วัดบางกุ้ง
วัดบางกุ้ง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีจุดเด่นที่พระอุโบสถ ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่ ถูกปกคลุมทั้งอาคารด้วยรากของต้นโพธิ์ ต้นกร่าง ต้นไกร จนได้รับยกให้เป็นอันซีนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม[1]
วัดบางกุ้ง | |
---|---|
พระอุโบสถ เมื่อมองผ่านหน้าต่างเข้าสู่ภายในจะเห็นพระประธาน "หลวงพ่อนิลมณี" | |
ชื่อสามัญ | วัดบางกุ้ง |
ที่ตั้ง | ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | หลวงพ่อนิลมณี |
จุดสนใจ | "โบสถ์ปรกโพธิ์" วัดบางกุ้ง |
กิจกรรม | เดิมเคยเป็นที่ตั้งค่ายบางกุ้ง สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระอุโบสถเป็นอาคารเครื่องก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา ตามแบบวัดไทยทั่วๆไป ที่มักเป็นเครื่องลำยอง ภายในโบสถ์เป็นที่สถิตของ "หลวงพ่อนิลมณี" หรือ "หลวงพ่อดำ" ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ภายในยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ[2]
วัดแห่งนี้ยังมีจุดเด่นที่มีรูปปั้นนักมวยไทยเป็นจำนวนมาก[3] เช่นเดียวกับเครื่องบินเก่าตั้งโชว์ และยังมีสวนสัตว์ขนาดเล็กๆ ที่มีทั้งกรงอูฐ กวาง ม้า ตั้งอยู่ริมท่าน้ำวัดบางกุ้งอีกด้วย[4]
ประวัติ
แก้ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2308 กองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์รับสั่งให้หัวเมืองปากใต้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม เรียกว่า “ค่ายบางกุ้ง” กองทัพพม่าซึ่งยกทัพเข้ามาตามลำน้ำแม่กลองและบุกลงมาจนถึงค่ายบางกุ้ง โดยที่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถต้านทานไว้ได้ค่ายบางกุ้งจึงแตก
หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 ค่ายบางกุ้งก็ตกอยู่ในสภาพค่ายร้าง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดให้ชาวจีนรวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่ายเก่าที่บางกุ้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ค่ายจีนบางกุ้ง” ในปี พ.ศ. 2311 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ 8 เดือน กองทัพพม่านำโดยเจ้าเมืองทวายยกทัพบกและทัพเรือลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ ทหารจีนที่รักษาค่ายบางกุ้งสู้รบอย่างเต็มที่แต่มีกำลังน้อยกว่าเกือบจะเสียค่ายแก่พม่า กรมการเมืองสมุทรสงครามจึงมีหนังสือกราบทูลไปยังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบจึงยกกองทัพมาตีทัพพม่าแตกพ่ายไป และต่อมาในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพเรือนำทหารไปออกศึกที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ในระหว่างการเดินทางได้หยุดกองทัพพักพลเสวยพระกระยาหารที่วัดกลางค่ายบางกุ้ง
หลักฐานโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนปัจจุบันถูกต้นไทรขึ้นปกคลุมทั้งหลังหน้าบันของพระอุโบสถ มีปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาประดับด้วยเครื่องถ้วยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย สลักจากหินทรายแดง แสดงปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่ฝาผนังของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระอดีตพุทธเจ้า และภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้างประมาณ 5 เมตร ความยาว 7 เมตร ที่ขอบสระมีกำแพงเตี้ยกั้น และกรุด้วยอิฐถือปูนลักษณะสอบลงไป ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบางกุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539
