วัดสระแก้ว (จังหวัดอุบลราชธานี)

วัดในจังหวัดอุบลราชธานี

วัดสระแก้ว หรือ วัดใต้ เป็นวัดป่าอรัญวาสี สังกัดนิกายเถรวาท คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2406 โดย ท่านพนฺธุโล (ดี) พระมหาเถระผู้สถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ซึ่ง วัดสระแก้ว เป็นวัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายวัดที่ 5 ในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน วัดตั้งอยู่บริเวณ แก่งสะพือ ติดกับแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 45 กิโลเมตร

วัดสระแก้ว , วัดสระแก้ว แก่งสะพือ , วัดสระแก้ว พิบูลมังสาหาร
พระอุโบสถวัดสระแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสระแก้ว แก่งสะพือ, วัดสระแก้ว พิบูลมังสาหาร
ที่ตั้งตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย 34110
ประเภทวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี
นิกายเถรวาท ธรรมยุติกนิกาย
ผู้ก่อตั้งท่านพนฺธุโล (ดี) พระมหาเถระเมืองอุบลราชธานี
เจ้าอาวาสพระครูวิมลปทุมคุณ (อ.ประจักษ์)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดสระแก้ว เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอพิบูลมังสาหาร เดิมพื้นที่เป็นบริเวณ ปราสาทหินโบราณ อยู่ติดกับริมแม่น้ำมูลบริเวณ แก่งสะพือ ซึ่งมี สระน้ำโบราณ เชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งจะมีแสงคล้ายลูกแก้วลอยขึ้นจากสระน้ำโบราณพุ่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วลอยลงบริเวณ เนินภูเขาดิน หรือบางครั้งก็ลอยขึ้นจากเนินภูเขาดินมาลงที่สระน้ำโบราณ เมื่อมีการสร้างวัดขึ้นบริเวณทั้งสองแห่งนี้ จึงตั้งชื่อว่า วัดสระแก้ว และ วัดภูเขาแก้ว

ปี พ.ศ. 2402 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 เห็นว่า ในจำนวนบุตรทั้งหมดมีหลายคนซึ่งพอจะเป็น เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร ทำราชการให้แก่บ้านเมืองได้ จึงได้หมอบหมายให้ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี), ท้าวโพธิสาราช (เสือ), ท้าวสีฐาน (สาง) ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นบุตรที่เกิดจากหม่อมหมาแพงภรรยาคนที่ 2 ของ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) และ ท้าวขัติยะ (ผู) ซึ่งเป็นน้องต่างมารดาของท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เมื่อปรึกษาเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงสั่งให้จัดเรือและคนชำนาญร่องน้ำเพื่อหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ โดยล่องเรือไปทางทิศตะวันออกตามลำแม่น้ำมูล จนมาถึงบริเวณ แก่งสะพือ ได้สำรวจภูมิประเทศฝั่งขวาของแม่น้ำมูล ทางทิศตะวันตกของแก่งสะพือ เมื่อเห็นว่าภูมิสถานเหมาะแก่การตั้งบ้านเมืองได้ จึงทำการบุกเบิกป่าเพื่อสร้างเมืองพิบูลมังสาหารขึ้น

ปี พ.ศ. 2406 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3 และ ท่านพันธุโล (ดี) พระมหาเถระผู้สถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ซึงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหารในขณะนั้น ได้พิจารณาหาที่ตั้งวัดและเห็นว่า ภูมิสถานด้านตะวันออกเมืองพิบูลมังสาหารสมควรตั้งวัด ด้วยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญอยู่ก่อนแล้ว จึงมอบหมายให้ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) และ ท้าวสีฐาน (สาง) เป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดขึ้น โดยมี ท่านพนฺธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกและเป็นวัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแห่งที่ 5 ของจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ซึ่งในปีเดียวกันนี้ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เจ้าเมืองพิบูลมังสาหาร ได้สร้างศาลาโรงธรรม กุฎิ สิม(โบสถ์)น้ำกลางสระแก้วหรือสระน้ำโบราณเป็นที่สังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่ง สระแก้ว หรือ สระน้ำโบราณ อยู่ทางทิศเหนือของวัดในปัจจุบัน

ท่านพนฺธุโล (ดี) ถือเป็น ปุราณสหธรรมิก พระภิกษุรวมสำนักในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระองค์ทรงผนวชและได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ "ธรรมยุติกนิกาย" ขึ้นในประเทศไทย ต่อมาท่านพนฺธุโล (ดี) ได้นำขนบธรรมเนียมประพฤติปฏิบัติของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมาเผยแผ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 ได้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระสงฆ์ คณะธรรมยุต จึงได้สร้างวัดสุปัฏนารามวรวิหารให้เป็นสำนักของ ท่านพนฺธุโล (ดี) และคณะ จึงถือได้ว่า วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตหรือธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน และเป็นการเริ่มต้นของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในภาคอีสานอีกด้วย หลังจากนั้นคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจึงได้แพร่หลายในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุที่ ท่านพนฺธุโล (ดี) รับเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกด้วยตนเองนั้น เพราะ พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เจ้าเมืองพิบูลมังสาหาร เป็นศิษย์ที่ท่านโปรดปรานและให้ความเมตตาเป็นอย่างมาก และในปัจฉิมวัยของ ท่านพนฺธุโล (ดี) ก็ได้มรณภาพ ณ วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้

