ลัทธิอนาคตวงศ์ เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มรูปแบบหนึ่งของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในประเทศไทย เกิดขึ้นจากการตีความเนื้อหาของคัมภีร์ อนาคตวงศ์ อันเป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 และไม่ได้ปรากฏในพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพุทธ[1] คัมภีร์ดังกล่าวแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันรวมถึงประเทศไทยด้วย พวกเขาบูชาพระศรีอริยเมตไตรย พระมาลัย และมีธรรมเนียมการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์[2] พวกเขาเชื่อว่าการสละชีวิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัยแลกกับพระนิพพานถือเป็นบุญอันใหญ่หลวง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธแนวทางดังกล่าว จึงฆ่าตัวตายหรือทรมานร่างกายตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้นว่า เผาตัวตาย ตัดศีรษะ ใช้ของมีคมทิ่มแทงตนเอง เผามือต่างประทีป ถวายเป็นพุทธบูชา ตามเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนในสมัยนั้นต่างมองว่าเป็นเรื่องที่ควรยกย่อง[3][4][5] บางแห่งถึงกับมีการสร้างรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ไว้ด้วย[1][6] ทั้ง ๆ ที่คำสอนของศาสนาพุทธมิได้มีคำสอนให้ผู้ใดเสียชีวิตเพื่อแสดงศรัทธาก็ตาม[7][8]

วัดอรุณราชวราราม เมื่อ พ.ศ. 2512 สามารถมองเห็นศาลาสีขาวเบื้องหลังซ้ายขวา ซึ่งสร้างไว้เป็นอนุสรณ์แก่นายเรืองและนายนก ที่เผาตัวตายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของลัทธิอนาคตวงศ์

ลัทธิอนาคตวงศ์ได้รับความนิยมมากในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สาวกของลัทธินี้มีตั้งแต่ชาวบ้าน นักบวช และพระบรมวงศานุวงศ์[6] หลังการก่อตั้งธรรมยุติกนิกายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอุบัติขึ้น แนวคิดเหตุผลนิยมแพร่หลายอีกครั้ง ลัทธิอนาคตวงศ์จึงลดความสำคัญลงไป และยังทิ้งร่องรอยความเชื่อไว้ในบางท้องถิ่น[9]

ประวัติ แก้

ยุคแรก แก้

อนาคตวงศ์ หรือ ทสโพธิสัตตุนิทเส เป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่ถูกรจนาขึ้นโดยพระกัสสปะ (พ.ศ. 1703–1773) เป็นพระภิกษุยุคโจฬะจากอินเดียทางใต้[1] บ้างว่ารจนาโดยพระภิกษุจากล้านนา[10] เนื้อหาในพระคัมภีร์กล่าวถึงอนาคตพุทธเจ้าทั้ง 10 พระองค์ ซึ่งมีที่มาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ขุนนาง หรือแม้แต่สัตว์เดียรัจฉาน แต่ละพระองค์บำเพ็ญกุศลในระดับอุกฤษฎ์ มีสองเรื่องที่ตัดศีรษะถวายเป็นพุทธบูชา สองเรื่องเผาเส้นผมต่างประทีปจนตัวตาย อีกเรื่องคือยกโอรสธิดาให้ยักษ์กิน และอีกเรื่องคือพญาช้างอุทิศงาข้างหนึ่งเป็นแจกัน ข้างหนึ่งเป็นโลง และใช้หัวช้างเป็นที่ประชุมเพลิงสรีระของพระอรหันต์ เป็นต้น[1][10]

เพ็ญสุภา สุขคตะ อธิบายว่าศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในแถบที่ราบสูงเดกกันได้รับอิทธิพลจากแนวคิดภักติ (ตรงกับบาลีว่า ภตฺติ) ที่มองว่าศาสนิกชนต้องมีความภักดีต่อศรัทธาแบบไร้เงื่อนไข การเสียสละ และอุทิศตนแก่พระศาสนาแบบสุดโต่ง[1] คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อธิบายไว้อีกว่า คือการรักแบบสุดจิตสุดใจ และยอมมอบกายถวายชีวิตแก่พระเป็นเจ้า ถือเป็นวิธีหลุดพ้นอย่างหนึ่ง[11] ด้วยเหตุนี้ศาสนาพุทธในแถบนั้นจำต้องเปลี่ยนวิธีการเผยแผ่ เพื่อช่วงชิงศาสนิกชนกับศาสนาฮินดู เชน และอิสลาม ที่มีการแสดงออกอย่างสุดโต่งเช่นกัน[1] อย่างไรก็ตามกาเรล แวร์แนร์ (Karel Werner) นักภารตวิทยาชาวเช็กเกีย ระบุว่า "แนวคิดภักติหรือการอุทิศตนต่อพระศาสนาปรากฏให้เห็นตั้งแต่แรกตั้งศาสนาพุทธ"[12] ในเวลาต่อมาพระกัสสปะได้รับการอาราธนาจากพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ให้ไปเผยแผ่ศาสนาบนเกาะลังกาด้วย คัมภีร์อนาคตวงศ์จึงเคลื่อนตัวจากอินเดียใต้สู่ศรีลังกา ก่อนเคลื่อนเข้าสู่อาณาจักรสุโขทัย และล้านนา ตามลำดับ[1] รองศาสตราจารย์ สุภาพรรณ ณ บางช้าง หรือแม่ชีวิมุตติยา ระบุว่า ในบานแพนกของไตรภูมิพระร่วง มีการอ้างอิงคัมภีร์ทางศาสนาพุทธหลายเล่ม รวมไปถึงคัมภีร์อนาคตวงศ์ด้วย[1]

มีการพบหลักฐานคัมภีร์อนาคตวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา จารขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2240 ดร. บำเพ็ญ ระวิน ได้ปริวรรตจากใบลานที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา แล้วพบว่าคำศัพท์หลายคำเป็นภาษาไทยภาคกลาง อันแสดงให้เห็นว่ารับจากอาณาจักรอยุธยาอีกทอดหนึ่ง[1] แต่ล้านนาเองก็มี เชียงใหม่ปัณณาสชาดก แต่งขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ. 2000 มีเรื่องหนึ่งคือ สิริจุฑามณีราชชาดก ที่พระโพธิสัตว์อุทิศร่างกายของตนเองเป็นทานให้ยักษ์กิน แม้จะมีเนื้อหาที่ดูน่าสยดสยองดุจกัน แต่เกริก อัครชิโนเรศ ระบุว่า เชียงใหม่ปัณณาสชาดก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อนาคตวงศ์ แต่อย่างใด[1]

ยุครัตนโกสินทร์ แก้

ความเชื่อของลัทธิอนาคตวงศ์เริ่มชัดเจนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2333 มีชายคนหนึ่งชื่อนายเรือง (หรือ บุญเรือง) เอาสำลีชุบน้ำมันเป็นเชื้อพาดไว้ท้องแขนแล้วจุดไฟต่างประทีปเป็นพุทธบูชา หลายวันต่อมาก็นุ่งผ้าชุบน้ำมันเผาตัวเองตายหน้าศาลาการเปรียญเก่าวัดอรุณราชวราราม แล้วกล่าวว่าตนสำเร็จความปรารถนาแล้ว[3][13] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าเรื่องที่ทรงได้ฟังเกี่ยวกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในช่วงที่ทรงพระประชวรหนักในปัจฉิมวัย ทรงพยายามใช้พระแสงแทงพระหัตถ์พระองค์เองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ความว่า[14]

"...เมื่อทรงพระประชวรหนักให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสด็จออกมาวัดพระมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ มีพระบัณฑูรเรียกพระแสงดาบว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสง ทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทรงพระปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ ครั้งนั้นหม่อมลำดวนเข้าปล้ำปลุก แย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์..."

ครั้น พ.ศ. 2360 มีชายอีกคนหนึ่งชื่อนายนก เผาตัวตายบริเวณใต้ต้นโพ หน้าพระวิหารเก่า วัดอรุณราชวราราม[5][3] ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็พบเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน คือ มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อสุกเผาตัวตายที่วัดหงสาราม และมีนางชีอีกนางหนึ่งเผาตัวตายที่วัดพระพุทธบาท[15] มีสุภาพสตรีบางรายเอาน้ำมันเทลงบนอุ้งมือ เอาดินปั้นเป็นขาหย่าง ร้อยด้ายตั้งกลางใจมือ จุดไฟแทนตะเกียงเพื่อบูชาพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาท และบางคนเชือดเนื้อเพื่อเอาโลหิตของตนเองรองตะเกียงแทนน้ำมันสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า[15]

 
พระโพธิสัตว์ (หรือ พระศรีอริยเมตไตรย) พร้อมบริวาร ภาพจากสมุดไทยเรื่อง พระมาลัยคำหลวง

จุดสูงสุดของลัทธิอนาคตวงศ์ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวินิจฉัยไว้ว่า "...บรรดาชั้นไว้พระซึ่งเขียนรูปพระจุฬามณีไว้นั้น เท่าที่ได้พบเป็นฝีมือทำในรัชกาลที่ 3 ทั้งนั้น..."[2] ศรัณย์ ทองปาน เชื่อว่าศาลของนายเรืองและนายนกก็คงถูกสร้างในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง[2] แต่หลังการเผยแผ่ศาสนาพุทธคณะธรรมยุติกนิกายที่ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีแนวคิดแบบเหตุผลนิยมเป็นหลัก ก็เข้าไปแทนที่ความเชื่อของอนาคตวงศ์ลง และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีประกาศประณามคนบางจำพวกไว้ใน พ.ศ. 2401 ความว่า[16][17]

"...ได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรมให้รู้จริงมาเทศนาเลอะ ๆ ลาม ๆ ใกล้จะเสียจริต พรรณนาสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไปเหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัยแลเชือดคอเอาศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา [...] ตั้งแต่นี้สืบไปอย่าให้เห็นใครเผาตัวบูชาพระ ตัดศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระเลยเป็นอันขาด เพราะว่าเป็นการขัดต่อราชการแผ่นดิน...ผู้ซึ่งได้รู้เห็นแลจะนิ่งดูดายเสียไม่ห้ามปราม หรือจะพลอยเห็นว่าได้บุญได้กุศลนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ใดได้รู้เห็นแล้วดูดายเสีย ไม่ว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธ...จะให้ผู้นั้นเสียเบี้ยปรับตามรังวัด..."

หลังจากนั้นคัมภีร์อนาคตวงศ์ อนาคตพุทธเจ้า พระมาลัย และพระศรีอาริย์ก็ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนลงไป กลายเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเป็นเรื่องขำ ๆ ของคนยุคใกล้ ดังตัวอย่างลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่มีต่อพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เมื่อ พ.ศ. 2481 ความว่า "...ท่านผู้รจนาเรื่องพระมาลัยดูจะไม่ปกติคน ความเปนไปที่ท่านกล่าวล้วนแต่ผิดธรรมดา จะเปนไปไม่ได้ทั้งนั้น แต่กระนั้นคนก็ยังเชื่อกันมาก น่าปลาดอยู่..." และยังทรงมีลายพระหัตถ์ถึงหม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล เมื่อ พ.ศ. 2484 ความว่า "...ได้หนังสือแจกงานศพของใครมา เขาตีพิมพ์เรื่องอนาคตวงษ์ ในนั้นมีกล่าวถึงพระศรีอารย์ว่าแขนยาวเท่าไรขายาวเท่าไรเปนต้น อาว์อ่านเหน 'ผิดมนุษย์ม้วย' จึ่งเอากระดาษดินสอมาเขียนเปนสเคลอย่างเขาว่าขึ้น ได้แล้วก็หัวเราะ เอาปิดไว้ข้างฝา ใครมาก็ต้องถามทุกคนว่านั่นรูปอะไร พอบอกว่ารูปพระศรีอารย์ก็หัวเราะงอกัน เพราะรูปไม่ใกล้คน..."[18]

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564 ลัทธิอนาคตวงศ์ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อธรรมกร วังปรีชา หรืออดีตพระธรรมกร ฐานธมฺโม เจ้าอาวาสที่พักสงฆ์ภูหินกอง บ้านนาแค ตำบลลำภู อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ตัดศีรษะตนเองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยการสร้างอุปกรณ์เป็นห้างไม้พร้อมเชือกชักรอกสำหรับบั่นคอคล้ายกิโยตีน ด้วยหวังที่จะจุติเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ภายในที่พักสงฆ์มีการก่อสร้างรูปปั้นพระสังขจักรตัดศีรษะทูนถวายบนพาน และเมื่อยังเป็นบรรพชิตก็ได้เผยแผ่คำสอนดังกล่าวแก่ญาติโยมและศิษย์ด้วย[19] หลังธรรมกรกระทำการอัตวินิบาตกรรมสำเร็จแล้ว ก็มีลูกศิษย์คอยให้การสนับสนุนด้วยการเก็บศพโดยแยกส่วนร่างกายกับศีรษะจากกัน พร้อมกับชำระล้างเลือด ทำความสะอาดพื้นที่ รื้อห้างไม้บั่นศีรษะ นำศพจัดพิธีกรรมบำเพ็ญกุศล ฌาปนกิจ และนำหินมาวางเรียงเหมือนเจดีย์บนกระดูกของธรรมกร โดยมีชาวบ้านสวมชุดขาวร่วมพิธีราว 300 คน[20][21][22][23] โดยห้างไม้ถูกนำไปซ่อนไว้ในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีซึ่งห่างออกจากที่เกิดเหตุไป 50 กิโลเมตร[24] ต่อมาวันที่ 22 เมษายนปีเดียวกันได้มีการทุบทำลายรูปปั้นพระสังขจักรถวายเศียรออกเพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ[25]

ความเชื่อ แก้

 
พระมาลัย ภาพจากสมุดไทยเรื่อง พระมาลัยคำหลวง

บุคคลที่นับถือลัทธิอนาคตวงศ์จะนับถือพระศรีอริยเมตไตรย หรือนิยมเรียกว่า พระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอนาคตพุทธเจ้าเป็นหลัก พวกเขาปรารถนาที่จะได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ เพราะเชื่อกันว่าในยุคนั้นจะเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สมบูรณ์ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ผู้ปกครองมีศีลธรรม มีร่างกายสวยงามไม่ต้องทนทำงานลำบากหาเลี้ยงกาย ต้องการสิ่งใดก็ไปขอจากต้นกามพฤกษ์ ได้ฟังธรรมจากพระศรีอาริย์เพื่อก้าวล่วงวัฏสงสารไปสู่นิพพานในที่สุด[26] และเป็นที่พึงสังเกตว่าพวกเขาจะเคารพบูชาพระมาลัย ตามภาพจิตรกรรมฝาผนัง สมุดไทย พระบฏ หรือลายรดน้ำบนตู้พระธรรม[2]

มีปูชนียสถานสำคัญคือ จุฬามณีเจดีย์ จึงได้วาดภาพจำลองของเจดีย์ดังกล่าวไว้ รวมทั้งมีธรรมเนียมให้คนเจ็บหนักคนหรือคนใกล้ตายพนมมือด้วยกรวยดอกไม้ธูปเทียนเพื่อเตรียมตัวไปสักการะจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งพบการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ระดับสามัญชนจนถึงระดับเจ้านาย[2] และมีประเพณีสำคัญคือการเทศน์มหาชาติ เพราะเชื่อว่าพระศรีอาริย์ทรงฝากข้อความกับพระมาลัยเพื่อแจ้งมายังมนุษย์โลก[2]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงวินิจฉัยเรื่องชั้นไหว้พระ (หรือ ชั้ว) สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ตามบ้านเรือนของคนในยุคก่อนเอาไว้ ความว่า[2]

"...ที่ชั้นไหว้พระของเก่าย่อมเขียนอุดหลังไว้เป็นพระจุฬามณี มีเทวดาเหาะมาเปนกลุ่ม ๆ ทั้งนั้น ทำให้ตระหนักใจได้ว่าคนรุ่นก่อนนั้นตั้งใจจะไหว้พระจุฬามณีโดยมาก...คิดไปก็เห็นความไกลไปเปนอย่างอื่น ว่าตั้งใจจะไหว้พระศรีอาริยเทวโพธิสัตว์ หาใช่ตั้งใจจะไหว้พระโคตมพุทธะไม่ ด้วยหนังสือพระมาลัยนั้น แต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญคุณพระศรีอาริยเมไตรย พระมาลัยจึ่งต้องขึ้นไปไหว้พระจุฬามณี เพื่อจะได้พบกับพระศรีอาริยเทวโพธิสัตว์ แล้วจะได้แสดงคุณสมบัติแห่งพระองค์ พาคนให้ทะเยอทะยานอยากพบบ้าง ก็สมคิด คนจึ่งพระจุฬามณีมีพระศรีอาริยเทวโพธิสัตว์เสด็จมาไหว้ เพื่อทำใจให้หยั่งถึงอยู่ทุกวันจะได้พบ..."

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 เพ็ญสุภา สุขคตะ (1 พฤษภาคม 2564). "ปริศนาโบราณคดี : ความตายที่เลือกเองผลพวงจาก 'คัมภีร์อนาคตวงศ์' ปฏิสัมพันธ์อันย้อนแย้งระหว่างความรุนแรงและความศักดิ์สิทธิ์ เผาตัว ตัดคอ ขอปณิธาน!". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 111-112.
  3. 3.0 3.1 3.2 "เปิดพงศาวดาร อ่านจารึก นายนก-นายเรือง เผาตัวตาย จุดไฟที่แขนทุกวัน หวังสำเร็จโพธิญาณ". มติชนออนไลน์. 19 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ตัดเศียรถวายเป็นพุทธบูชา ความเชื่อที่มาจาก 'ลัทธิอนาคตวงศ์'". เดลินิวส์. 19 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 106.
  6. 6.0 6.1 ศรัณย์ ทองปาน (4 ธันวาคม 2560). "ตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา ความเชื่อ ศรัทธา ที่มาจากคัมภีร์โบราณ". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "ตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา ความเชื่อ ศรัทธา ที่มาจากคัมภีร์โบราณ". MCOT. 19 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. อริญชัย วีรดุษฎีนนท์ (20 เมษายน 2564). "พระฆ่าตัวตาย ถวายตัวเป็นพุทธบูชา ได้บุญจริงหรือ?". GQ Thailand. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 114-115.
  10. 10.0 10.1 ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 107.
  11. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (24 ธันวาคม 2563). "สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (1) : แนวคิดภักติ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. Karel Werner (1995), Love Divine: Studies in Bhakti and Devotional Mysticism, Routledge, ISBN 978-0700702350, pages 45-46
  13. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 105.
  14. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 109.
  15. 15.0 15.1 ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 108.
  16. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 112-113.
  17. "'พระตัดคอตัวเอง' เป็น 'พุทธบูชา' หรือ 'อัตวินิบาตกรรม'". กรุงเทพธุรกิจ. 19 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 115.
  19. "สำนักพุทธฯ ยันไม่มีอำนาจทุบรูปปั้นถือหัวในที่พักสงฆ์ภูหินกอง ตร.เร่งสอบปากคำลูกศิษย์ประกอบคดีอดีตพระธรรมกรตัดหัวตัวเอง". ผู้จัดการออนไลน์. 19 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. "เผย "พระธรรมกร" ตัดหัวถวายพุทธบูชาทั้งลูกศิษย์-ชาวบ้านรู้ล่วงหน้า ยันไม่ถืออาบัติปาราชิก". ผู้ตัดการออนไลน์. 18 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. "ช็อก "กิโยตีน" หั่นคอพระธรรมกร ถูกซ่อนแยกชิ้น สื่อเจอเชือกเปื้อนเลือด-กระดูกใต้หิน". Amarin TV. 18 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. "เปิดรูปสุดท้าย "พระธรรมกร" ลาสิกขา ก่อนตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา ลูกศิษย์เชื่อบรรลุแล้ว". ผู้ตัดการออนไลน์. 19 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. "ย้อนคดี'พระกิโยติน' ตัดหัวถวายพุทธบูชา ตร.เร่งเอาผิดคนรู้เห็น ย้ำ'อวิชชา'นอกคำสอน". ข่าวสด. 25 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "ศิษย์พระบั่นคอรื้อกิโยตีนใน 41 นาที หอบซ่อนข้ามจังหวัด เผาไม้เปื้อนเลือดพร้อมศพ". Amarin TV. 20 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "ทุบแล้ว! รูปปั้นเทพตัดหัว ยื่นถวายเป็นพุทธบูชา ของสำนักสงฆ์ภูหินกอง". Amarin TV. 22 เมษายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม–มิถุนายน 2562). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์ (PDF). ดำรงวิชาการ 8(2). p. 110.