วัดบางปิ้ง (จังหวัดสมุทรสาคร)

วัดบางปิ้ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านบางปิ้ง ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 16 ไร่ 3 ตารางวา 48 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 17 ไร่ 3 ตารางวา

วัดบางปิ้ง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางปิ้ง, วัดหัวป่า
ที่ตั้งเลขที่ 27 หมู่ที่ 2 ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อปู่ทองคำ
พระพุทธรูปสำคัญหลวงปู่ชิต
เจ้าอาวาสพระครูอดุลสาครกิจ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบางปิ้งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2414 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2496[1] เดิมชื่อ วัดหัวป่า เนื่องจากเมื่อก่อนบริเวณรอบวัดเป็นป่าที่มีต้นปิ้งเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดบางปิ้ง" อุโบสถหลังแรกสร้างโดยเถ้าแก่หวานและนางจันทร์ ต่อมาเมื่ออุโบสถทรุดโทรมจนใช้งานไม่ได้ นายพุ่มและนางรอด จันจู ได้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ จากนั้นวัดได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอด[2]

ด้านการศึกษา วัดเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2513 ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2540 และศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2538

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถหลังปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2536 ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า หลวงพ่อปู่ทองคำ มีประวัติว่า นายโต๊ะ นายยัง แจวเรือไปขายของที่บางกอก ย่านบางกอกน้อย ไปพบพระพุทธรูปตั้งอยู่กลางป่าเป็นวัดร้างสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันคือวัดสังข์กระจายวรวิหาร จึงได้นำพระลงเรือ แล้วแจวเรือกลับมายังบางปิ้ง ที่ฐานพระมีชื่อพรหมมาทองคำ จึงเรียกว่า หลวงพ่อปู่ทองคำ คาดว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย

วิหารหลวงปู่ชิต เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ปูนปั้นทับสันหลังคา มีประตูทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ภายในประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ชิต หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์[3]

ศาลาการเปรียญ กว้าง 16.20 เมตร ยาว 42.90 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 หอสวดมนต์ กว้าง 7.57 เมตร ยาว 9 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์ จำนวน 8 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และตึก 6 หลัง วิหาร กว้าง 3.40 เมตร ยาว 5.50 เมตร อาคารเสนาสนะอื่นได้แก่ ศาลาโรงครัว กว้าง 20 เมตร ยาว 32.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นอาคารไม้ ศาลารักษาอุโบสถศีล 1 หลัง กุฏิชี 1 หลัง หอฉัน 1 หลัง โรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง หอกลอง 1 หลัง หอระฆัง 1 หลัง และห้องสมุด 1 ห้อง[4]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระมอญ
  • พระลาว
  • พระเปลื้อง
  • พระญาติ
  • พระเล้ง
  • พระครูวิชิตสังฆการ พ.ศ. 2483–2519
  • พระครูอดุลสาครกิจ พ.ศ. 2519-2557
  • พระครูวิทิตสาครธรรม (ฉาบ ฐานวโร (มาถี) ) 2558-ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-22. สืบค้นเมื่อ 2020-09-30.
  2. กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545. หน้า 42.
  3. "วัดบางปิ้ง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  4. "วัดบางปิ้ง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัดสมุทรสาคร.