กุหลาบ สายประดิษฐ์

นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนนวนิยาย นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย
(เปลี่ยนทางจาก ศรีบูรพา)

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือรู้จักกันดีในนามปากกาว่า ศรีบูรพา[1] (31 มีนาคม พ.ศ. 2449–16 มิถุนายน พ.ศ. 2517) เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงชาวไทย เจ้าของวาทะ "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"[2]

กุหลาบ สายประดิษฐ์
เกิด31 มีนาคม พ.ศ. 2449
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต16 มิถุนายน พ.ศ. 2517 (68 ปี)
โรงพยาบาลเซียะเหอ ปักกิ่ง ประเทศจีน
นามปากกาศรีบูรพา
อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์
คู่สมรสชนิด สายประดิษฐ์ (ปริญชาญกล)
บุตร2 คน
บิดามารดาสุวรรณ สายประดิษฐ์ (บิดา)
สมบุญ สายประดิษฐ์ (มารดา)

ลายมือชื่อ

ประวัติ

แก้

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2449 (นับแบบใหม่) ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชาวกรุงเทพฯ พ่อชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอก ทำงานอยู่กรมรถไฟ แม่ชื่อสมบุญ เป็นชาวนาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี นายสุวรรณกับนางสมบุญ ได้ให้กำเนิดบุตรสองคน คนโตเป็นหญิง ชื่อ จำรัส นิมาภาส (แต่งงานกับนายกุหลาบ นิมาภาส) ส่วนคนเล็กเป็นชาย ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สี่ชีวิตพ่อแม่ลูกได้แยกครอบครัวมาเช่าห้องแถวที่เป็นของพระยาสิงหเสนีอยู่แถว ๆ หัวลำโพง

เมื่อกุหลาบมีอายุได้สี่ขวบ เขาได้เริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนถึงชั้นประถม 4 นายสุวรรณได้ช่วยสอนหนังสือให้ลูกชายคนเดียวก่อนเข้าโรงเรียนด้วย แต่พ่อของกุหลาบอายุสั้น ป่วยเป็นไข้เสียชีวิตแต่เมื่ออายุเพียงแค่ 35 ปี ตอนนั้นกุหลาบเพิ่งอายุหกขวบ แม่และพี่สาวจึงได้เลี้ยงดูเขาต่อมา โดยแม่ได้รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำ และละครร้อง เพื่อหาเงินมาช่วยจุนเจือและส่งเสียให้กุหลาบได้เรียนหนังสือโดยไม่ติดขัด กล่าวคือเมื่อจบชั้นประถม 4 แม่ก็ได้เอากุหลาบไปฝากเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมา โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ สอนทั้งวิชาทั่วไปและวิชาทหาร กุหลาบได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้สองปี แม่ก็รู้สึกสงสาร เพราะเห็นว่าลูกชายต้องอยู่เวรยามแบบทหาร และเห็นว่าอยากให้กุหลาบได้เรียนวิชาทั่วไปมากกว่า ดังนั้นจึงเอาออกจากโรงเรียนทหาร ให้มาอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยเริ่มต้นเรียนในชั้นมัธยม 2 และได้เรียนเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม 8 เมื่อ พ.ศ. 2468

ชีวิตครอบครัว

แก้

กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมรสกับ ชนิด สายประดิษฐ์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ แพทย์หญิงสุรภิน สายประดิษฐ์ (แอ๊ว) และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ (อี๊ด)

งานหนังสือพิมพ์

แก้

พ.ศ. 2465 อายุได้ 17 ปี เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือ และทำหนังสือ โดยใช้พิมพ์ดีด จากนั้นใน พ.ศ. 2466 เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาได้เริ่มเขียนบทกวี และเขียนเรื่องจากภาพยนตร์ ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม ในช่วงนั้นใช้นามปากกา เช่น "ดาราลอย" "ส.ป.ด. กุหลาบ" "นางสาวโกสุมภ์" "หนูศรี" "ก. สายประดิษฐ์" "นายบำเรอ" และ "หมอต๋อง" เริ่มต้นใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เป็นครั้งแรก ในเขียนงานชื่อ แถลงการณ์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทศวารบันเทิง ไม่ทราบเป็นงานเขียนประเภทใด ในปีนั้นได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่ โรงเรียนรวมการสอน และเป็นนักประพันธ์อยู่ใน สำนักรวมการแปล ของนายแตงโม จันทวิมพ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้มาฝึกการประพันธ์อยู่ที่ "สำนัก" นี้ ด้วยความมุ่งหวังอยากเรียนรู้ และหารายได้จากงานเขียนไปจุนเจือครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พร้อมกันนั้นก็ได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นอีกสองคน คือ ชะเอม อันตรเสน และ สนิท เจริญรัฐ ให้มาช่วยกันที่ สำนักรวมการแปล ด้วย

