ยาซูโอะ ฟูกูดะ
ยาซูโอะ ฟูกูดะ (ญี่ปุ่น: 福田康夫; โรมาจิ: Fukuda Yasuo; เกิด 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 91 ของประเทศญี่ปุ่น[1] และเป็นอดีตประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น[2]
ยาซูโอะ ฟูกูดะ 福田康夫 | |
---|---|
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น | |
ดำรงตำแหน่ง 26 กันยายน พ.ศ. 2550 – 24 กันยายน พ.ศ. 2551 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิอากิฮิโตะ |
ก่อนหน้า | ชินโซ อาเบะ |
ถัดไป | ทาโร อาโซ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เมืองทากาซากิ จังหวัดกุมมะ ประเทศญี่ปุ่น |
พรรคการเมือง | พรรคเสรีประชาธิปไตย |
คู่สมรส | คิโยโกะ ฟูกูดะ |
นายฟูกูดะและคณะรัฐมนตรีของเขาเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 ภายหลังจากนายฟูกูดะได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจากสมเด็จพระจักรพรรดิในวันเดียวกันนั้น[1]ซึ่งตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามการเสนอชื่อของรัฐสภา[3]
นายฟูกูดะเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น โดยได้อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาทั้งสิ้น 1,289 วันทั้งในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยชิโร โมริ และนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิ[4]
นายฟูกูดะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นคนแรกที่บิดาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน[5] นอกจากนั้น ในวัย 71 ปี นายฟูกูดะเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่นายคิอิจิ มิยาซาวะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 78 ในขณะที่เขามีอายุได้ 72 ปีเมื่อปีพ.ศ. 2534[6]
ประวัติก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง
แก้นายฟูกูดะเกิดที่เมืองทากาซากิ จังหวัดกุมมะ เขาเป็นบุตรชายคนโตของนายทาเกโอะ ฟูกูดะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 67 ของประเทศญี่ปุ่น เขาศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอาซาบุ และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะในปีพ.ศ. 2502 หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว นายฟูกูดะได้เข้าทำงานที่บริษัทมารุเซ็งปิโตรเลียม เขาได้เติบโตในหน้าที่การงานจนได้เป็นหัวหน้าฝ่ายและทำงานที่บริษัทแห่งนี้จนถึงปีพ.ศ. 2518
ประวัติในแวดวงการเมือง
แก้นายฟูกูดะได้ทำงานเป็นหัวหน้าเลขานุการของบิดา ในช่วงที่บิดาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 ถึงปีพ.ศ. 2521 และเป็นเลขานุการส่วนตัวในช่วงที่บิดาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ถึงปีพ.ศ. 2532
นายฟูกูดะได้ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคเสรีประชาธิปไตยในเขตเลือกตั้งจังหวัดกุมมะ เขตที่สี่ ในปีพ.ศ. 2533 และได้รับชัยชนะ โดยเขาได้เป็นสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตนั้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เขาได้รับเลือกให้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศของพรรคเสรีประชาธิปไตยในปีแรกของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายฟูกูดะยังได้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการต่างๆ เช่น ด้านการต่างประเทศ การเงิน และงบประมาณ ฯลฯ ทั้งในพรรคเสรีประชาธิปไตยเอง และในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้น เขายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงปลายปีพ.ศ. 2538 และตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยในช่วงปีพ.ศ. 2540 จนถึงปีพ.ศ. 2541
นายฟูกูดะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่สองของนายกรัฐมนตรีโยชิโร โมริตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2543 จนกระทั่งนายโมริพ้นจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2544 เมื่อนายจุนอิจิโร โคอิซูมิได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายนนั้น นายฟูกูดะก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป เขาลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ภายหลังจากยอมรับว่าเคยไม่ได้จ่ายเงินในส่วนของตนเข้าระบบเงินบำนาญสาธารณะ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้เขาลาออกอย่างฉับพลันคือความขัดแย้งที่เขามีกับนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ นอกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว นายฟูกูดะยังได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโอกินาวาตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2543 และตำแหน่งรัฐมนตรีกำกับดูแลความเสมอภาคทางเพศ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547
ในช่วงต้นถึงกลางปีพ.ศ. 2549 ชาวญี่ปุ่นต่างพากันจับตานายฟูกูดะในฐานะหนึ่งในผู้ที่สามารถจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและนายกรัฐมนตรีต่อจากนายโคอิซูมิ แต่เขาได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ว่าจะไม่ขอรับการเสนอชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว ในเวลาต่อมา นายชินโซ อาเบะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย และได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 90 ต่อจากนายโคอิซูมิ ในวันที่ 20 กันยายน และ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามลำดับ
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งของนายฟูกูดะคือการที่นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นจะต้องไม่ไปสักการะดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตในสงครามที่ศาลเจ้ายาซูกูนิซึ่งเป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโตในเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. 2549 เขาได้ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอีก 134 คน ในการยื่นข้อเสนอให้จัดตั้งอนุสรณ์สถานซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันกับศาสนาเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงคราม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อที่จะได้ไม่เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญที่ได้แบ่งแยกศาสนจักรและอาณาจักรออกจากกันอย่างชัดเจน
โดยในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550 นายฟูกูดะได้เปิดเผยว่าเขาตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ในปีพ.ศ. 2549 เพราะเขาไม่อยากให้ประเด็นการเยือนศาลเจ้ายาซูกูนิมาเป็นจุดสำคัญในการเลือกตั้งประธานพรรคฯ และครอบครัวของเขากับครอบครัวของนายอาเบะเองก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากว่าสามชั่วคนแล้ว[7]
บนหนทางสู่ตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและนายกรัฐมนตรี
แก้ภายหลังจากนายชินโซ อาเบะได้ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายฟูกูดะได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่าจะลงชิงชัยในตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ถ้าหากเขาได้เป็นประธานพรรคฯ นายฟูกูดะก็จะได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคโคเมซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรร่วมรัฐบาลกุมเสียงข้างมากอยู่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
นายฟูกูดะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากกลุ่มของสมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยเป็นจำนวนถึงแปดในเก้ากลุ่ม โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เขาสังกัดอยู่ ซึ่งนำโดยนายโนบูตากะ มาชิมูระรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน (กลุ่มนี้มีชื่อเป็นทางการว่าเซวะ เซซากุ เค็งกิวไก เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร มีแนวทางอนุรักษนิยมและนิยมแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก นายทาเกโอะ ฟูกูดะก่อตั้งกลุ่มนี้ในปีพ.ศ. 2505 ผู้นำกลุ่มคนก่อนรวมถึงนายโมริและนายชินตาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บิดาของนายชินโซ อาเบะ) นายฟูกูดะได้กล่าวกับที่ประชุมกลุ่มที่เขาสังกัดอยู่เมื่อวันที่14 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่า “หากมันเป็นสถานการณ์ปรกติแล้ว ข้าพเจ้าคงจะไม่ลงสมัคร แต่[เวลานี้]ข้าพเจ้าจำต้องทำ เพราะว่าเวลานี้ไม่ใช่สถานการณ์ปรกติ เรากำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยที่ก่อนหน้านั้น เขาได้ใช้เวลาไปกับการหารือกับหัวหน้ากลุ่มต่างๆในพรรคฯ เพื่อหาเสียงสนับสนุนและกำหนดประเด็นเชิงนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกันในอนาคต ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของญี่ปุ่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย
นายฟูกูชิโร นูกางะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งก่อนหน้านี้ได้แสดงท่าที่ว่าสนใจจะลงชิงตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ได้ประกาศเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 หลังจากหารือกับนายฟูกูดะว่าตนจะไม่ลงชิงตำแหน่งดังกล่าว และประกาศจะสนับสนุนนายฟูกูดะแทน โดยคู่แข่งคนสำคัญคนเดียวของนายฟูกูดะคือนายอาโซ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ไม่นานก่อนนายอาเบะจะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคฯและนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 นายอาโซซึ่งได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯเพื่อประกาศลงชิงตำแหน่งประธานพรรคฯอย่างเป็นทางการ นายอาโซได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากกลุ่มในพรรคเสรีประชาธิปไตยเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มที่เขาเป็นหัวหน้าอยู่ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเพียง 16 คนเท่านั้น ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของนายอาโซคือการที่เขาจะต้องชี้ถึงจุดอ่อนเรื่องความไม่โปร่งใสในการเลือกประธานพรรคฯที่เน้นแค่สิ่งที่เขาเรียกว่า “การตกลงกันลับๆ” ของกลุ่มต่างๆภายในพรรค และการที่เขาเน้นความสำคัญของคะแนนเสียงจากสาขาของพรรคในจังหวัดต่างๆ นายอาโซกล่าวว่าการเลือกตั้งฯที่มีรากฐานอยู่บนการงุบงิบตกลงกันระหว่างกลุ่มต่างๆของสมาชิกรัฐสภาจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองโดยไม่คำนึงถึงความก้าวหน้าที่เกิดจากการปฏิรูปที่เกิดขึ้นภายใต้ยุคที่นายโคอิซูมิเป็นประธานพรรคฯ
สำนักงานพรรคเสรีประชาธิปไตยได้เปิดรับใบสมัครลงชิงตำแหน่งประธานพรรคฯในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 และการลงคะแนนเสียงได้มีขึ้นในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยทุกคนจะมีคะแนนเสียงคนละหนึ่งคะแนน ในขณะที่สาขาพรรคในแต่ละจังหวัดจะมีคะแนนเสียงสาขาละ 3 คะแนน
ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550 นายฟูกูดะชนะนายอาโซในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยที่มีขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคฯในกรุงโตเกียว โดยนายฟูกูดะได้คะแนนเสียงทั้งสิ้น 330 คะแนน (254 คะแนนจากสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยที่เป็นสมาชิกรัฐสภา และ 76 คะแนนจากสาขาพรรค) ในขณะที่นายอาโซได้ 197 คะแนน (132 คะแนนจากสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยที่เป็นสมาชิกรัฐสภา และ 65 คะแนนจากสาขาพรรค)
คะแนนเสียงรวมทั้งสิ้นคือ 528 คะแนน (นับรวมบัตรเสียหนึ่งใบ) โดยสามารถแบ่งได้เป็นคะแนนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคฯ 304 คะแนน คะแนนจากสมาชิกวุฒิสภาในสังกัดพรรคฯ 83 คะแนน และอีก 141 คะแนนจากสาขาพรรคฯในจังหวัดทั้ง 47 จังหวัด
นายฟูกูดะซึ่งเป็นผู้นำของพรรคที่กุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 91 ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550[8] โดยมีบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายฟูกูดะอีก 4 คน ได้แก่นายอิจิโร โอซาวะ ประธานพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายคาซูโอะ ชิอิซึ่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น นายมิซูโฮะ ฟูกูชิมะประธานพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม และนายทามิซูเกะ วาตานูกิประธานพรรคโคกูมินชินโต
ในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีการออกเสียงทั้งหมด 477 เสียง (นับรวมเสียงที่เป็นโมฆะด้วย 1 เสียง) นายฟูกูดะชนะการลงคะแนนโดยนับจากเสียงข้างมากจึงได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขาได้คะแนนเสียง 338 คะแนนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคโคเมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในขณะทีนายโอซาวะได้ 117 คะแนน นายชิอิได้ 9 คะแนน นายฟูกูชิมะได้ 7 คะแนน และนายวาตานูกิได้ 5 คะแนน
ในขณะที่ในวุฒิสภาซึ่งมีการออกเสียงทั้งหมด 240 เสียง (นับรวมเสียงที่เป็นโมฆะด้วย 1 เสียง) นายฟูกูดะไม่ได้ชนะการลงคะแนนจึงไม่ได้รับการเสนอชื่อจากวุฒิสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายโอซาวะซึ่งเป็นหัวหน้าของพรรคที่ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้รับชัยชนะในการลงคะแนนโดยนับจากเสียงข้างมากจึงได้รับการเสนอชื่อจากวุฒิสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงคะแนนเสียงรอบแรก ไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมาก โดยนายโอซะวะได้คะแนนเสียง 117 คะแนน ในขณะที่นายฟูกูดะได้ 106 คะแนน นายชิอิได้ 7 คะแนน นายฟูกูชิมะได้ 5 คะแนน และนายวาตานูกิได้ 4 คะแนน จึงต้องลงคะแนนใหม่อีกครั้ง การลงคะแนนเสียงรอบสองนี้คัดเอาเฉพาะผู้มีคะแนนสูงสุดสองคนในรอบแรก ได้แก่ นายโอซาวะและนายฟูกูดะ โดยสมาชิกวุฒิสภาที่ได้ลงคะแนนสนับสนุนนายชิอิ นายฟูกูชิมะ และนายวาตานูกิในรอบแรกต่างก็ได้เทคะแนนสนับสนุนนายโอซาวะทำให้นายโอซาวะได้เสียงข้างมากไป โดยนายโอซาวะได้ 133 คะแนน ในขณะที่นายฟูกูดะได้ 106 คะแนนเท่าเดิม
เนื่องจากบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากมติของทั้งสองสภานั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกัน ทั้งสองสภาจึงต้องจัดให้มีคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างทั้งสองสภาเพื่อหามติร่วมว่าจะเลือกนายฟูกูดะหรือนายโอซะวะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมาธิการร่วมดังกล่าวก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ฉะนั้น กระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีจึงต้องอาศัยอำนาจตามมาตราที่ 67 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ให้ถือมติของสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของรัฐสภาในกรณีที่บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากมติของทั้งสองสภานั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกัน และกรรมาธิการร่วมฯก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ด้วยเหตุนี้ นายฟูกูดะซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากมติของสภาผู้แทนราษฎรจึงได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี[8][9]
นายฟูกูดะและคณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระจักรพรรดิในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายฟูกูดะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันนั้น[10]
การลาออกจากตำแหน่งนายกรํฐมนตรี
แก้ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 นายฟูกูดะได้แถลงว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยอย่างกะทันหันเมื่อเวลา 21.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยให้เหตุผลหลักว่าโครงสร้างอำนาจการเมืองในรัฐสภาในปัจจุบันทำให้เขาและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถทำให้เขาดำเนินนโยบายบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาได้ย้ำว่าเหตุผลในการลาออกของเขานั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเหตุผลในการลาออกของนายอาเบะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้าเขา อนึ่ง การลาออกของเขามีขึ้นก่อนสมัยประชุมรัฐสภาที่จะพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญต่างๆจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 กันยายน
นายฟูกูดะพร้อมคณะรัฐมนตรีของเขาได้ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 24 กันยายน เพื่อเปิดทางให้รัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรํฐมนตรีคนใหม่ในวันเดียวกันนั้นเอง
บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ
แก้นายฟูกูดะมีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งต่างจากนายอาโซที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่าต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยนายอาโซเคยกล่าวว่าจีนกำลังจะเป็น “ภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวง” ต่อญี่ปุ่น
เขายังได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศว่าเป็นผู้นำในการให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาประชากรและการพัฒนาในหมู่นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบาย
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา นายฟูกูดะได้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา (Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development หรือ AFPPD)[11] ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นายฟูกูดะได้ทำหน้าที่ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเพื่อเป็นประธานในการประชุมสมาชิกรัฐสภาในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชากรและการพัฒนา
ความเกี่ยวพันกับประเทศไทย
แก้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการตามโครงการปฏิบัติการของ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (IPCI/ICPD) ครั้งที่ 3 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 และได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายฟูกูดะในฐานะประธานองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนาและประธานดำเนินการในการประชุมเฝ้าฯด้วย[12]
รายละเอียดครอบครัว
แก้นายฟูกูดะได้สมรสกับนางสาวคิโยโกะ ยาซูดะ โดยมีบุตรชายสองคนและบุตรสาวหนึ่งคน
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Japan's new leadership sworn in". BBC News. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550
- ↑ "Fukuda Elected LDP Chief, Will Become Prime Minister". Bloomberg.com. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
- ↑ "The Constitution of Japan" เก็บถาวร 2007-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วุฒิสภาญี่ปุ่น. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
- ↑ "Fukuda triumphs in LDP race / New leader eyes 'revival' of party after winning 63% of vote"[ลิงก์เสีย]. Daily Yomiuri Online. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
- ↑ "Fukuda elected prime minister in Diet faceoff" เก็บถาวร 2012-07-18 ที่ archive.today. The Japan Times Online. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
- ↑ "FACTBOX-Fukuda wins parliamentary backing as prime minister" เก็บถาวร 2012-07-18 ที่ archive.today. Reuters UK. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
- ↑ "Yasukuni issue kept me out of '06 presidential race: Fukuda". The Japan Times Online. เรียกข้อมูลวันที่ 29 กย. 2550.
- ↑ 8.0 8.1 "LDP leader Fukuda elected prime minister". Mainichi Daily News. 2007-09-25. สืบค้นเมื่อ 2007-09-26.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Fukuda installed as Japanese PM", BBC News, September 25, 2007.
- ↑ "Japan's new leadership sworn in", BBC News, September 26, 2007.
- ↑ "56th AFPPD Executive Commitee Meeting: New Office Bearers" เก็บถาวร 2007-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. AFPPD Newsletter. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
- ↑ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุม IPCI/ICPD" เก็บถาวร 2007-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ภาพ-ข่าว-วุฒิสภา. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.