วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยูภายในกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ติดถนนราชภาคินัย มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา

วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์, วัดอุโมงค์, วัดอุโมงค์ (ใน), วัดโพธิ์น้อย, วัดมหาจันทร์, วัดอุโมงค์อริยมณฑล, วัดมหาพลอยสะหรีน้อยกลางเวียง
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ แต่เดิมชื่อว่า วัดโพธิ์น้อย วัดมหาจันทร์ วัดอุโมงค์อริยมณฑล หรือ วัดมหาพลอยสะหรีน้อยกลางเวียง ไม่ปรากฏในเอกสารโดยตรง แต่จะมีการกล่าวที่เกี่ยวกับวัดอุโมงค์นอกเมือง และพูดถึงวัดอุโมงค์ในเมืองเล็กน้อย การเรียกชื่ออุโมงค์จะเรียกชื่อตามหลักว่า หากเห็นอุโมงค์ในเมือง เรียก อุโมงค์อริยมลฑล อุโมงค์นอกเมือง เรียก อุโมงค์เถรจันทร์ แต่ปัจจุบันเกิดการสับสน จึงเรียกอุโมงค์ในเมืองว่า อุโมงค์เถรจันทร์ และเรียกอุโมงค์นอกเมืองว่า อุโมงค์สวนพุทธธรรม

จากการบอกเล่าว่าวัดทั้งสองนี้มีเจ้าอาวาสองค์เดียวกัน ตือ มหาเถรจันทร์ หรือเถรจันทร์ การที่มี 2 พระอาราม กล่าวว่าท่านสติไม่สู้ปกติ เวลาสติดีก็อยู่ในเมือง หากสติไม่สู้ดีก็จะไปอยู่วัดอุโมงค์นอกเมือง พระมหาเถรมีความรู้ปราดเปรื่องแตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม ในคัมภีร์ใบลานซึ่งถอดความโดย พระมหาหมื่นวัดหอธรรม (ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดเจดีย์หลวง) จะกล่าวถึงวัดอุโมงค์นอกเมือง และมีการผูกโยงถึงการมีวัดอุโมงค์ 2 แห่ง และมีเจ้าอาวาสองค์เดียวกัน หากเป็นเช่นตามเรื่องที่เล่า อาจกล่าวได้ว่าวัดอุโมงค์ในเมืองสร้างร่วมสมัยกับวัดอุโมงค์นอกเมือง

อีกแหล่งข้อมูลระบุว่า วัดสร้างราว พ.ศ. 1839–1840 ร้างโดยพระมหากษัตรืย์สามพระองค์เป็นสหายกันคือ พญามังรายมหาราช พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช[1] เมื่อ พ.ศ. 2461 พบว่าเป็นวัดร้าง อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1910 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1918 กรมศิลปากรได้มีการขึ้นทะเบียนตั้งแต่ พ.ศ. 2522

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

วิหารศิลปะล้านนาที่ย่อมุม ด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาซ้อนเป็นตับ มีมุขยื่นทางด้านเหนือด้านเดียว หางหงส์ประดับด้วยกระจกสี หน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักรูปสัตว์และดอกประจำยามติดกระจกสี โก่งคิ้วประดับไม้แกะสลักลายเครือเถาไม่มีรวงผึ้ง กรอบประตูเป็นซุ้มโค้ง มีพระพทธรูปปูนปั้น เสาประตูประดับลวดลายร่องชาด สร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24–25 เจดีย์องค์ใหญ่ที่อยู่หลังวิหาร สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12–22 เจดีย์องค์เล็กที่อยู่ด้านทิศใต้วิหาร อาจจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เจดีย์องค์เล็กซึ่งอยู่ด้านทิศใต้วิหาร เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด อาจมีอายุเก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ 21[2]

อุโบสถสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1839–1840 เป็นลักษณะทรงไทยแบบล้านนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขาว เสาและโครงหลังคาเป็นไม้สักทั้งหลัง ของเดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบ

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หรือ หลวงพ่อสมใจนึก สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1839–1840 เป็นพระประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิราบ หล่อด้วยโลหะปูนผสมเกศาดอกบัวตูม และลงรักปิดทองทับอีก มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.90 เมตร สูง 2.20 เมตร พระพุทธปฏิมากร (หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อใหญ่) สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1910–1914 เป็นพระประธานในวิหารหลวง หล่อด้วยปูนลงรักปิดทอง เกศาแบบเปลวเพลิง มีขนาดหน้าตัก 2.90 เมตร สูง 3.70 เมตร ในวิหารหลวงยังมีพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์สามปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์รมดำเกศาดอกบัวตูม มีขนาดกว้าง 77 เซนติเมตร สูง 1.05 เมตร ประดิษฐานหน้าพระประธาน (หลวงพ่อโต) และหลวงพ่อไร่หอม เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2057 ประดิษฐาน ณ วิหารหลวง[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดแรกก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่". รักษ์ศิลป์ไทย..ออกแบบ ก่อสร้าง วัด วิหาร อุโบสถ เจดีย์ งานปูนปั้น.
  2. "วัดอุโมงค์มหาเถร เชียงใหม่". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-11. สืบค้นเมื่อ 2022-01-11.
  3. "วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์".