วัดทางหลวง (จังหวัดนนทบุรี)

วัดในจังหวัดนนทบุรี

วัดทางหลวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางเขน ในตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน

วัดทางหลวง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดทางหลวง, วัดใหม่ทางหลวง, วัดใหม่
ที่ตั้งเลขที่ 132 หมู่ที่ 6 ซอยกรุงเทพ-นนท์ 2 ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหาสุธน สุธโน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดทางหลวงตั้งขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดใหม่ ต่อมากลายเป็นวัดร้างจนกระทั่งชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2471 โดยมีพระภิกษุพิมพ์ซึ่งมาจากภาคอีสานเป็นผู้ปกครองดูแลวัด ต่อมาพระมหาจันดี ศรีพลัง จากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2475 และได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดทางหลวง" เมื่อ พ.ศ. 2478 โดยนำชื่อมาจากทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ–นนทบุรีที่ติดกับวัดและเป็นทางหลวงสายแรกของจังหวัดนนทบุรี[1] วัดทางหลวงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ต่อมาเมื่ออุโบสถทรุดโทรมลง พระครูสังฆรักษ์ไผ่ เจ้าอาวาส ได้ร่วมกับพระสงฆ์และชาวบ้านสร้างอุโบสถขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2527 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร

อาคารเสนาสนะได้แก่ อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 15 เมตร ยาว 28 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 ภายในพระประธานประจำอุโบสถปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 45 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น กว้าง 22 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานประจำศาลาการเปรียญปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว สูง 36 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 หอสวดมนต์ เป็นอาคารไม้ กว้าง 12 เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 กุฏิสงฆ์ จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ล้อมรอบหอสวดมนต์ วิหาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 18 เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ฌาปนสถาน 1 หลัง และหอระฆัง 1 หลัง[2]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระมหาจันดี ศรีพลัง พ.ศ. 2475–2494
  • พระครูนนทกิจประสาธก์ (บุญไทย อุทโย) พ.ศ. 2494–2525
  • พระครูสุวัฒน์นนทคุณ (ไผ่ สุขวฑฺฒโน) พ.ศ. 2525–2551
  • พระมหาสุธน สุธโน พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "วัดทางหลวง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "ประวัติวัดทางหลวง".