คณะลูกเสือแห่งชาติ
คณะลูกเสือแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (อังกฤษ: National Scout Organization of Thailand; NSOT) เป็นองค์การที่ดูแลเกี่ยวกับการลูกเสือในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และได้เข้าร่วมสมัชชาลูกเสือโลกเมื่อ พ.ศ. 2465 ในปี พ.ศ. 2553 คณะลูกเสือแห่งชาติ มีสมาชิกกว่า 1,360,869 คน[1]
![]() | |
คำขวัญ | เสียชีพอย่าเสียสัตย์ |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อตั้ง | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (108 ปี) |
ที่ตั้ง |
|
พระประมุข | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
องค์อุปถัมภิกา | สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ |
เลขาธิการ | ประเสริฐ บุญเรือง |
เว็บไซต์ | www.scoutthailand.org |
ประวัติแก้ไข
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และตั้งกองลูกเสือแห่งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร นับเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่มีการสถาปนากองลูกเสือขึ้น ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรก ขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือ ตามโรงเรียนต่างๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น ทั้งพระราชทานคำขวัญแก่ลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” โดยผู้ที่นับว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ นายชัพน์ บุนนาค ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”
- พ.ศ. 2463 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- พ.ศ. 2465 คณะลูกเสือไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลก ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 31 ประเทศ ประเทศทั้ง 31 ประเทศนี้ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกผู้ก่อการจัดตั้ง (Foundation Members) สมัชชาลูกเสือโลกขึ้นมา
- พ.ศ. 2467 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 10 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเดนมาร์ก
หลังจากนั้นกิจการลูกเสือก็ได้ซบเซาลง จนในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภิกา พร้อมกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ที่ทรงรับไว้ในพระอนุเคราะห์ (โดยไม่ออกพระนาม) ทำให้กิจการลูกเสือไทยกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง แม้ทั้งสองพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ดอกผลแห่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก็ยังใช้จุนเจือกิจการคณะลูกเสือแห่งชาติต่อมา และยังคงได้รับการสืบสานให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับนับจนปัจจุบัน โดยในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติในฐานะพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นองค์อุปถัมภิกาคณะลูกเสือแห่งชาติ
ประเภทของลูกเสือแก้ไข
ปัจจุบันประเทศไทย มีลูกเสือ 5 ประเภท คือ
- ลูกเสือสำรอง
- ลูกเสือสามัญ
- ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
- ลูกเสือวิสามัญ
- ลูกเสือชาวบ้าน
และยังแบ่งออกเป็นเหล่าต่างๆ คือ เหล่าเสนา เหล่าสมุทร และ เหล่าอากาศ
ธงในคณะลูกเสือแห่งชาติแก้ไข
ธงลูกเสือแบ่งออกเป็น 4 อย่างดังต่อไปนี้[2]
1. ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ 2. ธงลูกเสือจังหวัด 3. ธงประจำกลุ่มหรือกองลูกเสือ 4. ธงประจำหมู่ลูกเสือ
ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัดแก้ไข
ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด มีลักษณะและขนาดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ธงดังกล่าวนี้จะได้รับพระราชทานจากพระประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ ตามข้อ 308 แห่งข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 และตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551
- ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ
ตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 52 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีตราธรรมจักรสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 32 เซนติเมตร
- ธงลูกเสือจังหวัด
ตามมาตรา 39 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่า ธงลูกเสือจังหวัด มีลักษณะและสีอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ผืนธงกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 27 เซนติเมตร มีขอบรอบดวงกลมเป็นสีดำ 2 ขอบซ้อนกัน ขอบนอกกว้าง 2 มิลลิเมตร ขอบในกว้าง 1 มิลลิเมตร ระยะระหว่างขอบนอกกับขอบในห่างกัน 2 มิลลิเมตร ตรงกลางของดวงกลมมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติเป็นสีเหลือง และใต้ตรานั้นให้มีชื่อจังหวัดเป็นอักษรสีดำ
ธงประจำกลุ่มหรือกองลูกเสือ และธงประจำหมู่ลูกเสือแก้ไข
ธงประจำกลุ่มหรือกองลูกเสือ มีลักษณะตามข้อ 309 แห่งข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ดังต่อไปนี้
- ธงลูกเสือสำรอง
ทำด้วยผ้าสีเหลืองขนาด 90x60 ซม. มีครุยสีเขียวยาว 8 ซม. สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเขียว ขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน
- ธงลูกเสือสามัญ
ทำด้วยผ้าสีเขียว ขนาด 120x80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม.สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเหลือง ขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน
- ธงลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
ทำด้วยผ้าสีเลือดหมู ขนาด 120x80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม. สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเหลืองขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะเป็นรูปวชิรสีเงิน[2]
- ธงลูกเสือวิสามัญ
ทำด้วยผ้าสีขาบ ขนาด 120x80 ซม. มีครุยสีเหลืองยาว 8 ซม.สามด้าน ตรงกลางมีตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีเหลือง ขนาด 40x25 ซม. ใต้ตราบอกชื่อกลุ่มหรือกองลูกเสือ ตัวอักษรตัวพิมพ์ธรรมดาสีเหลือง ขนาดพองาม ยอดคันธงทำด้วยโลหะสีเงิน[2]
- ธงประจำหมู่ลูกเสือ
ธงประจำหมู่ลูกเสือ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหนังสือการลูกเสือสำหรับเด็กชาย ตามข้อ 310 แห่งข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509
ดูเพิ่มแก้ไข
- ↑ "Some statistics". World Organization of the Scout Movement. สืบค้นเมื่อ 2010-03-30.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 http://www.scout39.com/scout_pl/wp-content/uploads/2016/03/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87-2509.pdf