สงครามครูเสดอเล็กซานเดรีย

สงครามครูเสดอเล็กซานเดรีย (อังกฤษ: Alexandrian Crusade) (ค.ศ. 1365) เป็นสงครามครูเสด[1][2]ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1365 ที่นำโดยปีเตอร์ที่ 1 แห่งไซปรัสในการอเล็กซานเดรียโดยแทบไม่มีสาเหตุทางศาสนา ซึ่งแตกต่างจากสงครามครูเสดครั้งอื่นๆ เพราะสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่มีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจ[3]

ประวัติ แก้

ปีเตอร์ที่ 1 แห่งไซปรัสใช้เวลาระหว่างปี ค.ศ. 1362 ถึงปี ค.ศ. 1365 ในการรวบรวมกำลังพลและกำลังเงินในการเข้าทำสงครามครูเสดจากราชสำนักที่มั่งคั่งต่างๆ ในยุคนั้น เมื่อทราบถึงแผนการของอียิปต์ที่จะโจมตีราชอาณาจักรไซปรัสปีเตอร์ก็ใช้ยุทธวิธีเดียวกันในการชิงโจมตีล่วงหน้า (preemptive war) ซึ่งเป็นกลวิธีที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการโจมตีชาวตุรกีมาก่อนหน้านั้น ปีเตอร์ใช้เวนิสในการจัดให้กองเรือและนักรบครูเสดไปรวมตัวกันที่โรดส์เพื่อไปรวมกับกองทหารลัทธิเซนต์จอห์นที่นั่น

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1365 ปีเตอร์ก็ออกเดินทางทางเรือไปยังโรดส์โดยเป็นผู้บังคับบัญชากองเรือทั้งหมด 165 ลำ และไปขึ้นฝั่งอเล็กซานเดรียประมาณวันที่ 9 ตุลาคม ในระหว่างสามวันที่ไปถึงกองทหารของปีเตอร์ก็เข้าโจมตีและปล้นสดมอเล็กซานเดรียและถอยทัพกลับเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม[3] ปีเตอร์มีความเข้าใจว่าแม้ว่าจะยึดอเล็กซานเดรียได้แต่ก็ไม่สามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพจากไซปรัสที่อยู่ไกลออกไป

ความหมาย แก้

โจ ฟอน สตีนแบร์เก็นอ้างปีเตอร์ เอ็ดเบอรี โต้ว่าสงครามครูเสดครั้งนี้เป็นสงครามที่มีสาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจ ปีเตอร์ประสงค์ที่จะลดความสำคัญของอเล็กซานเดรียจากการเป็นเมืองท่าทางตะวันออกของเมดิเตอเรเนียน โดยหวังว่าเมืองฟามากัสตาในไซปรัสจะได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายที่เปลี่ยนไป[3] ฉะนั้นจุดประสงค์ทางศาสนาจึงกลายมาเป็นรอง

บทวิพากษ์ของฟอน สตีนแบร์เก็นที่มาจากบันทึกร่วมสมัยของมุสลิมเช่นของนักประวัติศาสตร์อียิปต์Alī al-Maqrīzī (تقى الدين أحمد بن على بن عبد القادر بن محمد المقريزى) กล่าวว่ากองทหารครูเสดได้รับความสำเร็จพอสมควรเนื่องด้วยมียุทธวิธีที่เหนือกว่า กองกำลังป้องกันตัวของอเล็กซานเดรียมัวแต่ไปชุมนุมต่อต้านอยู่ทางอ่าวด้านตะวันตกของเมือง ขณะที่กองกำลังใหญ่รวมทั้งทหารม้าของปีเตอร์ขึ้นฝั่งตรงบริเวณอื่นของตัวเมืองและซ่อนตัวอยู่ในสุสานทำให้ฝ่ายอเล็กซานเดรียมองข้ามไป กองทหารครูเสดจึงสามารถโจมตีได้ทั้งทางด้านหน้าและหลังที่ทำให้ชาวอเล็กซานเดรียเสียขวัญและไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาตอบโต้ได้[3]

อ้างอิง แก้

  1. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Crusades[1]
  2. The Crusades[2] เก็บถาวร 2009-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Van Steenbergen, Jo (2003) "The Alexandrian Crusade (1365) and the Mamluk Sources: Reassessment of the kitab al-ilmam of an-Nuwayri al-Iskandarani" (PDF)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-10-18. สืบค้นเมื่อ 2009-07-02.

ดูเพิ่ม แก้