พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เป็นเจ้าเมืองพิบูลมังสาหารคนแรก ชาวอำเภอพิบูลมังสาหารให้ความเคารพนับถือและนิยมยกย่องเรียกขานนามท่านว่า พระจูมมณี

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)
ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี)
อนุสาวรีย์พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)
เกิดพ.ศ. 2357
ณ เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช (จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน)
เสียชีวิตพ.ศ. 2430
ณ เมืองพิมูลมังษาหาร (อำเภอพิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน)
อนุสรณ์สถานอนุสาวรีย์พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี)
ชื่ออื่นจูมมณี, พระจูมมณี, ท้าวธรรมกิติกา
พลเมืองสยาม, อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
อาชีพเจ้าเมืองพิบูลมังสาหาร
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2406 ถึง พ.ศ. 2430
ตำแหน่งพระบำรุงราษฎร์
ผู้สืบตำแหน่งพระบำรุงราษฎร์ (ผู)

ประวัติ แก้

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) นามเดิม เจ้าธรรมกิติกา (จูมมณี) หรือ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เกิด ณ เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช (จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2357 จุลศักราช 1176 เป็นบุตรของ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3 กับ หม่อมหมาแพง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือ นางคำซาว, ท้าวโพธิสาราช (เสือ), ท้าวสีฐาน (สาง) และท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี)

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เป็นหลานของ เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช และเป็นเหลนของ เจ้าพระตา เจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าปางคำ แห่งราชวงศ์เชียงรุ่ง สิบสองปันนา

ชีวิตครอบครัว พระบำรุงราษฏร์ (จูมมณี) มีภรรยา 3 คน และบุตร 15 คน สืบเชื้อสาย เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ผ่านทางสายสกุล "สุวรรณกูฏ" ซึ่งสกุลนี้สืบต่อมาจาก พระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 โอรสในเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ โดย พระบริคุฏคามเขต (โหง่นคำ สุวรรณกูฏ) เป็นผู้ขอรับพระราชทานนามสกุล

ราชการงานปกครอง แก้

พระบำรุงราษฏร์ (จูมมณี) หรือ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ท่านเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาเฉลียดฉลาด มีความเข้าใจในระเบียบราชการธรรมเนียมการเมืองการปกครอง จนเป็นที่ไว้วางใจของ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ตลอดจนคณะเพียกรมการเมืองว่า มีความเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าเมืองปกครองอาณาประชาราษฏร์ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขได้

ปี พ.ศ. 2402 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช เห็นว่าในจำนวนบุตรทั้งหมดนั้น มีหลายคนซึ่งพอจะเป็น เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร ทำราชการให้แก่บ้านเมืองได้ จึงได้มอบหมายให้ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี), ท้าวโพธิสาราช (เสือ), ท้าวสีฐาน (สาง) ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน และ ท้าวขัติยะ (ผู) ซึ่งเป็นน้องต่างมารดา ร่วมปรึกษาหารือราชการงานเมือง เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้วจึงสั่งให้จัดหาเรือและคนชำนาญร่องน้ำเพื่อหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ โดยล่องเรือไปทางทิศตะวันออกตามลำแม่น้ำมูล จนถึงบริเวณ บ้านสะพือ ได้จอดเรือและข้ามไปสำรวจภูมิประเทศฝั่งขวาแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกของ แก่งสะพือ เมื่อเห็นว่าภูมิสถานเหมาะแก่การตั้งเมืองได้ จึงทำการบุกเบิกป่าตั้งแต่บริเวณแก่งสะพือไปถึงห้วยบุ่งโง้ง ให้พอที่จะตั้งบ้านเรือนได้ 30-80 ครอบครัว พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น จึงได้จัดราษฎรเข้าไปอยู่หลายครอบครัว พร้อมทั้งให้ ท้าวไชยมงคล และ ท้าวอุทุมพร ผู้เป็นญาติลงไปอยู่ด้วย แล้วตั้งชื่อว่า บ้านกว้างลำชะโด เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านใจกลางของ 2 ลำห้วย คือ ห้วยกว้าง อยู่ทางทิศตะวันออกและ ห้วยชะโด อยู่ทางทิศตะวันตก

ปี พ.ศ. 2406 เมื่อ ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) ได้ตั้ง บ้านกว้างลำชะโด ขึ้นแล้ว ต่อมามีราษฎรเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้นพอที่จะตั้งเป็นเมืองได้ จึงจัดสร้างศาลาว่าการขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลแล้วรายงานไปยัง พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ซึ่งเจ้าเมืองอุบลราชธานีก็เห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกกราบเรียนไปยัง เจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความกราบบังคมทูล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก บ้านกว้างลำชะโด เป็น เมืองพิมูลมังษาหาร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจศก จุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2406 และโปรดเกล้าตั้ง ท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี) เป็น พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เจ้าเมืองพิมูลมังษาาหารคนแรก และให้ ท้าวโพธิสาราช (เสือ) เป็นอุปฮาด (อุปราช), ให้ ท้าวสีฐาน (สาง) เป็นราชวงศ์, ให้ ท้าวขัติยะ (ผู) เป็นราชบุตร ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิมูลมังษาหารคนแรก ในขณะมีอายุ 49 ปี ท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจสามารถสร้าง บ้านกว้างลำชะโด จนเป็น เมืองพิมูลมังษาหาร และได้วางรากฐานต่างๆ ไว้ให้ชาวเมืองพิมูลมังษาหาร จนเป็นดังเช่น "เมืองพิบูลมังสาหาร" ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันนี้

ปี พ.ศ. 2430 พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ณ เมืองพิมูลษาหาร (อำเภอพิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน) สิริอายุได้ 73 ปี ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิบูลมังสาหาร 25 ปี

เกียรติประวัติ แก้

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ได้รับการศึกษาและถ่ายทอดวิชาความรู้สรรพวิทยา จากพระอาจารย์และนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย จนมีความรู้ความสามารถด้านภาษาขอม ภาษาธรรม อักษรไทยน้อย อักขระไทย จารีตประเพณี ตำราพิชัยสงครามและคาถาอาคมตามยุคสมัย

พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เมื่อครองเมืองพิบูลมังสาหาร ได้ปกครองตามฮีตคองครรลองธรรมของเจ้าเมืองที่พึงปฏิบัติด้วยความวิริยะอุสาหะ เป็นเจ้าเมืองที่มีความรู้ ความสามารถ มีสติปัญญาเฉียบแหลม และเป็นนักรบผู้กล้าหาญ

ในปี พ.ศ. 2418 เกิดกบฏฮ่อที่อาณาจักรล้านช้าง (เวียงจันทร์-หลวงพระบาง) พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ได้เกณฑ์ไพร่พลและยกกำลังไปร่วมสมทบกับทัพหลวง ทำสงครามปราบฮ่อจนสงบราบคาบและได้ชัยชนะกลับมา

อนุสรณ์สถาน แก้

ในวันที่ 6 ธันวาคม ของทุกปี หน่วยงานราชการและประชาชนจะร่วมกันจัดงาน พิธีบวงสรวงสมโภชอนุสาวรีย์พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ พระบำรุงราษฎร์ (จูมมณี) ผู้ก่อตั้งเมืองพิบูลมังสาหาร และเป็นเจ้าผู้ปกครองเมืองพิบูลมังสาหารคนแรก เป็นการสดุดี เชิดชูเกียรติ รำลึกถึงพระคุณความดีงาม และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ พร้อมทั้งยังมีการจัดงานประเพณี "บุญคูณลานกุ้มข้าวใหญ่" อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นและสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอำเภอพิบูลมังสาหารและจังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย

ผู้สืบต่อยศ แก้

ผู้ที่ได้รับยศพระบำรุงราษฎร์และดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิมูลมังษาหารสืบต่อมา คือ

- พระบำรุงราษฎร์ (ผู)

หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ขึ้น ทางราชการจึงได้ลดฐานะ เมืองพิมูลมังษาหาร เป็น อำเภอพิมูลมังษาหาร ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี และตำแหน่งเจ้าเมืองก็เปลี่ยนแปลงเป็นนายอำเภอพิมูลมังษาหาร

ปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอพิมูลมังษาหาร เป็น อำเภอพิบูลมังสาหาร เฉกเช่นในปัจจุบันนี้

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้