อำเภอพิบูลมังสาหาร

อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย

พิบูลมังสาหาร เดิมคือ เมืองพิมูลมังษาหาร เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากอำเภอเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 45 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217

อำเภอพิบูลมังสาหาร
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phibun Mangsahan
แก่งสะพือ
แก่งสะพือ
คำขวัญ: 
พิบูลมังสาหารงามวิไล พระปรมาภิไธยล้ำค่า
พระบำรุงราษฎร์เด่นตระการตา มหาสงกรานต์แก่งสะพือ
เลื่องลือเมืองฆ้อง เกริกก้องวัดภูเขาแก้ว
ผ่องแผ้วบวรวัดดอนธาตุ วิจิตรมาศศาลหลักเมือง
แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี เน้นอำเภอพิบูลมังสาหาร
แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี เน้นอำเภอพิบูลมังสาหาร
พิกัด: 15°14′40″N 105°13′44″E / 15.24444°N 105.22889°E / 15.24444; 105.22889
ประเทศ ไทย
จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่
 • ทั้งหมด789.150 ตร.กม. (304.693 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด129,614 คน
 • ความหนาแน่น164.25 คน/ตร.กม. (425.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 34110
รหัสภูมิศาสตร์3419
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอพิบูลมังสาหาร ถนนเทศบาล 2 ตำบลพิบูลมังสังหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี 34110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ประวัติ

แก้

อำเภอพิบูลมังสาหาร เดิมชื่อ บ้านกว้างลำชะโด พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ได้ขอตั้งขึ้นเป็นเมิอง เจ้าพระยากำแหงสงคราม จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก บ้านกว้างลำชะโด เป็น เมืองพิมูลมังษาหาร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจศกจุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2406 และโปรดเกล้าตั้ง ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เป็น พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2443 ลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอพิมูลมังษาหาร เป็น อำเภอพิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน

มูลเหตุการตั้งเมืองพิบูลมังสาหาร

แก้

ปี พ.ศ. 2402 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 เห็นว่า ในจำนวนบุตรทั้งหมดมีหลายคนซึ่งพอจะเป็น เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร ทำราชการให้แก่บ้านเมืองได้ จึงได้หมอบหมายให้ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี), ท้าวโพธิสาราช (เสือ), ท้าวสีฐาน (สาง) ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นบุตรที่เกิดจากหม่อมหมาแพงภรรยาคนที่ 2 ของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) และ ท้าวขัติยะ (ผู) ซึ่งเป็นน้องต่างมารดาของ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ปรึกษาราชการงานเมือง เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว จึงสั่งให้จัดเรือและคนชำนาญร่องน้ำเพื่อหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ โดยล่องเรือไปทางทิศตะวันออกตามลำแม่น้ำมูล จนถึง แก่งสะพือ ได้จอดเรือและข้ามไปสำรวจภูมิประเทศฝั่งขวาแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกของแก่งสะพือ เมื่อเห็นว่าภูมิสถานเหมาะแก่การตั้งเมืองได้ จึงทำการบุกเบิกป่าตั้งแต่แก่งสะพือไปถึงห้วยบุ่งโง้ง ให้พอที่จะตั้งบ้านเรือนได้ 30-80 ครอบครัว พระพรหมราชวงศา เจ้าเมืองอุบลราชธานี จึงได้จัดราษฎรเข้าไปอยู่หลายครอบครัว พร้อมทั้งให้ ท้าวไชยมงคล และ ท้าวอุทุมพร ผู้เป็นญาติลงไปอยู่ด้วย แล้วตั้งชื่อว่า บ้านกว้างลำชะโด เนื่องจากอาณาบริเวณตั้งอยู่ใจกลางของ 2 ลำห้วย คือ ห้วยกว้าง อยู่ทางทิศตะวันออกและ ห้วยชะโด อยู่ทางทิศตะวันตก

