มาร์ทีน ไฮเด็กเกอร์

มาร์ทีน ไฮเด็กเกอร์ (เยอรมัน: Martin Heidegger) เป็นนักปรัชญาและนักคิดชาวเยอรมัน เขาตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ (being) ของมนุษย์ด้วยวิธีทางปรากฏการณ์วิทยา เจ้าของผลงาน ภาวะและเวลา (Sein und Zeit) งานเขียนทางปรัชญาที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20

มาร์ทีน ไฮเด็กเกอร์
Martin Heidegger
ไฮเด็กเกอร์ใน ค.ศ. 1960
เกิด26 กันยายน ค.ศ. 1889
เม็สเคียร์ช จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต26 พฤษภาคม ค.ศ. 1976(1976-05-26) (86 ปี)
ไฟรบวร์ค ประเทศเยอรมนีตะวันตก
สัญชาติเยอรมัน
ยุคศตวรรษที่ 20
แนวทางปรัชญาตะวันตก
สถาบันมหาวิทยาลัยมาร์บวร์ค
มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค
ความสนใจหลัก
ลายมือชื่อ

ไฮเด็กเกอร์เห็นว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ตน และการเข้าใจความหมายการดำรงอยู่ของมนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจผ่านเวลา มนุษย์เกิดและดำรงอยู่ในโลกที่มีอยู่ก่อนหน้า และพยายามทำให้โลกและชีวิตบนโลกมีความหมายด้วยการทำกิจวัตรต่างๆ เพื่อให้เวลาผ่านพ้นไป กิจวัตรเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความหมายให้แก่ชีวิตของเรา ทว่าถึงจุดหนึ่ง มนุษย์ก็จะค้นพบเส้นขอบฟ้าที่เบื้องปลายของการดำรงอยู่ (outermost horizon of being) เป็นขีดจำกัดที่มนุษย์มิอาจก้าวผ่าน นั่นคือความตาย

ประวัติ แก้

มาร์ทีน ไฮเด็กเกอร์ เป็นบุตรของนายฟรีดริช ไฮเด็กเกอร์ และนางโยฮันนา เค็มพฟ์ เขาเติบโนในบรรยากาศที่มีศรัทธาต่อศาสนาคริสต์คาทอลิกอย่างเต็มที่ และคลุกคลีอยู่กับบรรยากาศของโบสถ์ ต่อมาใน ค.ศ. 1903 เขาสมัครเข้าสถานอบรมบาทหลวงของอัครมุขมณฑลไฟรบวร์ค และเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนของสังฆมณฑล ต่อมาใน ค.ศ. 1909 จึงเข้าฝึกเป็นเยสุอิตและเรียนปรัชญาและเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค

ใน ค.ศ. 1911 เขาลาออกจากคณะเยสุอิต และศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดิม ในที่สุดก็เปลี่ยนใจมาทำปริญญาทางปรัชญา และจบการศึกษาดุษฎีบัณฑิตสาขาปรัชญาใน ค.ศ. 1913 ภายหลังเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระหว่าง ค.ศ. 1917–1919 เขาก็กลับมาสอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค และได้เป็นผู้ช่วยของเอ็ทมุนท์ ฮุสเซิร์ล จนถึง ค.ศ. 1923 ไฮเด็กเกอร์ออกหนังสือชื่อว่า ภาวะและเวลา ต่อมาใน ค.ศ. 1928 เขาได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แทนที่ฮุสเซิร์ลซึ่งเกษียณอายุ

หลังฮิตเลอร์เถลิงอำนาจใน ค.ศ. 1933 ไฮเด็กเกอร์รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค และเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซี เขากล่าวออกวิทยุสนับสนุนให้เยอรมนีออกจากองค์การสันนิบาตชาติ สร้างความไม่พอใจแก่เพื่อน ๆ อาจารย์ เขาดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้หนึ่งปีเต็มก็ลาออกจากตำแหน่งโดยยังคงเป็นอาจารย์อยู่ ใน ค.ศ. 1944 ไฮเด็กเกอร์ถูกเกณฑ์เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีหน้าที่ขุดสนามเพลาะให้กองทัพเยอรมัน เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม เขาถูกห้ามสอนและใช้ชีวิตอยู่ชานเมืองไฟรบวร์ค ในช่วงนี้เขามีเวลาว่างในการคิดและเขียนหนังสือออกมามาก

อ้างอิง แก้

  1. Heidegger's Hidden Sources: East-Asian Influences on His Work by Reinhard May, 1996.
  2. Brian Elliott, Phenomenology and Imagination in Husserl and Heidegger, Routledge, 2004, p. 132.
  3. Giorgio Agamben, The Open: Man and Animal, trans. Kevin Attell (Stanford University Press, 2004), p. 39.
  4. Zupko, Jack (28 December 2017). Zalta, Edward N. (บ.ก.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy. Metaphysics Research Lab, Stanford University – โดยทาง Stanford Encyclopedia of Philosophy.