วงศ์ปลากะแมะ
วงศ์ปลากะแมะ | |
---|---|
ชนิด C. chaca | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Siluriformes |
วงศ์ใหญ่: | Siluroidea |
วงศ์: | Chacidae Bleeker, 1858 |
สกุล: | Chaca Gray, 1831 |
ชนิด | |
|
วงศ์ปลากะแมะ (อังกฤษ: Chaca, Squarehead catfish, Frogmouth catfish, Angler catfish) เป็นวงศ์ปลาในอันดับปลาหนัง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Chacidae (/ชา-คิ-ดี้/)
มีรูปร่างแปลกอย่างเห็นได้ชัด มีส่วนหัวที่แบนราบ ปากกว้าง ตาเล็ก ครีบหลังสั้นมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 3-4 ก้าน ครีบท้องใหญ่แล ครีบหางแผ่กว้างปลายหางยกขึ้น เห็นสะดุดตา ครีบก้นสั้นประมาณ 8-10 ครีบ ไม่มีก้านครีบแข็ง ผิวหนังย่นและมีตุ่มขนาดต่างๆ เป็นติ่งหนังอยู่โดยรอบ โดยเฉพาะบริเวณปาก เพื่อหลอกล่อเหยื่อ ตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลคล้ำ มีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 20 เซนติเมตร[1]
อาศัยอยู่ในน้ำที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-8.0 ในป่าพรุ พบตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มักกบดานอยู่นิ่ง ๆ กับพื้น เพื่อดักรออาหารได้แก่ ลูกปลาและลูกกุ้งขนาดเล็ก
มีทั้งหมด 1 สกุล คือ Chaca (/ชา-คา/) แบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่[2]
- ปลากะแมะ (Chaca bankanensis)
- ปลากะแมะพม่า (Chaca burmensis) เป็นชนิดที่หายากที่สุด พบในป่าพรุในประเทศพม่าเท่านั้น
- ปลากะแมะอินเดีย (Chaca chaca) พบที่อินเดีย มีลำตัวที่ป้อมสั้นที่สุด มีผิวที่ขรุขระมากกว่าชนิดอื่น ๆ ปัจจุบัน สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
- ปลากะแมะบอร์เนียว (Chaca serica) เป็นชนิดที่ค้นพบใหม่ล่าสุด พบบนตอนใต้ของเกาะบอร์เนียว[3]
ซึ่งคำว่า "Chaca" ซึ่งเป็นทั้งชื่อของวงศ์และสกุลนั้น มาจากเสียงของปลากะแมะอินเดีย ที่ถูกจับขึ้นมาพ้นน้ำแล้วทำเสียงว่า "Chaca" ซึ่งเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ทำแบบนี้ได้[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า 61-62, สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ (พ.ศ. 2547) ISBN 974-00-8738-8
- ↑ The catfish family Chacidae
- ↑ Ng, H.H. & Kottelat, M. (2012): Chaca serica, a new species of frogmouth catfish (Teleostei: Siluriformes) from southern Borneo. Zootaxa, 3258: 37–45.
- ↑ Chaca chaca (อังกฤษ)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Chaca ที่วิกิสปีชีส์