วูวูเซลา (อังกฤษ: vuvuzela, เป็นภาษาซูลู แปลว่า ทำให้เกิดเสียงดัง) หรือในบางครั้งเรียก เลปาตาตา (Lepatata ในภาษาสวานา) เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าคล้ายทรัมเป็ต เป็นเครื่องดนตรีและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองแอฟริกาใต้ มีความยาวประมาณ 1 เมตร นอกจากนี้ ยังใช้ในการเชียร์กีฬา เช่น ฟุตบอลอีกด้วย ปัจจุบัน วูวูเซลานิยมทำจากพลาสติก

วูวูเซลา ทำด้วยพลาสติก
กองเชียร์ทีมแอฟริกาใต้ กำลังเป่าวูวูเซลา ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010
เสียงของวูวูเซลา

เสียงของวูวูเซลา เป็นไปในลักษณะดังกึกก้อง คล้ายเสียงร้องของช้าง วูวูเซลาใช้ในการเชียร์กีฬาครั้งแรก ในคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยกลุ่มกองเชียร์ สโมสรฟุตบอลไกเซอร์ ชีฟส์ เอฟซี ในลีกแอฟริกาใต้ เริ่มนำมาใช้เป็น อุปกรณ์การเชียร์ทีมรักของตน ในสนามฟุตบอล แต่ยังเป็นที่รู้จักเฉพาะภายในแอฟริกาใต้เท่านั้น

จากนั้น วูวูเซลา นำมาใช้อีกครั้ง ในการแข่งขันคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2009 ที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ และได้รับการกล่าวถึง ในแง่ที่เป็นอุปกรณ์เชียร์ ที่สามารถข่มขวัญทีมคู่แข่ง และกองเชียร์คู่แข่งได้เป็นอย่างดี ด้วยเสียงอันกึกก้อง รวมถึงทำลายสมาธิของนักฟุตบอลคู่แข่ง จึงเกิดกระแสวิจารณ์ไปทั่ว และทำให้ชาติตะวันตกบางชาติ ถึงกับเรียกร้องให้ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) สั่งห้ามใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ระหว่างแข่งขัน แต่ประธานฟีฟ่า เซ็พ บลัทเทอร์ มีความเห็นคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแอฟริกัน

ในฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ กองเชียร์ก็นำวูวูเซลามาใช้ และกลายเป็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เช่นกล่าวว่า เสียงเป่ากลบเสียงผู้พากษ์ และผู้ฝึกสอน หรือสร้างความรำคาญ บ้างก็บอกว่า เสียงดังคล้ายเสียงแมลงวัน หรือแมลงหวี่บินตอม เป็นต้น[1]

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของคณะแพทย์ชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่ง สนับสนุนการห้ามใช้วูวูเซลาอย่างถาวร โดยเตือนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเสียง ที่ดังเกินพอดีของวูวูเซลา ควรรีบมาพบแพทย์ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจเช็คระบบการได้ยินเป็นการด่วน ก่อนที่อาจหูหนวกไปตลอดชีวิต[2]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีแพทย์ชาวอังกฤษระบุว่า วูวูเซลาเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคต่างๆ ได้ โดยรายงานว่า มีการทดสอบเป่า โดยอาสาสมัคร 8 ราย พบว่าในวูวูเซลา ชุ่มไปด้วยละอองน้ำลาย ซึ่งเป็นพาหะต่อเชื้อโรคต่างๆ และเชื้อโรคเหล่านี้ สามารถอยู่ในอากาศได้นานนับชั่วโมง ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะมีการติดเชื้อต่อๆ กันไป และหากใช้วูวูเซลาอันเดียวกัน เป่าต่อๆ กันไป มากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นอีก เป็นต้น[3]

อ้างอิง

แก้