วัดอัมพวัน (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร
สำหรับวัดอัมพวันแห่งอื่น ดูที่ วัดอัมพวัน

วัดอัมพวัน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

วัดอัมพวัน
วัดอัมพวัน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (9).jpg
Map
ชื่อสามัญวัดอัมพวัน, วัดอ่ำวัน
ที่ตั้งเลขที่ 1186 ซอยวัดอัมพวัน ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติแก้ไข

วัดอัมพวันสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปี พ.ศ. 2385 โดยพระยาราชชนะสงคราม (วัน) สร้างเพื่ออุทิศแด่มารดาชื่อ อ่ำ และได้ขนานนามว่า วัดอ่ำวัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดอัมพวัน" ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2395[1] การสร้างและบูรณะเสนาสนะส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมัยของพระครูโสภณวิริยคุณ ในช่วง พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ทั้งอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และอาคารพักรับรองเป็นต้น

อาคารเสนาสนะแก้ไข

อุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ที่มุมกำแพงมีเจดีย์ทรงเครื่องประดับอยู่ทั้ง 4 มุม ปัจจุบันได้รื้อกำแพงแก้วและเจดีย์มุมทั้งสองด้านอุโบสถออก ส่วนด้านหลังสร้างระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน โดยครอบเชื่อมต่อกับอุโบสถและใช้กำแพงแก้วเดิมเป็นผนังระเบียง อุโบสถเป็นทรงโรง ก่อหน้าบันกว้างประดับกรอบช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พื้นหน้าบันเรียบ ตกแต่งด้วยปูนปั้นลายดอกไม้ร่วงกระจายห่าง ๆ กัน ตรงกลางทำเป็นวงรี ทางข้างในสีแดง ติดด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบที่กลางวง ขอบวงรีประดับลายดอกไม้และริบบิ้น เหนือขึ้นไปสุดหน้าบันมีปูนปั้นลายพวงมาลัยระบายผ้า ปัจจุบันหน้าบันเหลือเห็นเฉพาะด้านหลังอุโบสถ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่ จิตรกรรมฝาผนังเขียนขึ้นใหม่ในสมัยปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีการวาดจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาการเปรียญ[2]

วัดยังมีซุ้มเจดีย์แบบพุทธคยา เนื่องจากอดีตเจ้าอาวาสผู้สร้างเคยไปเป็นพระธรรมทูตที่วัดไทย พุทธคยา ประเทศอินเดีย

อ้างอิงแก้ไข

  1. "วัดอัมพวัน". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  2. ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 52–56.