ศาสนาในประเทศอิหร่าน

ศาสนาในประเทศอิหร่าน อ้างอิงตามข้อมูลจากซีไอเอเวิลด์แฟกต์บุ๊ก ระบุว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ร้อยละ 90-95[1] ถือเป็นศาสนาประจำชาติ ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีและลัทธิศูฟีอีกร้อยละ 5-10 และศาสนาที่ไม่ใช่อิสลาม ได้แก่ ศาสนาบาไฮ ศาสนามันดา ศาสนายาร์ซาน ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนายูดาห์ และศาสนาคริสต์ รวมกันมีร้อยละ 0.6[2] ส่วนการสำรวจสำมะโนครัวประชากรอิหร่านเมื่อ พ.ศ. 2554 พบว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม 74,682,938 คน คิดเป็นร้อยละ 99.4 ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ศาสนาคริสต์ 117,704 คน ศาสนาโซโรอัสเตอร์ 25,271 คน ศาสนายูดาห์ 8,756 คน และศาสนาอื่น ๆ 49,101 คน รวมทั้งหมดร้อยละ 0.3 และไม่ระบุ 205,317 คน คิดเป็นร้อยละ 0.3[3] ทั้งนี้มีศาสนาชนกลุ่มน้อยเพียงสามศาสนาที่ได้รับการยอมรับและการคุ้มครองจากสมัชชาที่ปรึกษาอิสลาม (Islamic Consultative Assembly) ได้แก่ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนายูดาห์ และศาสนาคริสต์[4]

ชาวมุสลิมในเมืองเอสแฟฮอนขณะปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนเราะมะฎอน
ชาวมุสลิมขณะไว้อาลัยอิหม่ามฮุซัยน์ อิบน์ อะลีในวันอาชูรออ์
เหล่าผู้แสวงบุญชาวโซโรอัสเตอร์ในหมู่บ้านเช็กเช็ก จังหวัดแยซด์

ศาสนาโซโรอัสเตอร์เป็นศาสนาพื้นเมืองของอิหร่านที่เคยรุ่งเรืองและแพร่หลายไปทั่ว แต่ปัจจุบันหลงเหลือศาสนิกชนเรือนหมื่นเท่านั้น[5] นอกจากนี้อิหร่านยังเป็นชุมชนยิวที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอิสลามและตะวันออกกลาง[6] ส่วนศาสนาที่ไม่ใช่อิสลามที่มีศาสนิกชนมากสุดคือศาสนาบาไฮและศาสนาคริสต์[7] ทั้งนี้ศาสนาบาไฮเป็นศาสนาชนกลุ่มน้อยที่มีศาสนิกชนมากที่สุด[8] ทว่าทางการอิหร่านไม่ยอมรับ และกระทำการข่มเหงคะเนงร้ายต่อผู้นับถือบาไฮเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[9][10][11][12]

รัฐบาลอิหร่านไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของคนไม่นับถือศาสนา ผู้บูชาภูตผี ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า ผู้มีแนวคิดอไญยนิยม และผู้ออกจากศาสนาอิสลาม ในการสำรวจสำมะโนครัวประชากร ชนเหล่านี้คนเหล่านี้จะถูกรวมในกลุ่มมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ[1] จำเดิมอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีอย่างแพร่หลาย แต่หลังการพิชิตดินแดนโดยชาวมองโกล นิกายชีอะฮ์กลับกลายเป็นนิกายที่ชนส่วนใหญ่นับถือ แพร่หลายทั่วไปในดินแดนอิหร่าน (รวมไปถึงประเทศอาเซอร์ไบจานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐโลกวิสัยเต็มที่) พร้อมกับการถือกำเนิดของราชวงศ์ซาฟาวิด[13]

จากการสำรวจของสำนักวิจัยพิวเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 พบว่าชาวอิหร่านร้อยละ 87 สวดภาวนาทุกวัน ถือเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นอันดับสองของทวีปเอเชียรองจากประเทศอัฟกานิสถาน (ร้อยละ 96) และนำหน้าประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 84)[14]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Iran, CIA – World Factbook เก็บถาวร 2008-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.   บทความนี้รวมเอางานสาธารณสมบัติจากเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก
  2. U.S. Central Intelligence Agency (2008-04-15). "CIA – The World Factbook – Iran". U.S. Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-15. สืบค้นเมื่อ 2008-04-18.
  3. Iran Census Results 2011 United Nations
  4. Colin Brock, Lila Zia Levers. Aspects of Education in the Middle East and Africa Symposium Books Ltd, 7 mei 2007 ISBN 1873927215 p 99
  5. U.S. State Department (2009-10-26). "Iran – International Religious Freedom Report 2009". The Office of Electronic Information, Bureau of Public Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-29. สืบค้นเมื่อ 2009-12-01.
  6. https://www.jewishvirtuallibrary.org/jsource/Judaism/jewpop.html (10,200 vs 17,400 in Turkey)
  7. "2013 Report on International Religious Freedom: Iran". United States Department of State. 2014-07-28. สืบค้นเมื่อ 2017-11-03.
  8. Kavian Milani (2012). "Baha'i Discourses on the Constitutional Revolution". ใน Dominic Parviz Brookshaw, Seena B. Fazel (บ.ก.). The Baha'is of Iran: Socio-Historical Studies.
  9. United Nations (2005-11-02) Human rights questions: human rights situations and reports of special rapporteurs and representatives เก็บถาวร 2006-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน General Assembly, Sixtieth session, Third Committee. A/C.3/60/L.45
  10. Akhavi, Shahrough (1980). Religion and Politics in Contemporary Iran: clergy-state relations in the Pahlavi period. Albany, New York: SUNY Press. ISBN 0-87395-408-4.
  11. Tavakoli-Targhi, Mohamed (2001). "Anti-Bahá'ísm and Islamism in Iran, 1941–1955". Iran-Nameh. 19 (1): 79–124.
  12. Great Britain: Parliament: House of Commons: Foreign Affairs Committee (23 February 2006). Human Rights Annual Report 2005: First Report of Session 2005–06; Report, Together with Formal Minutes, Oral and Written Evidence. The Stationery Office. p. 85. ISBN 978-0-215-02759-7.
  13. Fensham, F. Charles, "The books of Ezra and Nehemiah" (Eerdmans, 1982) p.1
  14. Jeff Diamant (1 May 2019), "With high levels of prayer, U.S. is an outlier among wealthy nations", Pew Research Center. Retrieved 9 May 2019.