ปัจจัยที่เอื้อต่อการตั้งเมืองพิบูลมังสาหาร

แก้

1.1 พระราโชบายของพระมหากษัตริย์สยาม หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาพแตกกระจายเป็นก๊กเป็นเหล่า จึงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมไพล่พลให้เป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นเมือง จึงมีพระราโชบายให้จัดตั้งเมืองขึ้นและได้ถือเป็นแนวปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆมา ดังนั้น เมื่อมีเจ้าเมืองใดขอตั้งเมืองใหม่จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองได้ตามประสงค์

1.2 การปกครอง พระพรหมวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 (พ.ศ. 2388-2409) มีบุตรหลายคน และเห็นว่า ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เป็นบุตรคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญาเฉียบแหลมและกล้าหาญ เมื่อตั้งเป็นเจ้าเมืองแล้ว ย่อมปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้มีความร่มเย็นสงบสุขได้ และเป็นการขยายเขตการปกครองเพิ่มขึ้นด้วย

1.3 แหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลที่อุดมสมบูรณ์ ดินดีเหมาะแก่การเพาะปลูก มีแหล่งน้ำสาขาหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำมูล จึงทำให้บริเวณนี้อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและสัตว์น้ำนานาชนิด เหมาะแก่การทำไร่ไถนาปลูกข้าว ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเสบียงอาหารทั้งในยามสงบและเมื่อมีศึกสงคราม

1.4 เมืองหน้าด่าน ในขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสได้แผ่ขยายล่าอาณานิคมเพื่อหาเมืองขึ้นในประเทศเวียดนามและเขมร ได้ขยายเข้ามาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและมีทีท่าว่าจะรุกล้ำเข้ามาตามลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งหากมีการรุกล้ำดินแดนเกิดขึ้นจริง เมืองพิบูลมังสาหารจะเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถต่อต้านข้าศึกสกัดกั้นไม่ให้ศัตรูเข้ามาถึงเมืองอุบลราชธานีโดยง่าย

โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองพิบูลมังสาหาร

แก้

ปี พ.ศ. 2406 เมื่อ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ได้ตั้ง บ้านกว้างลำชะโด ขึ้นแล้ว ต่อมามีราษฎรเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้นพอที่จะตั้งเป็นเมืองได้ จึงจัดสร้างศาลาว่าการขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลแล้วรายงานไปยัง พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ซึ่งเจ้าเมืองอุบลราชธานีก็เห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกกราบเรียนไปยัง เจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก บ้านกว้างลำชะโด เป็น เมืองพิมูลมังษาหาร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจศกจุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2406 และโปรดเกล้าตั้ง ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เป็น พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เป็นเจ้าเมืองคนแรก, ให้ ท้าวโพธิสาราช (เสือ) เป็นอุปฮาด (อุปราช), ให้ ท้าวสีฐาน (สาง) เป็นราชวงศ์, ให้ ท้าวขัติยะ (ผู) เป็นราชบุตร ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช

ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก บ้านกว้างลำชะโด เป็น เมืองพิมูลมังษาหาร นั้น เห็นจะให้ตรงกับชื่อแม่น้ำซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ลำน้ำมูล และเพื่อให้ เมืองพิมูลฯ เป็นคู่กับ เมืองพิมาย ซึ่งตั้งอยู่เหนือลำน้ำมูลขึ้นไป และตามพระราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมาในการตั้งเมืองขึ้นใหม่ พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมือง นามเจ้าเมือง พร้อมบรรดาศักดิ์และพระราชทานเครื่องยศส่วนเจ้าเมืองตามฐานะเมืองนั้นๆด้วย

เจ้าเมืองและคณะอาญาสี่เมืองพิบูลมังสาหาร

แก้

พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองและคณะอาญาสี่ หรือคณะอาชญาสี่ ที่ปกครองเมืองก่อนการปฏิรูปการปกครอง ดังนี้

 
อนุสาวรีย์พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)

อุปฮาด ท้าวโพธิสาราช (เสือ)

ราชวงศ์ ท้าวสีฐาน (สาง)

ราชบุตร ท้าวขัติยะ (ผู)

  • เจ้าเมือง พระบำรุงราษฎร์ (ผู) นามเดิม ท้าวขัติยะ (ผู) ครองเมือง พ.ศ. 2430-2455

อุปฮาด ท้าวลอด เป็นบุตรของพระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)

ราชวงศ์ ท้าวมิน เป็นบุตรของพระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)

ราชบุตร ท้าวแสง เป็นบุตรของพระบำรุงราษฎร์ (ผู)

ลำดับความเป็นมาของอำเภอพิบูลมังสาหาร

แก้

ปี พ.ศ. 2443 หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ขึ้น ทางราชการจึงได้ลดฐานะ เมืองพิมูลมังษาหาร เป็น อำเภอพิมูลมังษาหาร ให้พระบำรุงราษฎร์ (ผู) เจ้าเมืองคนที่ 2 เป็นนายอำเภอพิบูลมังสาหาร มีอาณาเขตกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 3,646.24 ตารางกิโลเมตร

ปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอพิมูลมังษาหาร เป็น อำเภอพิบูลมังสาหาร

ปี พ.ศ. 2502 กิ่งอำเภอด่านปากมูล สังกัดอำเภอพิบูลมังสาหาร ประกอบด้วย ด่านปากมูล สุวรรณวารี บ้านด่านและโขงเจียม ได้ยกฐานะเป็น อำเภอบ้านด่าน ต่อมาปี พ.ศ. 2514 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโขงเจียม และอำเภอโขงเจียมเดิมได้รับพระราชทานเปลี่ยนนามเป็นอำเภอศรีเมืองใหม่ ในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2521 ทางราชการได้แยกพื้นที่ตำบลตาลสุม ตำบลจิกเทิง ตำบลสำโรง ออกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร และตั้งตำบลขึ้นใหม่อีก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองกุง ตำบลนาคาย ตำบลคำหว้า แยกออกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2521 ยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอตาลสุม และเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 ได้ยกฐานะเป็น อำเภอตาลสุม ในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2534 จังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้ง อำเภอสิรินธร เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่มีพระชนมายุครบ 36 พรรษาในปี พ.ศ. 2534 ทางราชการจึงได้แยกตำบลคำเขื่อนแก้ว ของอำเภอโขงเจียม และตำบลคันไร่ ตำบลช่องเม็ก ตำบลโนนก่อ ตำบลนิคมลำโดมน้อย ตำบลฝางคำ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอมีชื่อว่า อำเภอสิรินธร ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอสิรินธร พ.ศ. 2534 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2535

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้
 
แผ่นหินพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ณ แก่งสะพือ
  • ที่ตั้ง : ถนนเทศบาล 2 ตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  • ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี 45 กิโลเมตร
  • ห่างจากกรุงเทพมหานคร 691 กิโลเมตร

อำเภอพิบูลมังสาหารตั้งอยู่ทางตอนกลาง ค่อนไปทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

อาณาจักรและโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง

แก้
 
จารึกวัดสระแก้ว มี 1 ด้าน 3 บรรทัด : ภาพสำเนาจารึกจาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-08, ไฟล์; OB_008)

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ราวพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันเสื่อมสลาย อาณาจักรเจนละได้เข้ามาครอบครองแทนที่ โดยที่กษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าภวรมันที่ 1 เป็นปฐมกษัตริย์ที่มีอำนาจและได้ปกครองดินแดนบริเวณนี้ อาณาจักรเจนละมีอิทธิพลระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-14 มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่วัดภู แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและแผ่ขยายอำนาจในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางถึงตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชีในภาคอีสานของประเทศไทยในปัจจุบัน จึงแสดงให้เห็นได้ว่าบริเวณที่เป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ของอาณาจักรเจนละมาก่อนนั่นเอง กษัตริย์องค์สำคัญของอาณาจักรเจนละ คือ พระเจ้าจิตรเสน ซึ่งได้เฉลิมพระนามว่า ศรีมเหนทรวรมัน และโอรสของพระเจ้าจิตรเสนคือ อีสานวรมัน ทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง ทรงตั้งเมือง อีสานปุระ เป็นเมืองหลวง เชื่อว่าตั้งอยู่ทางเหนือของนครธม ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน อาณาจักรเจนละมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับดินแดนภาคอีสานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวค่อนข้างมาก เพราะได้พบร่องรอยหลักฐานทางศิลปะและโบราณวัตถุมากมาย เช่น ปราสาทวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ อันเป็นที่ประดิษฐาน เทพเจ้าภัทเรศวร หลักศิลาจารึกอักษรปัลลวะบริเวณปากมูล เป็นต้น ส่วนในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหารนั้น ได้พบซากโบราณวัตถุหินทรายบริเวณแก่งสะพือ พบสระน้ำโบราณที่วัดสระแก้ว (วัดใต้) พบซากปราสาทหินและฐานศิวลึงค์บริเวณวัดสระแก้วและโรงเรียนบ้านสะพือใต้ พบจารึกวัดสระแก้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14 พบ ทับหลัง ที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และเก็บไว้ที่โบสถ์วัดสระแก้วในขณะนี้

แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำมูลเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงชายขอบแอ่งโคราชที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 500 เมตรได้มีชนเผ่าโบราณอาศัยอยู่มานานประมาณยุคโลหะ อายุเฉลี่ยราว 2,700 – 1,500 ปี มีการดำรงชีวิตอยู่ตามถ้ำและเนินเขาได้เทียบเคียงกับการขุดค้นพบเครื่องมือ อาวุธ และเครื่องดำรงชีวิตที่ บ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ ปี พ.ศ. 2548 และที่บริเวณ บ้านสะพือใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร ได้มีการขุดพบวัตถุโบราณที่เป็นหม้อ ไห ถ้วย ชามดินเผา กำไล และเครื่องมือสำริด ซึ่งพอสรุปได้ว่าในแถบลุ่มน้ำมูลตอนล่างบริเวณ แก่งสะพือ เคยมีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่มานานแล้ว เคยเป็นแหล่งอารยธรรมมาก่อนดังปรากฏที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ในบริบทของบริเวณ แก่งสะพือ ได้ปรากฏว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่เห็นได้ชัดเจนสืบต่อกันมานานหลายชั่วอายุคน มีตำนานเล่าขานของแหล่งงูใหญ่ในเกาะแก่งแห่งแม่น้ำมูล ซึ่งคำว่า สะพือ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาส่วยหรือกวยหรือเขมรป่าดง มาจากคำว่า กะไซพรืด (กะไซ แปลว่า งู , พรืด แปลว่า ใหญ่) ต่อมาเพี้ยนเป็น ซำพรืด จนในที่สุดเพี้ยนมาเป็น สะพือ ดังนั้น แก่งสะพือ จึงมีความหมายในภาษาไทยว่า แก่งงูใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่เชื่อกันว่ามีงูใหญ่อาศัยอยู่บริเวณนี้เพื่อปกปักรักษาทรัพย์สมบัติอันทรงคุณค่า บ้างก็ว่าเป็นพญานาคเจ้าเมืองโบราณคอยปกปักรักษาบ้านเมือง บ้างก็ว่าเป็นทหารที่มารักษาเทวาลัยในวัดสระแก้วและศาลเจ้าพ่อพละงุม อย่างไรก็ตาม บริเวณแก่งสะพือได้มีวัตถุโบราณล้ำค่าปรากฏให้เห็นดังนี้

1. ซากปราสาทหิน โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐาน เทวรูป ด้วยความเชื่อตามคติพราหมณ์ที่ว่า เมื่อตายแล้วก็จะกลับเข้าสู่พรหม ปัจจุบันองค์ปราสาทได้ถูกทำลายลงไปด้วยกาลเวลา ซึ่งในราวปี พ.ศ. 2490 ยังคงเหลือแต่พื้นศิลา ปรากฏที่ใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ของวัดสระแก้ว ซึ่งเชื่อว่ามีการสร้างคู่กันกับปราสาทหินอีกฟากของแก่งสะพือมีแม่น้ำมูลคั่นกลางที่ปรากฏในบริเวณโรงเรียนบ้านสะพือใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และมีโบราณสถานรายล้อมรอบอาณาบริเวณ มีตั้งแต่บ่อน้ำ สระน้ำโบราณ ตามหลักสถาปัตยกรรมในการปลูกสร้างตามรูปแบบความเชื่อเรื่องศูนย์กลางของจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

