ยูเทรกต์
ยูเทรกต์ หรือ อือเตร็คต์ (ดัตช์: Utrecht, ออกเสียง: [ˈytrɛxt] ( ฟังเสียง)) เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่สี่ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นเมืองหลวงของจังหวัดยูเทรกต์ บริเวณใจกลางของประเทศ มีประชากร 357,179 คนในปี ค.ศ. 2019[2]
ยูเทรกต์ Utrecht | |
---|---|
เมือง | |
หอมหาวิหารแห่งยูเทรกต์ | |
ประเทศ | เนเธอร์แลนด์ |
จังหวัด | ยูเทรกต์ |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | ยัน ฟันซาเนิน |
พื้นที่(2006) | |
• ทั้งหมด | 99.32 ตร.กม. (38.35 ตร.ไมล์) |
• พื้นดิน | 95.67 ตร.กม. (36.94 ตร.ไมล์) |
• พื้นน้ำ | 3.64 ตร.กม. (1.41 ตร.ไมล์) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 300,030 คน |
• ความหนาแน่น | 3,068 คน/ตร.กม. (7,950 คน/ตร.ไมล์) |
Source: Gemeente Utrecht[1] | |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 (CEST) |
ยูเทรกต์เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีอาคารเก่าแก่สมัยกลางตั้งอยู่เรียงราย เป็นศูนย์กลางทางศาสนาของเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 แม้จะเคยสูญเสียสถานะเจ้าชายมุขนายก ยูเทรกต์เคยเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของเนเธอร์แลนด์จนก่อนถึงช่วงยุคทองของเนเธอร์แลนด์ที่อัมสเตอร์ดัมเติบโตและทวีความสำคัญมากกว่า รวมถึงมีประชากรมากกว่า
ยูเทรกต์เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยยูเทรกต์อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางถนนและทางรถไฟของประเทศเนื่องจากตั้งอยู่บริเวณใจกลางประเทศพอดี มีสถานีรถไฟที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในประเทศตั้งอยู่กลางเมือง และเป็นเมืองที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมบ่อยที่สุดเป็นอันดับสองของเนเธอร์แลนด์รองจากอัมสเตอร์ดัม[3]
ประวัติศาสตร์
แก้สมัยโรมัน
แก้ประวัติที่ชัดเจนของยูเทรกต์ เริ่มต้นในสมัยโรมัน เมื่อจักรพรรดิเกลาดิอุส นำกองทัพเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปมาจนถึงดินแดนเนเธอร์แลนด์ จักรพรรดิตัดสินใจว่าจะไม่รุกรานขึ้นเหนือไปอีก จึงเริ่มวางแนวเขตแดนเลียบแม่น้ำไรน์และสร้างป้อมปราการและสร้างป้อมปราการแบบหลวมๆขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 50[4] มีกองกำลังประจำได้ราว 500 คน ในครั้งนั้น ป้อมปราการยูเทรกต์เป็นเพียงแนวไม้ที่เรียกว่า เตร็คตุม (Traiectum) ในภาษาโรมันซึ่งหมายถึงบริเวณที่จะข้ามแม่น้ำไรน์ได้ คำนี้ออกเสียงในภาษาดัตช์ว่า เตร็คต์ (Trecht) และได้มีการเติมคำว่า อือ (U) ที่มาจากภาษาดัตช์โบราณคำว่า อืต (uut) หมายถึง เก่าแก่ เพื่อให้ไม่ให้สับสนกับเมืองมาสทริชท์ จุดข้ามแม่น้ำเมิซที่ตกเป็นของโรมันเช่นกันทางตอนใต้[5][6]
ชุมชนรอบแนวป้อมปราการได้เติบโตขึ้น มีช่างฝีมือ พ่อค้า ทหารและครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ ต่อมาราว ค.ศ. 200 มีการเสริมความแข็งแรงของป้อมปราการด้วยการเปลี่ยนจากวัสดุไม้เป็นหินจากภูเขาไฟ[7] (ยังคงหลงเหลือแถวดอมสแควร์ในทุกวันนี้)
หลังจากนั้น ชาวเยอรมันได้รุกรานดินแดนของอาณาจักรโรมันและยูเทรกต์ก็ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโรมตั้งแต่ ค.ศ. 275 กลายเป็นดินแดนของชาวแฟรงก์ ที่เรืองอำนาจหลังการล่มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันตก และในช่วงนี้ไม่ค่อยมีบันทึกเกี่ยวกับยูเทรกต์เท่าใดนัก
