วัดโคเขตตาราม

วัดในจังหวัดอุดรธานี

วัดโคเขตตาราม เป็นวัดราษฎร์ชั้นตรี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 เดิมชื่อวัดบ้านนางัว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 93 หมู่ที่ 1 บ้านนางัว ตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 3106 เป็นวัดเก่าแก่ประจำอำเภอน้ำโสม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

วัดบ้านนางัว แก้

เมื่อปี พ.ศ. 2448 เขตกิ่งอำเภอน้ำโสม เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก สัตว์ป่านานาชนิดยังมีมากมาย ตำบลนางัวยังอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอบ้านผือ และเคยเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างรัฐและลัทธินิยม มีการสู้รบกันมาเป็นระยะยาวนาน มีอนุสาวรีย์วีรชนน้ำโสมเป็นสักขีพยาน ต่อมาได้มีชาวบ้านอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเขตป่าแห่งนี้ มีประมาณ 5 ครอบครัว ได้ถากถางป่าทำไร่ปลูกพืช และได้เจอซากปรักหักพังคล้ายวัดเก่า มีเนินอิฐดินเผาคล้ายอุโบสถ์ จึงช่วยกันถากถางทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุโบสถวัดบ้านนางัว

ประวัติวัดโคเขตตาราม แก้

วัดโคเขตตาราม เดิมทีชื่อวัดบ้านนางัว เหตุที่มาของการตั้งชื่อวัดบ้านนางัว (จากคำบอกเล่ามี 2 นัย) คือ บริเวณพื้นที่นี้เป็นที่ลุ่มน้ำมีสัตว์นานาชนิดมาอาศัยกินน้ำและหนึ่งในนั้นคือวัวป่ามีจำนวนมากได้อาศัยอยู่บริเวณนี้จึงเรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “นางัว” จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านนางัว” และชื่อวัดก็ตั้งตามชื่อหมู่บ้าน อีกนัย คือ ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งมีอาชีพค้าขายวัว หรือที่เรียกว่านายฮ้อย มีนายฮ้อยแสง เป็นหัวหน้า (นายฮ้อยแสง คือกลุ่มที่ไปสร้างบ้านม่วงแสงทอง ตำบลน้ำโสม อำเภอน้ำโสม ปัจจุบัน) ต้อนวัวไปขายยังต่างบ้านต่างเมือง และมีนายฮ้อยอีกกลุ่มที่แยกออกมาตั้งหลักปักฐานในพื้นที่แห่งนี้ เป็นผู้มีฐานะดีมีพี่น้องที่ติดตามกันมา 2 คน สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ จึงตั้งนามสกุลใช้กันเอง คนผู้เป็นพี่ตั้งนามสกุลตามชื่อบ้านว่า “นางัว” คนผู้เป็นน้องตั้งนามสกุลว่า “สุริยะแสง” และพัฒนาหมู่บ้านจนมีลูกหลานและผู้คนเริ่มเข้ามาตัดไม้ ถากถางที่ทำไร่ปลูกพืชเกษตร และผู้ค้าขายก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ เมื่อปี พ.ศ. 2500 วัดบ้านนางัวได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ ในด้านการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ขึ้นจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยมีการก่อสร้างอุโบสถ์ขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2522 และทำการเปลี่ยนชื่อจากวัดบ้านนางัวเป็นวัดโคเขตตารามในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2528 ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ โดยมีพระครูวรคุณารักษ์ เป็นประธาน ฝ่ายสงฆ์ และ กำนันถนอม คำภา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพุทธศาสนิกชนทั่วไปดำเนินการ (ชื่อศาลาปัญญาวัฒนานุสรณ์) ลักษณะทรงไทยประยุกต์ครึ่งไม้ครึ่งปูน เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้มีการบูรณะอุโบสถหลังเก่าที่เกิดรอยรั่วบนหลังคา ตลอดจนเสนาสนะต่างๆ โดยมีพระอธิการพิสิฐ ปริปุณโณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนอำเภอน้ำโสม เป็นผู้ดำเนินการ

คำขวัญวัดโคเขตตาราม แก้

อันมิ่งเมืองเคียงคู่ บ่อยู่ไกล ก็หนึ่งในน้ำโสม ร่มโพธิ์ศรี รวมแขกค้าชาวขาย ไทยธานี วัดโคมีหลวงปู่อ่ำ ในน้ำใจ

ศาสนสถานศาสนวัตถุภายในวัด แก้

ประกอบไปด้วย แก้

วิหารบูรพาจารย์ คือ พระครูปัญญาวัฒนคุณ(อ่ำ ปญฺญาวุฒฺโฑ) อดีตเจ้าอวาสวัดโคเขตตาราม อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอน้ำโสม ตัววิหารเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. แล้วเสร็จในปี พ.ศ. รูปเหมือนหลวงปู่อ่ำหล่อด้วยทองเหลืองสมริดรมดำขนาดเท่าองค์จริง

วิหารหลวงปู่นาค

โรงเรียนพระปริยัติธรรม แก้

โรงเรียนวัดโคเขตตาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 4 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ภายใต้การดูแลกำกับของมหาเถรสมาคม ตั้งอยู่ เลขที่ 93 หมู่ที่ 1 ตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี รหัสไปรษณีย์ 41210 มีเนื้อที่ของวัดทั้งหมด 6 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ใช้เป็นโรงเรียน จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 –ม.6)

โรงเรียนวัดโคเขตตาราม ได้ก่อตั้งโรงเรียน 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยได้เปิดเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมบาลี เป็นต้นมา โดยมี พระครูวรคุณารักษ์ (ทองแดง เตชธมฺโม) เป็นผู้จัดการ และมี พระมหาสมปอง มุทิโต เป็นครูใหญ่ โดยเปิดทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อาศัยศาลาการเปรียญ เป็นอาคารเรียนชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้ย้ายโรงเรียนโคเขตตาราม กลับมาเปิดทำการเรียนการสอนที่วัดโคเขตตาราม ตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระครูวิชัยมังคโลภาส เป็นผู้จัดการ และมี พระมหานิยม กิตฺติปญฺโญ เป็นครูใหญ่ โดยเปิดทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยอาศัยศาลาการเปรียญชั้น 2 เป็นอาคารเรียนมีครูประจำการ ปัจจุบัน มีพระครูอุดรสุนทรเขต เป็นผู้จัดการ/ผู้อำนวยการ เปิดทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 1 - ม. 6) โดยมีอาคารเรียนถาวร จำนวน 1 หลัง มี 3 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีต จำนวน 11 ห้อง จัดเป็น ห้องธุรการ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องสหกรณ์ ห้องประชุม ส่วนห้องสมุดมีขนาด 40 ตารางเมตร มีหนังสือทั้งหมด 4,000 เล่ม มีห้องวิชาการให้บริการ หลักสูตร ตำราเรียน คู่มือ การเรียนวิชา ต่างๆ เพื่อให้ครู ค้นคว้า โรงเรียนได้ทำการติดตั้งระบบเครือข่ายภายในและระบบอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงและคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนครอบคลุม ทั้งโรงเรียน มีห้องปฏิบัติการ E-Learning เพื่อให้บริการนักเรียนในการสืบค้นความรู้

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

พระอธิการคำดี คมฺภีโม ตั้งแต่ พ.ศ.2457 ถึง พ.ศ.2465

พระอธิการเจ้ย จนฺทสาโร ตั้งแต่ พ.ศ.2465 ถึง พ.ศ.2470

พระอธิการฮ้อย จนฺทวโร ตั้งแต่ พ.ศ.2471 ถึง พ.ศ.2475

พระอธิการบุญเพ็ง ปรกฺกโม ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ.2484

พระครูปัญญษวัฒนคุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ถึง พ.ศ.2526

พระครูวรคุณารักษ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2526 ถึง พ.ศ.2538

พระอธิการวันชัย เทวงฺกโร ตั้งแต่ พ.ศ.2538 ถึง พ.ศ.2539

พระครูวิชัยมังคโลภาส ตั้งแต่ พ.ศ.2544 ถึง พ.ศ.2545

พระอธิการชรินทร์ ธมฺมเตโช ตั้งแต่ พ.ศ.2546 ถึง พ.ศ.2549

พระครูอุดรสุนทรเขต ตั้งแต่ พ.ศ.2549 ถึง ปัจจุบัน

 
พระครูปัญญาวัฒนคุณ (หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ)

หลวงปู่อ่ำ ปฺญญาวุฒโธ แก้

ชาติภูมิ แก้

พระครูปัญญาวัฒนคุณ (หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ) นามเดิม อ่ำ นามสกุล แก้วพล เกิดเมื่อวันที่ 2 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2461 ณ บ้านนางัว ตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของคุณพ่อเมือง และคุณแม่ทอง แก้วพล มีพี่น้องร่วมบิดารเดียวกัน 3 คนดังนี้

1. นางขี ชัยสวัสดิ์

2.พระครูปัญญาวัฒนคุณ (หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ)

3.นางแพงสี แก้วพล

บรรพชาและอุปสมบท แก้

 
พระครูปัญญาวัฒนคุณ (หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ)

เมื่ออายุได้ 17 ปี บิดาได้นำไปฝากให้ศึกษาอักษรสมัยกับพระอาจารย์อู้ด อุตฐาโณ และได้บรรพชาเป็นสามเณรจนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโคเขตตาราม บ้านนางัว จนอายุได้ 24 ปีจึงได้ลาสิกขาไปใช้ชีวิตตามฆราวาสวิสัยแต่มักไม่สบายบ่อย เมื่ออายุ 27 ปีจึงได้เข้ารับการอุปสมบทอีกครั้ง ในวันที่ 7 เดือนธันวาคม พ.ศ.2488 ณ พัทธสีมา วัดสว่าง บ้านผักบุ้ง ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยมี เจ้าอธิการบู่ สุมโณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง ปริปุณฺโณ วัดสว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ลา เขมธโร วัดบ้านโนนตาแสง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ไปอยู่วัดศรีสำราญ บ้านนาจาน ตำบลนางัว 3 พรรษา แล้วกลับมาอยู่วัดโคเขตตาราม เพื่อศึกษาอักษรสมัยมีหนังสือธรรม และภาษาไทย กับพระอาจารย์อุ้ด อุตฐาโน และพระอาจารย์เจ้ย จนฺทโชโต จนอ่านออกเขียนได้

จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนกับหลวงปู่เพชร วัดป่ามะหลวง เมืองหนองคาย และไปเรียนกับหลวงปู่แพง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาวจำพรรษาประเทศลาว 9 พรรษาจึงกลับมาอยู่วัดโคเขตตาราม

การศึกษา แก้

พ.ศ.2495 สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักศาสนศึกษา วัดแสงนิมิตร บ้านนาม่วง ตำบลน้ำโสม

การปกครอง แก้

พ.ศ.2499 เป็นเจ้าอาวาสวัดโคเขตตาราม บ้านนางัว และเป็นเจ้าคณะตำบลนายูง

พ.ศ.2513 เป็นพระอุปัชฌาย์ประจำตำบลนายูง

พ.ศ.2515 เป็นเจ้าคณะตำบลนางัว

สมศักดิ์ แก้

พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ พระครูปัญญาวัฒนคุณ

 
หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ

พระครูปัญญาวัฒนคุณ (หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ) เป็นผู้มีอุปนิสัยสุขุมเยือกเย็นมีเมตตาต่อประชาชนเสมอกัน เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวอำเภอน้ำโสมและใกล้เคียงอย่างมาก เป็นพระภิกษุผู้มีความสำคัญมากของอำเภอน้ำโสมรูปหนึ่ง ได้สงเคราะห์อนุเคราะห์ พระภิกษุสามเณรศรัทธาสาธุชนทุกชั้นวรรณะ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย มักน้อยสันโดษ เมื่อสบอารมณ์จะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตามท่านก็ยิ้มหัวเราะ เท่านั้น อีกทั้งด้านวินัยแล้วท่านจะเคร่งครัดเป็นอย่างมาก

มรณะกาล แก้

พระครูปัญญาวัฒนคุณ (หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ) ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 19 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2526 ด้วยโรคต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะไม่ออก สิริรวมอายุได้ 66 ปี พรรษา 39

 
เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่อ่ำ ปญฺญาวุฑฺโฒ วัดโคเขตตาราม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

ด้านวัตถุมงคล แก้

พ.ศ.2520 ขณะที่หลวงปู่มีอายุได้ 59 ปี 33 พรรษา ท่านได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่านขึ้นเพื่อหาทุนสร้างอุโบสถ จัดพิธีพุทธาภิเษกอธิษฐานจิตในวันที่ 29 30 พฤศจิกายน เหรียญใหญ่ให้บูชา 10 บาท เหรียญเล็กให้บูชา 5 บาท เป็นเหรียญที่เด่นดังด้านแคล้วคลาดมาก



หน่วยงานทางราชการที่ตั้งอยู่ภายในวัด แก้

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลนางัว ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโคเขตตาราม ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ศูนย์ชุมชนคุณธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ศูนย์สายใยรักชุมชน ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

หน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

อุทยานการศึกษาในวัด ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