2. ใบเสมา เป็นหินทรายสีแดงที่บ่งบอกถึงความเจริญทางอารยธรรมของชนเผ่าที่แสดงถึงขอบเขตการขยายตัวทางความเชื่อและศาสนา ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของใบเสมาในเขตของภาคอีสานยังมีอีกมากมาย เช่น เสมาหินบ้านบุ่งผักก้าม ถูกค้นพบที่วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเสมาหินที่มีการกำหนดอายุโดยวิธีทางโบราณคดี โดยใช้วิธีเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์และศิลปะ โดยศึกษาจากศิลปะโบราณวัตถุ สถานที่ที่มีลักษณะรูปแบบลวดลายใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกับศิลปะโบราณวัตถุจากประเทศใกล้เคียง และคัมภีร์ที่ให้อิทธิพลการกำหนดรูปแบบสลักบนใบเสมา จึงกำหนดอายุได้ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13 - 16 มีอายุไม่ต่ำกว่า 900 – 1,200 ปี เป็นแบบศิลปะทวาราวดี เสมาหินที่พบมีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดปักรวมกันอยู่ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว บางใบเป็นหินทรายสีแดงมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกันตรงกลางมีลวดลายรูปสถูปเจดีย์ประดับอยู่เกือบทุกใบ บางใบเป็นหม้อ "ปูรณฆฏะ" ประกอบลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

3. ฐานศิวลึงค์ อุโรจนะเป็นฐานที่ตั้งศิวลึงค์ที่รอบ ๆ ฐานมีภาพจำหลักที่มีลักษณะคล้าย เต้านมหญิงสาว ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อตามคตินิยมให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชาวโลกให้มีชีวิตที่บริบูรณ์ เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

4. แผ่นศิลาอักษรปัลลวะ เป็นศิลาประเภทหินทราย ขนาดกว้าง 45 เซนติเมตร สูง 63 เซนติเมตร หนา 16.5 เซนติเมตร เรียกกันว่า “จารึกวัดสระแก้ว” ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จารึกมีจำนวน 1 ด้าน 3 บรรทัด แต่ชำรุดเกือบทั้งด้าน เหลืออ่านได้เพียง 2 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งไม่ครบบรรทัดและที่อ่านได้ปรากฏชื่อของ มหิปติวรมัน เท่านั้น ชื่อนี้ ไม่ปรากฏในทำเนียบพระมหากษัตริย์ของเมืองพระนคร ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า มหิปติวรมัน นี้น่าจะเป็นผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งอาจจะได้รับอำนาจการปกครองมาจากเมืองพระนครให้ปกครองแว่นแคว้นแห่งนี้

5. ทับหลังวัดสระแก้ว โดยเดิมทีได้มีการขุดค้นพบทับหลัง จำนวน 2 แผ่น ซึ่งในแต่ละแผ่นนั้นมีลวดลาย เรื่องราวที่มีความแตกต่างกัน และอาจเป็นคนละสมัยก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะของทับหลังนั้นจะอยู่ในตำแหน่งของส่วนบนของกรอบประตู แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ทับหลังจริงทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักของส่วนบนของอาคารให้น้ำหนักนั้นเฉลี่ยและถ่ายลงบนทั้งสองข้างของกรอบประตูซึ่งมีเสารองรับอยู่ ส่วนทับหลังประดับนั้นวางอยู่เป็นส่วนหนึ่งของทับหลังจริง ใช้ประดับซุ้มประตูโดยมีการสลักลวดลายต่างๆโดยไม่มีหน้าที่รับนำหนักอาคารปลายทั้งสองด้าน

- ทับหลังแผ่นที่ 1 ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเมง มีลักษณะเป็นหินทรายสีแดงอมชมพู เป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มีวงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลักษณะลวดลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ดังนั้น รูปแบบนี้คงอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 รูปร่างตอนกลางสลักลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทนลายวงโค้ง มีลายอุบะดอกไม้ห้อยลงด้านล่าง และลายช่อดอกไม้ด้านบน ที่กรวยด้านข้างสลักลายดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง

- ทับหลังแผ่นที่ 2 เป็นศิลปะเขมรแบบถาราบริวัตร ได้นำไปเก็บไว้ที่โบสถ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ของวงโค้งสลักเป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มี วงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ลักษณะลวดลาย คลี่คลายมาจากลวดลาย แบบสมโบร์ไพรกุก

 
เทวรูป พระพือ ณ วัดสระแก้ว

6. พระพือ เป็นแผ่นหินทรายที่จารเป็นลายเส้นลักษณะของ เทวรูป ในท่าประทับนั่ง หัตถ์ขวาทรง จักร และหัตถ์ซ้ายทรง ดอกบัว เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ค้นพบที่ร่องน้ำลึกกลางแก่งสะพือบริเวณที่เรียกว่า แปวเดือนห้า ในลำแม่น้ำมูล ซึ่ง เทวรูป นี้เป็นความเชื่อในคติพราหมณ์ อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ คนโบราณได้เคารพนับถือสืบกันมาจนปัจจุบัน และในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ทุกปี ได้มีการนำออกมาให้ประชาชนชาวอำเภอพิบูลมังสาหารเคารพสักการะและสรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว แล้วจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในอุโบสถของวัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

7. สระแก้ว เป็นสระน้ำโบราณที่ขุดขึ้นคู่กับปราสาทหิน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดสระแก้ว ตามความเชื่อของขอมโบราณเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือสระน้ำที่ใช้เป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะเข้าสู่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้ร่างกายให้เกิดความบริสุทธิ์ มีความยาว 79 เมตร กว้าง 35 เมตร ลึก 3 เมตร มีแม่น้ำมูลเป็นลำน้ำสายสำคัญ ซึ่งผู้คนปลายน้ำจำเป็นต้องใช้ดื่มใช้กิน เมื่อน้ำไหลไปถึงไหนก็ทำให้เห็นว่า ผู้คนจะสัมพันธ์กับสายน้ำ มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำมูล เพราะหลังประกอบพิธีกรรมลำน้ำทั้งสายจะกลายเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นสายน้ำบริสุทธิ์ สายน้ำจะแสดงความมั่งคั่งของชนเผ่า ลำน้ำมูลสายนี้อาจมีความเชื่อว่าได้ไหลลงมาจากยอดเขา คล้ายกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย เป็นเรื่องราวความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งพิธีกรรมที่จะกระทำในสระน้ำจะต้องมีผู้แทนแต่งการนุ่งขาว ห่มขาว แล้วจุดธูป เทียน ดอกไม้ ไปบูชาทวยเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วตักน้ำไปประกอบพิธีกรรม

8. เจ้าพ่อพละงุม เป็นมเหศักดิ์ของชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่เคารพนับถือกันมาก บางความเชื่อกล่าวว่าเป็นเชื้อเจ้าชาวเมืองนครจำปาศักดิ์ ที่มาตรวจราชการได้ถึงแก่ อนิจกรรมลงที่ข้างสระแก้ว เหล่าทหารจึงฝังศพพละงุมพร้อมกับแก้วแหวนเงินทอง อาวุธ ไว้ที่นั่น หรืออีกนัยหนึ่งเชื่อว่าอาจเป็นทหารที่ปกปักรักษาคุ้มครองปราสาทหินที่สร้างขึ้นมาดังปรากฏตามแผ่นหินที่ค้นพบเป็นรูปแกะสลักเทวรูปบนหินทรายที่รอการไขปริศนาอยู่ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันได้มีการสร้างศาลขึ้นโดยคนไทยเชื้อสายจีนพิบูลมังสาหาร อย่างสวยงามเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะโดยมีพิธีบวงสรวงบูชาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี

9. แท่นหิน 3 ชั้น เป็นแท่นปูนซีเมนต์ ที่ยึดติดกับหินที่ใจกลางแก่งสะพือ ห่างจากฝั่ง 80 เมตร ที่มีส่วนผสมของหินกรวด ทราย และซีเมนต์ ชั้นแรกฐานเป็นหินทรายตามธรรมชาติ ชั้นที่ 2 กว้าง 2.01 เมตร สูง 0.70 เซนติเมตร และชั้นบนสุดกว้าง 1.48 เมตร สูง 0.56 เมตร มีรูตรงกลางเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.45 เมตร ลึก 1.25 เมตรเป็นที่สำหรับปักเสาประภาคารในการกำหนดเส้นทางเดินเรือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามอินโดจีน

10. ตึกดิน ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงราษฎร์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากแก่งสะพือประมาณ 120 เมตร จากการค้นคว้าทราบได้ว่าเป็นอาคารพานิชย์สร้างในราว พ.ศ. 2475 โดยช่างชาวจีนและชาวญวนที่อพยพ ค้าขายมาทางเรือกลไฟตามลำน้ำมูล โดยเป็นสถาปัตยกรรม อาคารตึกดินชั้นเดียวแบบจีน มีลักษณะของตัวอาคารก่อสร้างด้วยอิฐดินดิบที่มีส่วนผสมของดินเหนียว แกลบ ฟางข้าว น้ำอ้อย กาวหนัง และยางบงที่นวดเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงขึ้นรูปเป็นก้อน สี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อนำไปตากแดดจนแห้งจึงนำมาก่อเป็นผนังอาคาร สอด้วยดินโคลนแล้วจึงฉาบด้วย สะทายโบก ที่มีส่วนผสมของปูนขาว 5 ส่วน ทราย 7 ส่วน น้ำอ้อย 2 ส่วน น้ำหนัง 1 ส่วน และยางบง 9 ส่วน ทำให้มีการระบายถ่ายเท ของอากาศได้ดีเพราะที่เหนือเพดานขึ้นไปใช้ไม้ไผ่ขัดปูทับด้วยดินเหนียวก่อนจึงมุงด้วยสังกะสี เหนือประตูขึ้นไปหรือที่เรียกว่า หน้าบรรณ ฉาบด้วยปูนสอเป็นลายดอกพิกุล หรือบางอาคารเป็นลายไม้ฉลุ และตึกดินหลังนี้ ท่านประธานโฮจิมินห์แห่งเวียดนามเคยมาลี้ภัยอยู่ระยะหนึ่ง

11. โบราณสถานดอนขุมเงิน ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านสะพือ หมู่ที่ 6 ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล ห่างจากโบราณคดีศาลเจ้าปู่ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 1,300 เมตร โดยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 124 ง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา สภาพปัจจุบัน เป็นซากฐานปราสาทหิน พบแหล่งหินทรายขนาดใหญ่ และอิฐจำนวนมาก และพบชิ้นหินทรายเป็นส่วนประกอบของอาคารด้านสถาปัตยกรรมหลายชิ้น

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

อำเภอพิบูลมังสาหารแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 14 ตำบล 185 หมู่บ้าน ได้แก่

 
สะพานพิบูลมังสาหาร ข้ามแม่น้ำมูล
1. พิบูล (Phibun) เขตเทศบาลเมือง 8. โพธิ์ศรี (Pho Si) 14 หมู่บ้าน
2. กุดชมภู (Kut Chom Phu) 19 หมู่บ้าน 9. ระเว (Rawe) 12 หมู่บ้าน
3. ดอนจิก (Don Chik) 23 หมู่บ้าน 10. ไร่ใต้ (Rai Tai) 15 หมู่บ้าน
4. ทรายมูล (Sai Mun) 10 หมู่บ้าน 11. หนองบัวฮี (Nong Bua Hi) 16 หมู่บ้าน
5. นาโพธิ์ (Na Pho) 11 หมู่บ้าน 12. อ่างศิลา (Ang Sila) 17 หมู่บ้าน
6. โนนกลาง (Non Klang) 12 หมู่บ้าน 13. โนนกาหลง (Non Kalong) 9 หมู่บ้าน
7. โพธิ์ไทร (Pho Sai) 19 หมู่บ้าน 14. บ้านแขม (Ban Khaem) 8 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

