วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร [—ไช-ยะ-พฺรึก-สะ-มา-ลา—][1] เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ ในแขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร | |
---|---|
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร | |
ชื่อสามัญ | วัดชัยพฤกษมาลา, วัดชัยพฤกษ์ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 2 ถนนชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธชัยมงคล ภปร. |
เจ้าอาวาส | พระราชสุตาภรณ์ (ประศักดิ์ อคฺคปญฺโญ) ป.ธ. 7 |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดชัยพฤกษมาลาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2300 ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นวัดร้าง โดยในช่วงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ (ร.2) รื้ออิฐวัดชัยพฤกษ์ไปสร้างกำแพงพระนครส่วนที่พระองค์ทรงเป็นนายด้าน (ควบคุมงาน) จนในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษ์ขึ้นใหม่เป็นการทดแทนวัดเดิมที่ถูกรื้อ โดยมีพระราชดำริให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนทรงผนวช เป็นแม่กองดำเนินการสร้างวัดชัยพฤกษ์ จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดชัยพฤกษ์เข้าในบัญชีพระอารามกฐินหลวงพระราชทาน และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระผนวช เสด็จฯ มาทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพระกฐินทุกปี
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่ข่ายดำเนินการซ่อมสร้างจนแล้วเสร็จ พร้อมกับพระราชทานสร้อยนามวัดว่า วัดชัยพฤกษมาลา ทั้งยังจัดทำสวน ขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถและพระวิหารเดิมให้แล้วเสร็จ สร้างศาลาการเปรียญ ก่อพระเจดีย์ใหญ่พร้อมด้วยพระเจดีย์ทิศ 4 มุม หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพานท่าน้ำ
วัดชัยพฤกษมาลาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
แก้พระอุโบสถหลังเก่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 และบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระอุโบสถมีขนาดกว้าง 7.56 เมตร ยาว 19.20 เมตร หน้าบันของพระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้น หน้าบันประธานเป็นภาคครุฑยุดนาค (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อยู่ท่ามกลางลายพุดตานใบเทศ ส่วนหน้าบันของมุขหน้า-หลัง เป็นพระมหามงกุฎ (พระราชลัญจกรรัชกาลที่ 4) แวดล้อมด้วยลายพุดตานใบเทศ มีหลวงพ่อโต (พระพุทธชัยพฤกษธิกามหาบพิตร) เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา พระประธานในพระอุโบสถหลังเดิม
พระอุโบสถหลังใหม่มีหน้าบัน เป็นรูปครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 2 และที่มุขลดของหน้าบันมีปูนปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธชินราชจำลอง มีนามว่า พระพุทธชัยมงคล ภปร.[2]
พระวิหาร มีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังเดิม เขียนเป็นลายประจำยามรักร้อย ด้วยสีแดงและสีเขียวบนพื้นสีเหลือง
พระเจดีย์สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีลักษณะของเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่ มีเจดีย์บริวาร 4 มุม โดยโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. 2378 ต่อมาเจดีย์องค์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิของราชสกุลลดาวัลย์ และมีบางส่วนของพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ด้วย และวัดยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ภายในบริเวณวัดยังมีโรงเรียนกุศลศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่วัดอุปถัมภ์มาแต่เดิม[3]
รายนามเจ้าอาวาส
แก้ลำดับ | นาม | ดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1. | ท่านวัดบางขวาง (ไม่ปรากฏนามที่ชัดเจน เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ) | |
2. | พระครูธรรมธาดาโกศล (สง) | |
3.. | พระธรรมธาดาโกศล (เกตุ) | |
4. | พระธรรมธาดาโกศล (พ่วง) | |
5. | พระปลัดโทน | |
6. | พระรัตนมุนี (แก้ว) | 2428 – 2448 |
7. | พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) | 2448 – 2465 |
8. | พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร) | 2472 – 2515 |
9. | พระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ) | 2515 – 2544 |
10. | พระราชสุตาภรณ์ (ประศักดิ์ อคฺคปญฺโญ) | 2549 - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561, หน้า 57.
- ↑ "รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดชัยพฤกษมาลา องค์กษัตราทรงสถาปนาไว้". ผู้จัดการออนไลน์. 4 มกราคม 2559.
- ↑ "วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.