สถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ

สถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ (อังกฤษ: Palladian architecture) หมายถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่มาจากการออกแบบโดยอันเดรอา ปัลลาดีโอ (ค.ศ. 1508–1580) สถาปนิกชาวเวนิส คำว่า "แบบปัลลาดีโอ" โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลมาจากการออกแบบของปัลลาดีโอเอง สิ่งก่อสร้างในปัจจุบันที่จัดอยู่ในกลุ่มสถาปัตยกรรมลักษณะนี้วิวัฒนาการมาจากปรัชญาการออกแบบของปัลลาดีโอ งานของปัลลาดีโอมีพื้นฐานมาจากความสมมาตร ความมีทัศนมิติ และคุณค่าของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างวัดของกรีกและโรมันโบราณ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 การตีความหมายของสถาปัตยกรรมคลาสสิกกลายมาเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า "คตินิยมปัลลาดีโอ" (Palladianism) ลักษณะนี้วิวัฒนาการต่อมาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18

คฤหาสน์ที่ต่อเติมมุขด้านหน้าจากเล่ม 4 ของ "หนังสือสี่เล่มเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม" (I Quattro Libri dell'Architettura) ที่พิมพ์ในลอนดอนในปี ค.ศ. 1736
อาคารกระทรวงกลาโหม ถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารในรูปแบบปัลลาดีโอ

"คตินิยมปัลลาดีโอ" กลายเป็นนิยมกันอยู่ระยะหนึ่งในบริเตนระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ลักษณะนี้ก็หวนกลับมาเป็นที่นิยมไม่แต่ในอังกฤษแต่ยังในหลายประเทศทางตอนเหนือของยุโรปด้วย ต่อมาก็ลดความนิยมลงในยุโรป แต่ไปนิยมกันในทวีปอเมริกาเหนือโดยเฉพาะในสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบโดยทอมัส เจฟเฟอร์สัน

สถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอยังคงเป็นที่นิยมกันทั่วไปในยุโรปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 มักจะในการออกแบบสิ่งก่อสร้างทางราชการหรือทางสารธารณะ ตั้งแต่ครึ่งหลังของ คริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มีสถาปัตยกรรมการฟื้นฟูกอทิกเข้ามาเป็นคู่แข่ง ลักษณะหลังนี้สนับสนุนโดยสถาปนิกเช่นออกัสตัส พิวจิน (Augustus Pugin) ที่คำนึงถึงที่มาจากวัดโบราณที่ถือว่าเป็นลักษณะ "นอกศาสนา" เกินไปสำหรับผู้นับถือโปรเตสแตนต์และแองโกล-คาทอลิก[1] แต่กระนั้นสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอก็ยังคงเป็นที่นิยมและวิวัฒนาการตลอดมา ซึ่งจะเห็นได้จากการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบันในลักษณะหน้าจั่ว ความสมมาตร และความได้สัดส่วน

สถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอมีลักษณะหนา ดูทึบทึม อาคารหลายแห่งในประเทศไทยที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม, หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน, อาคารศุลกสถาน เป็นต้น

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Frampton, p. 36

บรรณานุกรม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