ท้องที่อำเภอพิบูลมังสาหารประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15 แห่ง ได้แก่

 
เขตเทศบาลในอำเภอพิบูลมังสาหาร
  • เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพิบูลทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลอ่างศิลา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลอ่างศิลา
  • เทศบาลตำบลกุดชมภู ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดชมภูทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโพธิ์ไทร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ไทรทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโพธิ์ศรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ศรีทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดอนจิก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนจิกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทรายมูล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทรายมูลทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาโพธิ์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนกลางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลระเว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลระเวทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไร่ใต้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวฮี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวฮีทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลอ่างศิลา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอ่างศิลา (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลอ่างศิลา)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนกาหลง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนกาหลงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแขม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแขมทั้งตำบล

โรงเรียนในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร

แก้

สถานที่สำคัญ

แก้

แหล่งท่องเที่ยว

  • แก่งสะพือ
     
    แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
  • แก่งไก่เขี่ย
  • แก่งลำดวน
  • แก่งไฮ
  • ภูกระแต
  • ดอนคำพวง
  • ฆ้องใหญ่ บ้านทรายมูล
  • อนุสาวรีย์พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)
  • ดอกสุพรรณิการ์ สวนสาธารณะภูหล่น
  • โบราณสถานดอนขุมเงิน

วัดสำคัญ

ธนาคาร

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคาร ธ.ก.ส.
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารกรุงไทย

อ้างอิง

แก้
  • คณะกรรมการ. พิบูลมังสาหาร 139 ปี. อุบลราชธานี : เพิ่มพูลการพิมพ์, 2545.
  • คณะกรรมการ. อุบลราชธานี 200 ปี. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, 2535.
  • คณะกรรมการ. ประวัติเมืองโขงเจียม. อุบลราชธานี : รุ่งศิลป์การพิมพ์ออฟเซท, 2540.
  • บำเพ็ญ ณ อุบล. เล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท, 2539.
  • เรวัต สิงห์เรือง และคณะ. รายงานโครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแก่งสะพือแบบมีส่วนร่วม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. สกว. อุบลราชธานี, 2549.
  • เรวัต สิงห์เรือง.แก่งสะพือ แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้. บทความ, 2 กันยายน พ.ศ. 2553. http://singruang.blogspot.com/2010/09/blog-post.html
  • ตรงใจ หุตางกูร. โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ศมส.,2547
  • ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกวัดสระแก้ว” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12 - 14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 284-286.
  • ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)., 2549. http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=933 เก็บถาวร 2017-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-08, ไฟล์; OB_008)
  • ภาพหินพระปรมาภิไธย : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร, 10 เมษายน 2560. http://district.cdd.go.th/phibunmangsahan/gallery/ เก็บถาวร 2018-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ภาพแก่งสะพือ : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร, 10 เมษายน 2560. http://district.cdd.go.th/phibunmangsahan/gallery/ เก็บถาวร 2018-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ภาพวัดป่าปากโดม : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร, 4 มิถุนายน 2560. http://district.cdd.go.th/phibunmangsahan/gallery/ เก็บถาวร 2018-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ภาพสะพานพิบูลมังสาหาร : งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2560. http://www.lib2.ubu.ac.th/isaninfo/?p=2943[ลิงก์เสีย]
  • ภาพพระอุโบสถวัดภูเขาแก้ว : งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2560. http://www.lib2.ubu.ac.th/isaninfo/?p=2951[ลิงก์เสีย]
  • ภาพประกอบ : เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร. 2560. https://www.facebook.com/phiboonmunicipality/