ศูนย์กลางทางคริสต์ศาสนาของเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 650 ถึง 1579)
แก้เมื่อปี ค.ศ. 695 สมเด็จพระสันตะปาปาเซอร์จิอุสที่ 1 แต่งตั้งนักบุญวิลลิบรอร์ดขึ้นเป็นบาทหลวงแห่งดินแดนฟรีเชีย จึงได้มีการสถาปนามุขมณฑลยูเทรกต์ (Bishopric of Utrecht) ขึ้น ต่อมาใน ค.ศ. 723 ชาร์ล มาร์แตล ผู้ปกครองราชอาณาจักรแฟรงก์ยกป้อมปราการและดินแดนโดยรอบให้มุขมณฑล ยูเทรกต์จึงค่อยๆกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในเนเธอร์แลนด์นับตั้งแต่นั้น ยูเทรกต์แข่งขันเรื่องอำนาจกับเมืองโดเรอสตัด ศูนย์กลางการค้าในสมัยนั้น แต่พอโดเรอสตัดเสื่อมลงในปี ค.ศ. 850 ยูเทรกต์กลายเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดในเนเธอร์แลนด์[8] บาทหลวงประจำถิ่นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชาย มุขมณฑลจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นมุขนายก (Prince-Bishopric) ใน ค.ศ. 1024
เมื่อ ค.ศ. 1527 พระสังฆราชได้ขายที่ดินให้กับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ยูเทรกต์จึงสิ้นอำนาจทางสงฆ์และสถานะเจ้าชายมุขนายก ตกเป็นพื้นที่ขุนนางทางโลกภายใต้การบริหารของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คซึ่งในขณะนั้นได้ปกครองดินแดนเนเธอร์แลนด์ส่วนอื่นด้วย คณะสงฆ์ได้ส่งมอบอำนาจการเลือกสังฆราชให้กับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 โดยได้รับความยินยอมจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 อย่างไรก็ตาม อำนาจทางสงฆ์ของยูเทรกต์ยังไม่เสื่อมไป ยังคงเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนาอยู่เรื่อยมา
สาธารณรัฐดัตช์ (ค.ศ. 1579 ถึง 1806)
แก้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คปกครองยูเทรกต์ได้เพียงไม่นาน ยูเทรกต์ได้เข้าร่วมกับจังหวัดอื่นๆในเนเธอร์แลนด์ทำการปฏิวัติต่อการปกครองของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐดัตช์เมื่อปี ค.ศ. 1579 ในปีต่อมา มีการล้มเลิกมุขมณฑลและอัครมุขมณฑล และให้ยูเทรกต์ขึ้นตรงต่อการปกครองของสาธารณรัฐโดยตรง ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ฮอลแลนด์ ความรุ่งเรืองของยูเทรกต์จึงเริ่มซบเซาลง ประชาชนผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกลดลงเหลือแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อกลางศตวรรษที่ 17[9]
ต่อมา เนเธอร์แลนด์เกิดสงครามกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1672 อันเป็นปีหายนะสิ้นสุดยุคทองของเนเธอร์แลนด์ แม้จะไม่เสียเอกราชแต่ฝรั่งเศสเคยยึดครองพื้นที่ได้ถึงทางตะวันตกของยูเทรกต์ อีกสองปีต่อมาเกิดพายุทอร์นาโดพัดถล่มใจกลางยูเทรกต์ บ้านเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนักรวมถึงมหาวิหารสำคัญของเมือง จึงได้มีการสร้างหอคอยที่ดอมสแควร์ขึ้นมาแทน
ยูเทรกต์เป็นสถานที่ลงนามในสนธิสัญญายูเทรกต์ อันเป็นการตกลงระหว่างรัฐต่าง ๆ ในยุโรปและช่วยในการยุติสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน เมื่อ ค.ศ. 1713 ต่อมาเนเธอร์แลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1806 ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียน จนสิ้นสุดสงครามนโปเลียน เนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยรวมประเทศเบลเยียมเข้าเป็นส่วนหนึ่งด้วย ในปี ค.ศ. 1815
สมัยใหม่ (ค.ศ. 1815 ถึงปัจจุบัน)
แก้ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยูเทรกต์หมดความสำคัญในฐานะเมืองป้อมปราการ จึงมีการวางผังเมืองใหม่ เริ่มจากการทำลายกำแพงเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ทางรถไฟระหว่างยูเทรกต์กับอัมสเตอร์ดัมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1843 หลังจากนั้นยูเทรกต์จึงค่อยๆกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของเครือข่ายรถไฟเนเธอร์แลนด์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับยูเทรกต์ที่ขยายตัวออกไปเกินขอบเขตในสมัยกลาง เมื่อปี ค.ศ. 1853 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้อำนาจของมุขมณฑลสงฆ์ของยูเทรกต์กลับมาอีกครั้ง ยูเทรกต์จึงกลายเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนาในเนเธอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยูเทรกต์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีเยอรมนี เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนอื่นของเนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งได้เยอรมนียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการพัฒนาเมืองออกสู่รอบนอก ส่วนพื้นที่ใจกลางเมืองถูกพัฒนาให้ทันสมัย เกิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มากมาย
อ้างอิง
แก้- ↑ "Bericht". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2009-10-06.
- ↑ https://opendata.cbs.nl/statline/#/CBS/nl/dataset/37230ned/table?ts=1578685738191
- ↑ Gemeente Utrecht. "Utrecht Monitor 2007" (PDF) (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-02-06. สืบค้นเมื่อ 6 January 2008.
- ↑ de Bruin, R.E.; Hoekstra, T.J.; Pietersma, A. (1999). Twintig eeuwen Utrecht, korte geschiedenis van de stad (ภาษาดัตช์). Utrecht: SPOU & Het Utrechts Archief. ISBN 90-5479-040-7.
- ↑ Het Utrechts Archief. "Het ontstaan van de stad Utrecht (tot 100)" (ภาษาดัตช์).
- ↑ Nicoline van der Sijs (2001). Chronologisch woordenboek. De ouderdom en herkomst van onze woorden en betekenissen (ภาษาดัตช์). Amsterdam/Antwerpen. p. 100. ISBN 90-204-2045-3.
- ↑ R.P.J. Kloosterman (2010). Lichte Gaard 9. Archeologisch onderzoek naar het castellum en het bisschoppelijk paleis. Basisrapportage archeologie 41 (PDF). StadsOntwikkeling gemeente Utrecht. ISBN 978-90-73448-39-1.
- ↑ van der Tuuk, Luit (2005). "Denen in Dorestad". ใน Ria van der Eerden; และคณะ (บ.ก.). Jaarboek Oud Utrecht 2005. Jaarboek Oud Utrecht (ภาษาดัตช์). Utrecht: SPOU. pp. 5–40. ISBN 90-71108-24-4.
- ↑ Wayne Franits (2004). Dutch Seventeenth-Century Genre Painting. Yale University Press. p. 65. ISBN 0-300-10237-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ยูเทรกต์
- Official website of the city
- Official website of the city เก็บถาวร 2011-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (in English)
- Mobile website of the city เก็บถาวร 2011-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- CU 2030, redevelopment of the Utrecht Central railroad station area (Dutch only)
- Maps