วัดวังก์วิเวการาม

วัดในจังหวัดกาญจนบุรี

วัดวังก์วิเวการาม; (มอญ: ဘာဝင်္ကဝိဝေကာရာမ) หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ (ဘာကျာ်ဇၞော်အ္စာတၠဥတ္တမ) เป็นวัดที่พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ) หรือ หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ที่บ้านวังกะล่าง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 220 กิโลเมตร

วัดวังก์วิเวการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหลวงพ่ออุตตมะ
ที่ตั้งถนนทางหลวงชนบทกาญจนบุรี 3024 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
นิกายเถรวาท
ผู้ก่อตั้งพระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ)
พระประธานหลวงพ่อขาว
เจ้าอาวาสพระมหาสุชาติ สิริปญฺโญ ป.ธ.9
กิจกรรมนมัสการสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ นมัสการหลวงพ่อขาว นมัสการเจดีย์พุทธคยาจำลอง ชมพระอุโบสถหลังเก่าที่จมอยู่ใต้น้ำ ชมสะพานมอญและทัศนียภาพบริเวณสามประสบ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

ในระยะแรกมีเพียงกุฏิและศาลา มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 3 สาย คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอเดิม คืออำเภอวังกะ-สังขละบุรี ซึ่งต่อมาถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอ ก่อนที่จะยกฐานะเป็น อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2508

เมื่อ พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้าง เขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเมื่อกักเก็บน้ำแล้ว น้ำในเขื่อนจะท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งบริเวณหมู่บ้านชาวมอญทั้งหมด ทางวัดจึงได้ย้ายมาอยู่บนเนินเขาในที่ปัจจุบัน[1] หลวงพ่ออุตตมะได้จัดสรรที่ดินของวัดวังก์วิเวการามให้ชาวบ้านครอบครัวละ 30 ตารางวา ปัจจุบันหมู่บ้านชาวมอญมีพื้นที่ราว 1,000 ไร่เศษ มีผู้อาศัยราว 1,000 หลังคาเรือน ชาวบ้านเกือบทั้งหมดจัดเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าซึ่งไม่มีบัตรประชาชน หาเลี้ยงชีพโดยการปลูกพืชผักสวนครัวตามชายน้ำ ทำประมงชายฝั่ง คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งนิยมเป็นลูกจ้างในโรงงานเย็บเสื้อที่อยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้าน

พระอุโบสถวัดวังก์วิเวการามหลังใหม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2528

อาคารเสนาสนะ แก้

วัดก่อสร้างด้วยศิลปะแบบมอญและไทยประยุกต์ วิหารศิลปะมอญปัจจุบันเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่ออุตตมะในโลงแก้ว ส่วนศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น ชั้นล่างใช้เป็นที่จัดงานบุญต่าง ๆ ส่วนชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ใช้เก็บคัมภีร์ใบลานอักษรมอญโบราณ พระพุทธรูป อัฐบริขาร และเครื่องใช้ต่างๆ[1]

ที่วิหารพระหินอ่อนประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน พระพุทธรูปหยกขาว หุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนหลวงพ่ออุตตมะ รวมถึงงาช้างแมมมอธ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเจดีย์พุทธคยาจำลอง สร้างจำลองแบบจาก เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยสร้างเมื่อ พ.ศ. 2521[1] บริเวณใกล้กับวัดวังก์วิเวการามคือ สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเก่าจมอยู่ใต้น้ำ มีชื่อเสียงด้านสถานที่ท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี[2]

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ)[3] พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2549
รักษาการ พระครูกาญจนสิทธิสาร (จันทิมา) พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2549
2 พระมหาสุชาติ สิริปญฺโญ ป.ธ.9 พ.ศ. 2549 ยังดำรงตำแหน่ง

กิจกรรม แก้

 
วัดวังก์วิเวการามเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าเยี่ยมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกวันเวลา 07.30 - 18.30 น.

วัดวังก์วิเวการามเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญงานอื่น เช่น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนา อย่าง งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "วัดวังก์วิเวการาม สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-30. สืบค้นเมื่อ 2019-04-18.
  2. "สัมผัสชีวิตหมู่บ้านมอญและชมวัดหลวงพ่ออุตตมะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2006-10-20.
  3. "พระราชอุดมมงคล วิ. (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ) | พระสังฆาธิการ". sangkhatikan.com (ภาษาอังกฤษ).
  4. "วัดวังก์วิเวการาม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

15°07′59″N 98°26′42″E / 15.1329894°N 98.4449518°E / 15.1329894; 98.4449518