วัดพระธาตุเบ็งสกัด

วัดในจังหวัดน่าน

วัดพระธาตุเบ็งสกัด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน

วัดพระธาตุเบ็งสกัด
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุเบ็งสกัด, วัดเบ็งสกัด
ที่ตั้งตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุเบ็งสกัด หรือ วัดเบ็งสกัด ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2496 องค์พระธาตุมีตำนานปรากฏอยู่ในสมุดข่อย กล่าวว่า เมื่อครั้งพญาภูคาต้องการจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้แก่บุตรบุญธรรม จึงได้ให้ผู้คนไปหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ ตั้งให้ขุนฟองเป็นผู้ครองเมือง มีชื่อว่า เมืองวรนคร พญาภูคาประสงค์สร้างเจดีย์ใกล้กับเมืองใหม่ ได้พบบริเวณที่ดินเป็นลานกว้างมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางกว้างประมาณ 1.5 เมตร เมื่อพระองค์เสด็จไปดูและนำไม้รวกแหย่ลงไปในบ่อนั้น ปรากฏว่าไม้ที่แหย่ลงไปขาดเป็นท่อน ๆ จึงได้สร้างเจดีย์ครอบบ่อน้ำนั้น ซึ่งสร้างขึ้นแบบธรรมดาขนาดกว้าง 7 เมตร สูง 20 เมตร พร้อมกับสร้างวิหารหลังหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกับองค์เจดีย์ เจดีย์สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826[1] จึงได้เชิญนายญาณะ อุปสมบทเป็นเจ้าอาวาส ทำพิธีฉลองพร้อมเมืองใหม่ ปรากฏแสงไฟเรืองรองพุ่งออกมาจากยอดพระธาตุ เมื่อเห็นดังนั้น พญาภูคาจึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระธาตุเบ็งสกัด"

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดพระธาตุเบ็งสกัดให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 61 ตอนที่ 65 มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2538

วัดมีโบราณสถาน ได้แก่ วิหารศิลปะแบบไทลื้อ มีขนาดความยาว 5 ห้อง เป็นอาคารปิดทึบทรงโรง มีมุขโถงบันไดขึ้นด้านหน้า 1 ห้อง[2] มีหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด เจดีย์สร้างโดยช่างชาวน่าน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1826 พระธาตุได้รับการรบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยของพญาอนันตยศ มีการบูรณะลายทองเสาวิหารและเพดาน แท่นพระประธาน รวมถึงสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ เมื่อ พ.ศ. 2400[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดพระธาตุเบ็งสกัด". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "ไทยทัศนา : (45) วิหารไทลื้อ น่าน (ตอนที่ห้า-วัดพระธาตุเบ็งสกัด)". วอยซ์.
  3. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. "พระธาตุเบ็งสกัด เจดีย์โบราณ 736 ปี ที่เมืองน่าน". เชียงใหม่นิวส์.