พระพุทธรูปและโบราณวัตถุสำคัญ

แก้

1. พระพุทธมุตตระมงคลมุจลินท์ แผ่นดินสุขสันต์ (พระเจ้าใหญ่สัมฤทธิ์) องค์ขนาด 80 นิ้ว สูง 6.80 เมตร น้ำหนัก 2,500 กิโลกรัม หล่อด้วยทองสัมฤทธ์ ได้ทำพิธีถวายที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู พ.ศ. 2552 และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดสระแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู พ.ศ. 2552 ซึ่งจัดสร้างโดย พระครูภาวนาจิตสุนทร เจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส พร้อมด้วยศรัทธาญาติโยมและศิษย์ของท่าน

2. ซากปราสาทหิน โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐาน เทวรูป ด้วยความเชื่อตามคติพราหมณ์ที่ว่า เมื่อตายแล้วก็จะกลับเข้าสู่พรหม ปัจจุบันองค์ปราสาทได้ถูกทำลายลงไปด้วยกาลเวลา ซึ่งในราวปี พ.ศ. 2490 ยังคงเหลือแต่พื้นศิลา ปรากฏที่ใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ของวัดสระแก้ว ซึ่งเชื่อว่ามีการสร้างคู่กันกับปราสาทหินอีกฟากของแก่งสะพือมีแม่น้ำมูลคั่นกลางที่ปรากฏในบริเวณโรงเรียนบ้านสะพือใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และมีโบราณสถานรายล้อมรอบอาณาบริเวณ มีตั้งแต่บ่อน้ำ สระน้ำโบราณ ตามหลักสถาปัตยกรรมในการปลูกสร้างตามรูปแบบความเชื่อเรื่องศูนย์กลางของจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

3. ใบเสมา เป็นหินทรายสีแดงที่บ่งบอกถึงความเจริญทางอารยธรรมของชนเผ่าที่แสดงถึงขอบเขตการขยายตัวทางความเชื่อและศาสนา ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของใบเสมาในเขตของภาคอีสานยังมีอีกมากมาย เช่น เสมาหินบ้านบุ่งผักก้าม ถูกค้นพบที่วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเสมาหินที่มีการกำหนดอายุโดยวิธีทางโบราณคดี โดยใช้วิธีเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์และศิลปะ โดยศึกษาจากศิลปะโบราณวัตถุ สถานที่ที่มีลักษณะรูปแบบลวดลายใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกับศิลปะโบราณวัตถุจากประเทศใกล้เคียง และคัมภีร์ที่ให้อิทธิพลการกำหนดรูปแบบสลักบนใบเสมา จึงกำหนดอายุได้ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13 - 16 มีอายุไม่ต่ำกว่า 900 – 1,200 ปี เป็นแบบศิลปะทวาราวดี เสมาหินที่พบมีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดปักรวมกันอยู่ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว บางใบเป็นหินทรายสีแดงมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกันตรงกลางมีลวดลายรูปสถูปเจดีย์ประดับอยู่เกือบทุกใบ บางใบเป็นหม้อ "ปูรณฆฏะ" ประกอบลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

4. ฐานศิวลึงค์ อุโรจนะเป็นฐานที่ตั้งศิวลึงค์ที่รอบ ๆ ฐานมีภาพจำหลักที่มีลักษณะคล้าย เต้านมหญิงสาว ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อตามคตินิยมให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชาวโลกให้มีชีวิตที่บริบูรณ์ เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

5. แผ่นศิลาอักษรปัลลวะ เป็นศิลาประเภทหินทราย ขนาดกว้าง 45 เซนติเมตร สูง 63 เซนติเมตร หนา 16.5 เซนติเมตร เรียกกันว่า “ศิลาจารึกวัดสระแก้ว” ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จารึกมีจำนวน 1 ด้าน 3 บรรทัด แต่ชำรุดเกือบทั้งด้าน เหลืออ่านได้เพียง 2 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งไม่ครบบรรทัดและที่อ่านได้ปรากฏชื่อของ มหิปติวรมัน เท่านั้น ชื่อนี้ ไม่ปรากฏในทำเนียบพระมหากษัตริย์ของเมืองพระนคร ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า มหิปติวรมัน นี้น่าจะเป็นผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งอาจจะได้รับอำนาจการปกครองมาจากเมืองพระนครให้ปกครองแว่นแคว้นแห่งนี้

6. ทับหลังวัดสระแก้ว โดยเดิมทีได้มีการขุดค้นพบทับหลัง จำนวน 2 แผ่น ซึ่งในแต่ละแผ่นนั้นมีลวดลาย เรื่องราวที่มีความแตกต่างกัน และอาจเป็นคนละสมัยก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะของทับหลังนั้นจะอยู่ในตำแหน่งของส่วนบนของกรอบประตู แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ทับหลังจริงทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักของส่วนบนของอาคารให้น้ำหนักนั้นเฉลี่ยและถ่ายลงบนทั้งสองข้างของกรอบประตูซึ่งมีเสารองรับอยู่ ส่วนทับหลังประดับนั้นวางอยู่เป็นส่วนหนึ่งของทับหลังจริง ใช้ประดับซุ้มประตูโดยมีการสลักลวดลายต่างๆโดยไม่มีหน้าที่รับนำหนักอาคารปลายทั้งสองด้าน

- ทับหลังแผ่นที่ 1 ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเมง มีลักษณะเป็นหินทรายสีแดงอมชมพู เป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มีวงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลักษณะลวดลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ดังนั้น รูปแบบนี้คงอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 รูปร่างตอนกลางสลักลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทนลายวงโค้ง มีลายอุบะดอกไม้ห้อยลงด้านล่าง และลายช่อดอกไม้ด้านบน ที่กรวยด้านข้างสลักลายดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง

- ทับหลังแผ่นที่ 2 เป็นศิลปะเขมรแบบถาราบริวัตร ได้นำไปเก็บไว้ที่โบสถ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ของวงโค้งสลักเป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มี วงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ลักษณะลวดลาย คลี่คลายมาจากลวดลาย แบบสมโบร์ไพรกุก

 
เทวรูป พระพือ ณ วัดสระแก้ว

7. พระพือ เป็นแผ่นหินทรายที่จารเป็นลายเส้นลักษณะของ เทวรูป ในท่าประทับนั่ง หัตถ์ขวาทรง จักร และหัตถ์ซ้ายทรง ดอกบัว เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ค้นพบที่บริเวณร่องน้ำลึกกลางแก่งสะพือที่เรียกว่า แปวเดือนห้า ในลำแม่น้ำมูล ซึ่ง เทวรูป นี้เป็นความเชื่อในคติพราหมณ์ อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ คนโบราณได้เคารพนับถือสืบกันมาจนปัจจุบัน และในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ทุกปี ได้มีการนำออกมาให้ประชาชนชาวอำเภอพิบูลมังสาหารเคารพสักการะและสรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว แล้วจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในอุโบสถของวัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

8. สระแก้ว เป็นสระน้ำโบราณที่ขุดขึ้นคู่กับปราสาทหิน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดสระแก้ว ตามความเชื่อของขอมโบราณเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือสระน้ำที่ใช้เป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะเข้าสู่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้ร่างกายให้เกิดความบริสุทธิ์ มีความยาว 79 เมตร กว้าง 35 เมตร ลึก 3 เมตร มีแม่น้ำมูลเป็นลำน้ำสายสำคัญ ซึ่งผู้คนปลายน้ำจำเป็นต้องใช้ดื่มใช้กิน เมื่อน้ำไหลไปถึงไหนก็ทำให้เห็นว่า ผู้คนจะสัมพันธ์กับสายน้ำ มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำมูล เพราะหลังประกอบพิธีกรรมลำน้ำทั้งสายจะกลายเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นสายน้ำบริสุทธิ์ สายน้ำจะแสดงความมั่งคั่งของชนเผ่า ลำน้ำมูลสายนี้อาจมีความเชื่อว่าได้ไหลลงมาจากยอดเขา คล้ายกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย เป็นเรื่องราวความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งพิธีกรรมที่จะกระทำในสระน้ำจะต้องมีผู้แทนแต่งการนุ่งขาว ห่มขาว แล้วจุดธูป เทียน ดอกไม้ ไปบูชาทวยเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วตักน้ำไปประกอบพิธีกรรม

อ้างอิง

แก้
  • รศ.ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์. พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม) วันป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โครงการหนังสือบูรพาจารย์อิสานใต้ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : บริษัท พี.เอ.ลีพวิ่ง จำกัด, 2554. หน้า 212 - 224.
  • คณะกรรมการ. พิบูลมังสาหาร 139 ปี. อุบลราชธานี : เพิ่มพูลการพิมพ์, 2545.
  • คณะกรรมการ. อุบลราชธานี 200 ปี. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2535.
  • เรวัต สิงห์เรือง. แก่งสะพือ แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้, 2 กันยายน พ.ศ. 2553.
  • เรวัต สิงห์เรือง และคณะ. รายงานโครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแก่งสะพือแบบมีส่วนร่วม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. สกว. อุบลราชธานี, 2549.
  • ภาพประกอบ : Benjawan Tararom. (2556). วัดสระแก้ว, 28 พฤกษาคม 2556. http://www.panoramio.com/photo/53348321 เก็บถาวร 2017-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ภาพประกอบ :สักการะ "พระพือ" เทวรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิบูลมังสาหาร. http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=70&d_id=70 เก็บถาวร 2017-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน