วัดด็อมเร็ยซอ

วัดในเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

วัดด็อมเร็ยซอ (เขมร: វត្តដំរីស) หรือ วัดช้างเผือก เป็นวัดที่เมืองพระตะบอง จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ เจ้าเมืองพระตะบอง กล่าวกันว่าเป็นวัดพี่น้องกับวัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศไทย

วัดด็อมเร็ยซอ
វត្តដំរីស
ศาสนา
ศาสนาศาสนาพุทธ
ที่ตั้ง
ที่ตั้งพระตะบอง จังหวัดพระตะบอง
ประเทศกัมพูชา
วัดด็อมเร็ยซอตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
วัดด็อมเร็ยซอ
ตำแหน่งที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
พิกัดภูมิศาสตร์13°5′41″N 103°11′47″E / 13.09472°N 103.19639°E / 13.09472; 103.19639
สถาปัตยกรรม
เสร็จสมบูรณ์พ.ศ. 2447

ประวัติ แก้

ที่มาการสร้างวัดเนื่องจากคุณหญิงสอิ้ง ภรรยาเอกของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรล้มป่วย ได้ไปบนว่าถ้าหายป่วยแล้วจะสร้างวัด เมื่อท่านหายป่วยแล้ว เจ้าพระยาอภัยภูเบศรและคุณหญิงสอิ้งจึงสร้างวัดนี้ขึ้น หลังจากคุณหญิงสะอิ้งเสียชีวิตได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุในเจดีย์ที่วัดแห่งนี้ โดยมีช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างชื่อ เจียงโตว

ในปี พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยส่งเงินสนับสนุนบูรณะกุฏิโบราณของวัดจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ[1]

อุโบสถ แก้

อุโบสถก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว 11 ห้องเสา กว้าง 5 ห้องเสา ตั้งบนฐานยกพื้นสูงสองชั้น โดยมีเสมานั่งแท่นประจำทั้งแปดทิศ ทำหน้าที่กำหนดเขตพัทธสีมา ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเข้าออกประจ่าย่านกลางของกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศ พื้นที่ภายในอาคารอุโบสถที่ล้อมรอบด้วยผนังก่ออิฐ มีขนาด 7 ห้องเสา พื้นที่นอกผนังก่ออิฐบนชาลายกพื้นของอุโบสถ[2]

อุโบสถประดับด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งภายในและภายนอกไม่ว่าจะเป็นที่หน้าบัน หัวเสา ซุ้มประตู และหน้าต่าง เป็นงานปูนปั้นลงสีฝีมือวิจิตรพิสดาร ทั้งงานประติมากรรมในแบบนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว เช่น งานปูนปั้นนูนต่ำลวดลายดอกไม้ที่ประดับอยู่ที่ฐานวางพระพุทธรูป งานปูนปั้นเรื่อง รามเกียรติ์ นูนสูงบริเวณระเบียงทางเดินด้านนอก (ด้านล่าง) งานปูนปั้นครุฑลอยตัวเพรียวลมประดับหัวเสาแต่ละต้นที่เป็นประติมากรรมลอยตัวปั้นได้อย่างละเอียดอ่อนช้อย งานปูนปั้นพระเวสสันดรทรงช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ (พญาปัจจัยนาค) มีพราหมณ์เมืองคลิงคราชเข้ามากราบขอพญาช้างปัจจัยนาค งานปูนปั้นเรื่องราวการสัประยุทธ์ระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ และระหว่างพระลักษณ์กับอินทรชิตบริเวณด้านหลังโบสถ์[3] ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติในแบบมีความลึกสามมิติ ช่างวาดรูประบุว่าชื่อ "เอ็น เปรย เจีย" ซึ่งเคยมาศึกษาเขียนรูปที่ประเทศไทย

นอกจากนั้น บริเวณเหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังอุโบสถยังมีการทำปูนปั้นตราแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยาม[4]

ถัดจากพระอุโบสถไปทางตะวันตกเป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญและโรงครัวของวัด

อ้างอิง แก้

  1. "รัฐบาลไทยสนับสนุนงบประมาณค่าซ่อมกุฏิโบราณวัดด็อมเร็ยซอ". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ.
  2. "ความสัมพันธ์สยาม-กัมพูชา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19: ภาพสะท้อนผ่านศิลปะ และสถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดดำเร็ยซอ เมืองพระตะบอง" (PDF).
  3. ปิ่น บุตรี (19 มีนาคม 2558). ""วัดช้างเผือก-แก้วพิจิตร" งามวิจิตร วัด 2 พี่น้อง แห่ง "พระตะบอง-ปราจีนฯ"/ปิ่น บุตรี". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "แกะรอยไทย ในพระตะบอง". โพสต์ทูเดย์. 10 มกราคม 2558.