วัดบางหลวง (จังหวัดปทุมธานี)

วัดในจังหวัดปทุมธานี

วัดบางหลวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีเนื้อที่ตั้งวัด 13 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา

วัดบางหลวง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางหลวง, วัดสิงห์
ที่ตั้งตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบางหลวงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2230[1] ส่วนข้อมูลของพระรามัญมุนี (สุทธิ์ ญาณรสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหลวงและอดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2451 ว่า "พุทธศักราช 2246 หรือจุลศักราช 1065 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพระนามเดิมว่า "พระพุทธเจ้าเสือ" (ดอกเดื่อ) เป็นพระเจ้าแผ่นดินในพระนครศรีอยุธยาทวาราวดี คือกรุงเก่าได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นที่ตำบลปากคลองบางหลวงฝั่งใต้ พระราชทานนามว่า วัดสิงห์" จากบันทึกนี้ มีวัดบางหลวงอยู่ 2 วัด คือ วัดบางหลวงนอก กับวัดบางหลวงใน วัดบางหลวงในคือวัดบางหลวงที่อยู่ปัจจุบันนี้ ส่วนวัดบางหลวงนอกได้ทรุดโทรมปรักหักพังร้างไปหมดแล้ว (สันนิษฐานว่าวัดบางหลวงนอกน่าจะสร้างมาก่อนสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์)

ชื่อของวัดนั้น แต่เดิมเมื่อแรกสร้างไม่ได้ชื่อบางหลวง เมื่อมีการขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ พบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน แล้วเอาหลบซ้อนไว้ในวัด เรียกว่าบังไว้ไม่ให้หลวงเห็น จึงพูดติดปากว่า บังหลวง เมื่อเวลาผ่านเลยมานานคำว่า บังหลวง จึงกลายเป็น บางหลวง

วัดบางหลวงได้รับการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้โปรดเกล้าให้พระมอญมาเป็นพระราชสมภารเจ้าวัดฝ่ายรามัญ[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

อุโบสถทรงไทยโบราณที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อุโบสถสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีความพิเศษ คือ ไม่มีเสาและใช้วัสดุก่อสร้างแบบโบราณนอกจากนั้นกรมศิลปากรยังได้ขึ้นทะเบียนเจดีย์มุเตา เจดีย์ชเวดากอง จิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติในอุโบสถ อาคารและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ของวัดได้แก่ กุฏิศิลปะผสม อาคารเรียนไม้ 2 ชั้นโรงเรียนรามัญมุนี สะพานโค้งศิลปะตะวันตกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 วิหารสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 วัดยังมีเสาหงส์ตั้งอยู่หน้าวัดหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

วัดบางหลวงมีพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญ คือ หลวงพ่อใหญ่ พระประธานปางมารวิชัยในอุโบสถ ถือเป็นพระประธานที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานี หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายบิดไปมาได้ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ตันทั้งองค์ สมัยเชียงแสน มีหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 39 นิ้ว ที่ถูกค้นพบขณะที่ขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณ พ.ศ. 2151 พระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 3 คืบ พระสุคตประมาณ 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ห่มจีวรสังฆาฏิพาด ตั้งอยู่บนฐานบัว สูง 8 นิ้ว ยาว 47 นิ้ว วัดความสูงถึงยอดพระเกตุมาลาได้ 65 นิ้ว เป็นพระประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระศาสนโสภณ (อ่อน) และ พระงอก บนพระอังสามีลักษณะยื่นออกมา ประดิษฐานไว้ในกุฏิเก่าของท่านเจ้าคุณพระราชสุเมธาภรณ์[3]

อ้างอิง แก้

  1. "บันทึกประเทศไทย ฉบับที่ 117 จังหวัดปทุมธานี". p. 10.
  2. "วัดบางหลวง". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. "วัดบางหลวง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.