ที่วัดบางกุ้งนี้เองมีศาลอยู่ทางด้านหลัง โดยมีชื่อว่า "ศาลนางไม้เจ้าจอม" หรือศาลขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ มีคนให้ความเคารพนับถือกันมาก
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ศาลนางไม้เจ้าจอม วัดบางกุ้ง
แก้"นี่แหละองค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) จึงได้ชื่อว่า “เจ้าหญิงผู้หาญกล้า” รักชาติยิ่งชีพ แม้ร่างกายสูญสลายแต่วิญญาณแห่งความรักชาติยังคงอยู่ตราบนิรันดร ควรแก่การสรรเสริญและสักการบูชายิ่งนัก" |
—ท.เลียงพิบูลย์[5] |
เมื่อปี พ.ศ. 2531 บริเวณวัดเป็นป่ารกร้าง พระวินัยธร องอาจอาริโยได้เดินธุดงค์มาที่บริเวณวัดบางกุ้ง ปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ข้างอุโบสถหลวงพ่อนิลมณีหรืออุโบสถปรกโพธิ์ ซึ่งเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐาน ท่านได้เดินสำรวจบริเวณวัดซึ่งทราบมาบ้างว่าวัดนี้เคยเป็นค่ายทหารจีนบางกุ้งสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีมาก่อน ยามดึกขณะเจริญกรรมฐานมักจะเกิดนิมิตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งชุดไทยโบราณมากราบไหว้หลวงพ่อนิลมณีหน้าอุโบสถปรกโพธิ์เป็นประจำ มีลักษณะผอมสูงผมยาวใบหน้างาม แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ต่อมาไม่นานเสาคานที่หน้าอุโบสถหล่นตกลงมาพิงอยู่ข้างอุโบสถ คืนนั้นเองท่านได้นิมิตเห็นผู้หญิงชุดไทยคนเดิมมาบอกให้นำไม้ท่อนนี้มาไว้ที่หลังอุโบสถแล้วให้สร้างศาลด้วยท่านก็ทำตาม
ให้ชาวบ้านช่วยกันนำไม้มาไว้หลังอุโบสถแล้วสร้างศาลให้ตามคำขอร้อง นำไม้ท่อนนั้นแกะสลักเป็นรูปหน้าผู้หญิงไม่มีแขนขาไว้ภายในให้ชื่อว่า “ศาลนางไม้เจ้าจอม” ผู้คนให้ความเคารพนับถือกันมากเพราะมีความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารแก่ผู้คนอยู่เสมอ
ต่อมาพระวินัยธรฯ ได้ฟื้นฟูวัดบางกุ้งร่วมกับประชาชนจนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง ผู้หญิงแต่งกายชุดไทยโบราณมาปรากฏในนิมิตอีกได้บอกว่าเป็นองค์หญิงพระนามว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”ต้องการให้สลักรูปองค์หญิงจากไม้ต้นโพธิ์ซึ่งมีอายุประมาณ 100 ปี โดยขอร้องให้แกะสลักทั้งองค์ หลังจากนั้นท่านได้ปรึกษาหารือญาติโยมหาช่างแกะสลัก โดยนายช่างคิดราคาค่าแรง 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) เมื่อตกลงราคากันแล้วพอช่างจะลงมือแกะสลักกลับไม่รู้ว่าจะแกะสลักเป็นรูปองค์แบบใด เพราะไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาองค์หญิงมณฑาทิพย์มาก่อนทำให้แกะสลักไม่ได้
เมื่อการเป็นดังนี้ ท่านเจ้าอาวาสจึงลงมือแกะสลักเองทั้งที่ไม่เคยแกะสลักไม้รูปใด ๆ มาก่อน การแกะสลักไม้เป็นรูปคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท่านได้ใช้ความพยายามอย่างสูงแกะสลักแบบที่เห็นองค์หญิงในนิมิตเหมือนมีอำนาจอย่างหนึ่งมาดลบรรดาลให้แกะได้สำเร็จ สลักอักษรไว้ที่ฐานว่า “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า)”
ภายหลังพระวินัยธร องอาจอาริโยพบหนังสือ “กฎแห่งกรรม” ของท.เลียงพิบูลย์ เข้าโดยบังเอิญพบเห็นเรื่องราวขององค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2291 เช่นเดียวกับที่เคยนิมิตเห็นน่าจะเป็นองค์เดียวกัน มีเนื้อหาดังนี้ “องค์หญิงมณฑาทิพย์ (จันทร์เจ้า) ประสูติเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2291 เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) กับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ องค์หญิงเป็นพระธิดาของกรมหลวงบวรวังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ บ้านเมืองมีเหตุเดือดร้อนมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงผู้ใดประจบสอพลอผู้นั้นจะได้เป็นใหญ่ทั้งที่ไร้ความสามารถ ผู้ครองแผ่นดินได้แต่ลุ่มหลงและเสพสุขในกามา หากใครมีบุตรีต้องนำตัวมาถวายใครขัดขืนจะถูกประหารชีวิต เหลืออยู่ก็แต่กรมหลวงบวรวังในที่ท่านไม่ทรงยอมข้องเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ไม่คบค้าสมาคมกับใคร
เมื่อพระธิดาเจริญพระชันษาเป็นสาวให้แต่งองค์เป็นชายพร้อมทั้งข้าทาสบริวารที่เป็นหญิง 300 คน เป็นชายอีก 16 คน จัดให้ฝึกอาวุธเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น ฟันดาบ กระบี่กระบอง หมัดมวย ตำราพิชัยสงคราม องค์หญิงทรงเชี่ยวชาญอาวุธตลอดจนเวทมนตร์คาถา ทรงมีความสามารถด้านวิชาอาคมยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกข้าศึกพม่ายกกองทัพประชิดเมือง ผู้เป็นพระบิดาทรงสั่งให้บ่าวไพร่ต่อเรือใหญ่ 30 ลำ เรือเร็ว 10 ลำ เรือแจว 20 ลำ พร้อมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อุปกรณ์การก่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ลงด้วยอาคมพร้อมเรือคุ้มกันองค์หญิง ซึ่งแต่งกายเป็นชายเยี่ยงชายชาวบ้านธรรมดาหลบหนีออกจากกรุงตอนกลางคืน แต่พระบิดามิได้มาด้วย กองเรือได้ล่องน้ำมาเป็นระยะเวลา 3 วัน พบกองเรือพม่าบรรทุกกระสุน ดินดำ
จึงสั่งให้พลพรรคเข้าโจมตีตอนเวลาดึก จึงเกิดไฟลุกโชติช่วงฆ่าทหารพม่าซึ่งกำลังหลับเพราะเมามายแทบหมดสิ้น จนรุ่งเช้าพม่าส่งกำลังติดตามองค์หญิงทรงสั่งให้กองกำลังหลบตามป่าชายฝั่งแล้วร่ายเวทมนตร์กำบังพรางตาจนพม่าพ้นไป กองเรือหนีเล็ดรอดไปได้อย่างปลอดภัย แล้วหาทำเลสร้างเมืองเล็ก ๆ อยู่ เมื่อคราวศึกบางกุ้งองค์หญิงได้ทรงคุมกำลังเข้าช่วยรบพม่าเป็นสามารถจนได้รับชัยชนะ เมื่อสิ้นอายุขัยดวงพระวิญญาณยังผูกพันกับวัดบางกุ้งยังคงวนเวียนอยู่ที่ศาลคอยแผ่บารมีให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนที่มาขอพึ่งพา
อ้างอิง
แก้- ร.ศ. หญิงพจน์ฤดี ข้าราชการสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. นิตยสารมิติหลอน.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- ↑ วัดบางกุ้ง, เว็บไซด์:http://www.amphawatoday.com/ .สืบค้นเมื่อ 13/08/2561
- ↑ โบสถ์ปรกโพธิ์ ค่ายบางกุ้ง เก็บถาวร 2018-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซด์:https://www.paiduaykan.com/ .สืบค้นเมื่อ 13/08/2561
- ↑ バンコク周辺の面白スポット、ムエタイ寺 - Phuket Diary[ลิงก์เสีย] (ญี่ปุ่น)
- ↑ อูฐ ตัวเป็นๆวัดบางกุ้งใกล้อัมพวา ยังมีกวางน้อย แพะ จรเข้ ให้เลี้ยงด้วย เก็บถาวร 2020-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซด์: http://2017.sadoodta.com/ เก็บถาวร 2018-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน .สืบค้นเมื่อ 13/08/2561
- ↑ ท.เลียงพิบูลย์. กฎแห่งกรรม.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัดบางกุ้ง
- ข้อมูลเพิ่มเติม : ข้อมูลแผนที่การเดินทางไปวัดบางกุ้ง (โบสถ์ปรกโพธิ์) เก็บถาวร 2013-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน