วัดเทพพล

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดเทพพล เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

วัดเทพพล
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเทพพล, วัดใหม่, วัดใหม่บางพรม, วัดใหม่เทพพล
ที่ตั้งเลขที่ 30 ถนนบางพรม แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระพุทธพักตร์มุนีเทพพล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดเทพพลอาจเรียกว่า วัดใหม่ วัดใหม่บางพรม หรือ วัดใหม่เทพพล จากข้อมูลของกรมการศาสนาระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2108 (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) แต่อีกข้อมูลหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2513 พบแผ่นไม้มีจารึกระบุปี พ.ศ. 2306 พออ่านได้ว่านายแสงกับนางฉิม สร้างพระพุทธรูปและก่อเจดีย์[1] (ปัจจุบันเข้าใจว่าจารึกนี้สูญหาย) แต่เดิมเคยมีเจดีย์ทรงมอญองค์ใหญ่ แต่ถูกรื้อคงเหลือแต่ใบเสมาดินเผา

ในสมัยพระครูวิศิษฎ์บุญญาคม (บุญมา จันทูปโม) เป็นเจ้าอาวาส มีการก่อสร้างเขื่อนริมคลองลัดวัดใหม่และทำกำแพงล้อมรอบวัด สร้างสะพานข้ามคลองด้านหลังวัด ประชาชนได้ช่วยกันบริจาคซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่และศาลาการเปรียญในปัจจุบัน มีการหล่อหลวงพ่อใหญ่และดำเนินการนำไฟฟ้าเข้ามาในวัด ต่อมาในสมัยพระครูสิทธิธรรมโสภณ (สุเทพ ภูริปญฺโญ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ย้ายกุฏิสงฆ์ที่มีอยู่เดิมไปปลูกขึ้นใหม่ สร้างศาลาการเปรียญสองชั้น หอสวดมนต์ วิหารหลวงพ่อใหญ่ วิหารหลวงพ่อปาน หอระฆัง มณฑป ศาลาอเนกประสงค์ เมรุ ซุ้มประตูทางเข้าวัด กำแพงด้านหน้าวัด อุโบถหลังปัจจุบัน และวิหารหลวงปู่เทพโลกอุดร วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

พระอุโบสถหลังใหม่มีหน้าบันเป็นลายธรรมจักร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงวิถีชีวิต ประเพณี และการละเล่นต่าง ๆ ภายในประดิษฐานพระประธาน นามว่า พระพุทธพักตร์มุนีเทพพล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระวิหารซึ่งแต่เดิมคืออุโบสถหลังเก่า มีลักษณะทรงไทย หน้าบันด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ พระเจดีย์ศรีเทพพลสร้างในปี พ.ศ. 2559 ศาลาหลวงปู่เทพโลกอุดร ภายในประดิษฐานองค์หลวงปู่เทพโลกอุดร ภายนอกมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มณฑปหลวงพ่อโสธรหลวงปู่เจียมอดีตเจ้าอาวาส วิหารหลวงพ่อใหญ่ วิหารหลวงปู่ปาน และศาลาการเปรียญ

งานประเพณี แก้

งานประจำปีจะมีในช่วงตรุษไทย ราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน (ก่อนสงกรานต์ 3 วัน)

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • หลวงปู่รื่น
  • หลวงปู่ทุม
  • หลวงปู่แปล่ง
  • หลวงปู่เจียม
  • พระอาจารย์เปรื่อง
  • พระอาจารย์บุญมา
  • พระอาจารย์สุเทพ
  • พระครูวินัยธรยศดนัย อภิเสฏโฐ (เจ้าอาวาสปัจจุบัน)

อ้างอิง แก้

  1. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรีในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 247.
  2. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-26.