พ.ศ. 2467 อายุได้ 19 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นามจริงของตัวเองเป็นครั้งแรกในการเขียนกลอนหก ชื่อ "ต้องแจวเรือจ้าง" พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ชื่อ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ หนังสือพิมพ์โรงเรียนเล่มนี้ มีหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) ซึ่งเป็นครูวิชาภาษาไทยของเขาเป็นบรรณาธิการ เป็น ในปีเดียวกัน กุหลาบก็เริ่มใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เขียนบทประพันธ์ขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

พ.ศ. 2468 อายุ 20 กุหลาบเรียนจบชั้นมัธยม 8 เริ่มชีวิตการเป็นบรรณาธิการครั้งแรกหนังสือรายทส(รายสิบวัน) ชื่อ สาส์นสหาย แต่ออกมาได้แค่ 7 เล่ม ก็ต้องเลิกไป ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2468 กุหลาบได้เข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ โดยมีตำแหน่งเป็น "เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์" ได้เงินเดือนเดือนละ 30 บาท การที่กุหลาบไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการที่ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เพราะสืบเนื่องมาจากเคยส่งเรื่องไปลงพิมพ์ที่นี่ จนเป็นที่พอใจของ พ.ท. พระพิสิษฐพจนาการ (ชื่น อินทรปาลิต) ผู้เป็นบรรณาธิการในขณะนั้น ซึ่งต้องการ "ผู้ช่วย" ที่มีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปทำงาน

พ.ศ. 2469 อายุ 21 เริ่มเขียนงานประพันธ์อีกหลายชิ้น ได้ลงตีพิมพ์ที่ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (รายเดือน) สมานมิตรบันเทิง (รายปักษ์) มหาวิทยาลัย (รายเดือน) สวนอักษร (รายปักษ์) สาราเกษม (รายปักษ์) ปราโมทย์นคร (รายสัปดาห์) ดรุณเกษม (รายปักษ์) เฉลิมเชาว์ (รายเดือน) วิทยาจารย์ (รายเดือน) ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้ไปช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ ธงไทย รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ซึ่งออกในงานรื่นเริงของโรงเรียนเทพศิรินทร์

ขณะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อยู่ประมาณสองปีเศษนั้น ได้มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ "Young กุหลาบ" ตัดสินใจเลิกคิดที่จะเอาดีทางรับราชการ และได้เบนชีวิตหันมาประกอบอาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์โดยอิสระเพียงอย่างเดียว โดยเป็นหนึ่งในคณะสุภาพบุรุษร่วมกับนักเขียนชื่อดังท่านอื่น ๆ เช่น ยาขอบ, ฮิวเมอริสต์ จัดทำหนังสือพิมพ์ชื่อ "สุภาพบุรุษ รายปักษ์" เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ออกจำหน่ายทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของ มียอดพิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับสุดท้าย คือปีที่ 2 ฉบับที่ 37 วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 หลังจากนั้นตำนานแห่ง คณะสุภาพบุรุษ ยังคงมีสืบต่อมา แต่ทว่ามิได้เป็นไปในลักษณะของการจัดทำ Literary Magazine อีกต่อไป การยุติลงของ สุภาพบุรุษ

เมื่อ พ.ศ. 2495 ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือ "กบฏสันติภาพ"[3] และได้รับนิรโทษกรรมในปี พ.ศ. 2500 ในช่วงปลายชีวิตได้ลี้ภัยไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

การศึกษา

แก้

ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์, ธรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

เกียรติประวัติ

แก้

ผลงานหนังสือ

แก้

กุหลาบ สายประดิษฐ์ มีผลงานหนังสือเป็นจำนวนมากทั้ง นิยาย เรื่องสั้น เช่น

  • ข้างหลังภาพ
  • สงครามชีวิต
  • ลูกผู้ชาย
  • แลไปข้างหน้า (รวมภาคปฐมวัยและภาคปัจฉิมวัย)
  • จนกว่าเราจะพบกันอีก
  • ขอแรงหน่อยเถอะ
  • เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475
  • แสนรักแสนแค้น
  • การเมืองของประชาชน
  • ป่าในชีวิต
  • ผจญบาป
  • เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร
  • โลกสันนิวาส
  • ข้อคิดจากใจ
  • สิ่งที่ชีวิตต้องการ
  • มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ
  • การหนังสือพิมพ์ของฉัน
  • ชีวิตสอนอะไรแก่ข้าพเจ้า
  • เรื่องของเขา
  • สุภาพบุรุษนักประพันธ์
  • ข้าพเจ้าได้เห็นมา
  • บันทึกอิสรชน
  • ไปสหภาพโซเวียด
  • ลาก่อนรัฐธรรมนูญ

อ้างอิง

แก้
  1. "นักคิด นักเขียน, กุหลาบ สายประดิษฐ์". Baanjomyut.com.
  2. อรอนงค์ อิ่มกมล (บ.ก.). "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน". หอประวัติศาสตร์เกียรติยศ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-11-09.
  3. "กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ของประชาชน". firelamtung.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-24. สืบค้นเมื่อ 2011-07-14.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

ผลงานบันทึกสำเนา

แก้

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง

แก้

เว็บไซต์

แก้