วิชัย สุริยุทธ
ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ หรือที่รู้จักกันในนาม ดาบวิชัย (3 สิงหาคม พ.ศ. 2489 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) เป็นอดีตข้าราชการตำรวจชาวไทย เขาที่รู้จักกันในสังคมไทยจากการที่เขาเป็นผู้ปลูกต้นไม้มากกว่าสองล้านต้นในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จนสามารถทำให้อำเภอปรางค์กู่ อำเภอที่เคยจัดว่าแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
วิชัย สุริยุทธ | |
---|---|
เกิด | 3 สิงหาคม พ.ศ. 2489 อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 (77 ปี) โรงพยาบาลศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | ข้าราชการตำรวจ |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ปลูกต้นไม้สองล้านต้น |
รับใช้ | สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
---|---|
ประจำการ | พ.ศ. 2510 − 2549 |
ชั้นยศ | ร้อยตำรวจตรี |
ประวัติ
แก้วิชัย สุริยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรคนที่สาม ในจำนวนทั้งหมดหกคน บิดามารดามีอาชีพชาวนา ฐานะทางบ้านจึงยากจน ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มารดาก็เสียชีวิต บิดาเขาจึงต้องทำนาคนเดียว และเขาจึงต้องรับจ้างทำงานสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรก่อสร้าง, จับกัง กระทั่งได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย
รับราชการตำรวจ
แก้หลังจบโรงเรียนพลตำรวจ 3 จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2511 ก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ย้ายมาประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่[1]
กระทั่งในปี พ.ศ. 2548 ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ เป็น "ร้อยตำรวจตรี" จากการอุทิศตนต่อประเทศชาติ[2] จนเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่
ปลูกต้นไม้
แก้พ.ศ. 2530 จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย อำเภอปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย มีการปล้นชิงลักขโมยเป็นคดีความมากมาย ดาบวิชัยในฐานะผู้เติบโตมาในพื้นที่และเจ้าพนักงานสอบสวนรับรู้ถึงปัญหามาตลอด จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น จากความคิดของเขา ทำให้เขาตัดสินใจปลูกต้นไม้ เนื่องจากเห็นว่าจะผลที่จะตามมาจะเป็นผลที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ทุกเช้าและหลังเลิกงานของวัน ดาบวิชัยจะขับจักรยานยนต์ ตระเวนปลูกต้นไม้ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอปรางค์กู่ โดยในระยะแรก ในสายตาชาวบ้าน เขาถูกมองว่าเป็นคนบ้า แม้ว่าจะถูกสังคมมองไปในทางเช่นนั้น เขาก็ยังคงปลูกต้นไม้อยู่เรื่อยไป
พ.ศ. 2541 เป็นต้นมาสังคมเริ่มเห็นผลจากการปลูกต้นไม้ของเขา เกิดโครงการปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะเพื่อส่วนรวมเกิดขึ้น ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นยางนา เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน รณรงค์ปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์ รณรงค์ปลูกต้นคูน ต้นไม้ประจำภาคอีสานและประจำชาติไทย และ รณรงค์ให้เปลี่ยนการทำนาปีเป็นไร่นาสวนผสม[3] จนอำเภอปรางค์กู่กลายเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งต้นไม้ที่เขาปลูกนั้นสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในอำเภอได้
พ.ศ. 2543 ประชาคมอำเภอปรางค์กู่ทั้ง 10 ตำบล ได้พร้อมใจกันลงมติให้ใช้ 4 โครงการรณรงค์ดังกล่าวเป็นคำขวัญของ อำเภอปรางค์กู่ ที่ว่า “ปรางค์กู่อยู่ในป่ายางกลางดงตาล บานสะพรั่งดอกคูน บริบูรณ์ไร่นาสวนผสม”
วาทะ
แก้...ผมว่าโลกของวัตถุเป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้นแหละครับ ความสุขที่แท้จริง ก็อยู่กับธรรมชาติ และรู้จักเคารพธรรมชาติ ต้นไม้นี่ผมจะต้องปลูก ปลูกไปเรื่อย ๆ ปลูกจนกว่าจะตาย...
— ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ
เสียชีวิต
แก้ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ ได้เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ด้วยอาการสงบ สิริอายุ 77 ปี โดยโรคหลายโรครุมเร้า[4]ในการนี้ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ อัญเชิญน้ำหลวงอาบศพ และสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานหีบลายก้านแย่งและให้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพใน วันที่ 5 ธันวาคม ณ เมรุวัดศรีปรางค์กู่ ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[6]
- พ.ศ. 2526 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
- พ.ศ. 2517 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก (ร.ท.ช.)
- พ.ศ. 2525 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2500 – เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
อ้างอิง
แก้- ↑ ดาบวิชัย ได้รับรางวัล บุคคลดีเด่นแห่งปี 2549[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศร้อยตำรวจตรีเป็นกรณีพิเศษ (ดาบตำรวจ วิชัย สุริยุทธ) เล่ม ๑๒๒, ตอน ๑๕ ข ฉบับทะเบียนฐานันดร, ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๒
- ↑ นักสู้ผู้สร้างป่า นายดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
- ↑ "สุดอาลัย ดาบวิชัย คนบ้าปลูกต้นไม้ จากไปอย่างสงบ ลูกสาว บอกพ่อสั่ง อย่าเศร้า". มติชน. 27 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ผู้ว่าฯศรีสะเกษ เป็นประธานพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ‘ดาบวิชัย’ นักปลูกต้นไม้ชื่อดังของไทย
- ↑ รูปภาพ