรวจสอบการให้ทุน และผู้ร่วมทำการวิจัย มีความเกี่ยวพันกัน และ อาจ มีความไม่โปร่งใสในการดำเนินการขอทุนในครั้งนี้ [23]

การตอบรับ แก้

Russian Academy of Sciences (RAS) และองค์กรทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ ไม่ได้ให้การยอมรับ ประดิษฐกรรมหรือ ทฤษฎี ที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าว วงวิชาการไม่เห็นราคาที่จะยก อุปกรณ์ หรือ ทฤษฎีต้านแรงโน้มถ่วงของ ชือปอฟ ขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียง สิทธิบัตรของอุปกรณ์ ประดิษฐกรรม ดังกล่าวถูกปฏิเสธ เพราะอุปกรณ์เหล่านั้นขัดแย้งกับกฎทางฟิสิกส์ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว[1] Anti-Pseudoscience Commission ของรัสเซีย นำโดย Prof. Rubakov ยังได้สอบสวน Shipov คณะกรรมการดังกล่าวตัดสินว่าทฤษฎีของ Shipov ผิดพลาดอย่างรุนแรง (ถึงขั้นน่าขบขัน) และตัดออกจากการให้ทุนของรัฐบาลรัสเซีย[24]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Russian TV shows anti-gravitation engine created in defiance of official science". NTV. 2006-04-02. [Rostislav Polishchuk, member of the Russian Academy of Sciences' commission for fighting pseudo-science] I have listened to his report myself. He is disproving Newton's Third Law, which disproves Shipov and that is the end of it. At his great seminar here, [Vitaliy] Ginsburg did a report on torsion fields, on Einsten-Cartan fields, on the real thing. That was real science and it is immediately clear that what you have just mentioned has nothing to do with science. British Broadcasting Corporation 2006, Record Number: 110BEC9C155A5AB8
  2. 2.0 2.1 2.2 Kruglyakov, Edward P. "Pseudoscience. How Does It Threaten Science and the Public? Report at a RAN Presidium meeting of 27 May 2003". Zdraviy Smysl. Saint Petersburg Branch of the Russian Humanist Society.
  3. Gennady Shipov เก็บถาวร 2017-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน homepage
  4. UVITOR เก็บถาวร 2017-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน website
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-26. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-29. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17.
  7. http://www.dailynews.co.th/article/154267/171616
  8. Акимов А.Е.; Шипов Г.И.; Логинов А.В.; Ломоносов М.Н.; Пугач А.Ф. (1996). "Торсионные поля Земли и Вселенной". Земля И Вселенная. 6: 9–17. (in Russian)
    (English title:) Akimov A.E.; Shipov G.I.; Loginov A.V.; Lomonosov M.N.; Pugach A.F. (1996). "Torsion fields of Earth and Universe". Earth and Universe. 6: 9–17.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Бялко, А. В. "Торсионные мифы". Природа. 1998 (9): 93–102. สืบค้นเมื่อ 2008-02-11. (in Russian)
    (English title:) Byalko, A. V. "Torsion Myths". Priroda. 1998 (9): 93–102.
  10. "Quantum Mechanics and Some Surprises of Creation" in CONTACT: The Phoenix Project 5.12 (June 14, 1994) pp. 8-10.
  11. Boyd, R. N. "Reduction of Physiological Effects of Alcohol Abuse By Substitution of a Harmless Alcohol Surrogate Created by Application of a Spin Field". Application to NIH Alcohol Abuse Center.
  12. "Sarfatti, J., Sirag, S.-P. "Star Gate Anholonomic Topology-Changing Post-Einstein Geometrodynamics" (2000)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17.
  13. "A "Nobel Torsion Message" Over Norway? by Richard C. Hoagland". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-02. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17.
  14. "System and method for generating a torsion field - US Patent 6548752". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-21. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17.
  15. 15.0 15.1 Rubakov V.A. (2000). "Physical Vacuum: Theory, Experiment, Technology" by G.I.Shipov" (PDF). Physics-Uspekhi. 170 (3): 351–352. (Full text available in Russian)
  16. Arcos, H. I.; Pereira, J. G. (December 2004). "Torsion Gravity: A Reappraisal". Int. J. Mod. Phys. D. 13 (10): 2193–2240. arXiv:gr-qc/0501017. Bibcode:2004IJMPD..13.2193A. doi:10.1142/S0218271804006462.
  17. Kruglyakov E.P., "The Demons of Ignorance and Greed" Interview given by Academician E. P. Kruglyakov to the newspaper Literaturnaya Gazeta, February 1, 2006
  18. Matin Durrani, Strange events hit rural England, July 3, 2002, Physics World
  19. "รายงานการประชุมคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ครั้งที่ ๕/๒๕๕๔" (PDF). 2011-06-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ: รายงานการประชุม
  20. 20.0 20.1 "รายงานการประชุมคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕" (PDF). 2012-01-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-10-01. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ: รายงานการประชุม
  21. http://www.chula.ac.th/cic/oldnews/CU_P021013.html
  22. 22.0 22.1 22.2 "Torsion Field เทคโนโลยีใหม่ที่สภาวิจัยแห่งชาติให้ทุนจุฬาฯ วิจัย 4 ล้าน". 2012-11-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-29. สืบค้นเมื่อ 2012-12-17. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) พันทิป: กระทู้หว้ากอ
  23. 23.0 23.1 "พลังงาน สูญตา...สูญเงิน ?". 2012-09-13. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) เนชั่นแชแนล: รายการ คมชัดลึก
  24. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-12-26.

ดูเพิ่ม แก้