มาทิลดาแห่งอังกฤษ ดัชเชสแห่งซัคเซิน
มาทิลดาแห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Matilda of England, เยอรมัน: Mathilde von England) หรือ มอด เป็นพระราชธิดาองค์โตของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับพระนางอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน ทรงเป็นดัชเชสแห่งซัคเซินและบาวาเรีย ผ่านทางการอภิเษกสมรสกับดยุคไฮน์ริชสิงห์ ทรงเป็นดัชเชสแห่งซัคเซินและบาวาเรีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1168 จนถึงการถูกปลดออกจากตำแหน่งของพระราชสวามีในปี ค.ศ. 1180 พระนางถูกตั้งพระนามตามจักรพรรดินีมาทิลดา พระอัยกี
มาทิลดาแห่งอังกฤษ | |
---|---|
รายละเอียดจากหลุมฝังศพของมาทิลดาที่อาสนวิหารบรุนสวิก ค.ศ. 1230 | |
ดัชเชสแห่งซัคเซิน | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1168– ค.ศ. 1180 |
ก่อนหน้า | คลีเม็นเทียแห่งซารินเก็น |
ถัดไป | จูดิธแห่งโปแลนด์ |
ดัชเชสแห่งบาวาเรีย | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1168– ค.ศ. 1180 |
ก่อนหน้า | คลีเม็นเทียแห่งซารินเก็น |
ถัดไป | แอกเนสแห่งลูน |
ประสูติ | 6 มกราคม ค.ศ. 1156 ปราสาทวินด์เซอร์ บาร์กเชอร์ อังกฤษ |
สวรรคต | 28 มิถุนายน ค.ศ. 1189 (พระชันมายุ 33 ชันษา) เบราน์ชไวค์ นีเดอร์ซัคเซิน |
ฝังพระศพ | อาสนวิหารบรุนสวิก นีเดอร์ซัคเซิน |
พระราชสวามี | ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย |
พระราชบุตร รายละเอียด | มาทิลดา เคานต์เตสแห่งแปร์ชและกูซี ไฮน์ริชที่ 5 เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ โลทาร์แห่งบาวาเรีย ออทโทที่ 4 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ดยุกแห่งสวาเบีย วิลเลียมแห่งวินเชสเตอร์ ลอร์ดแห่งลือเนอบวร์ค |
ราชวงศ์ | แพลนแทเจเนต / อ็องฌู[1] |
พระราชบิดา | พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ |
พระราชมารดา | อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน |
พระชนม์ชีพช่วงต้น
แก้มาทิลดาเป็นพระธิดาองค์โตของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน[2][3][4] พระองค์ประสูติในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1156 ที่ปราสาทวินด์เซอร์[2] หลังพระเชษฐา เฮนรียุวกษัตริย์ เพียง 15 เดือน ในฤดูร้อนนั้นพระเชษฐาของพระองค์ วิลเลียม สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุเพียง 3 พรรษา พระองค์ถูกพาตัวไปยังลอนดอนเพื่อรับศีลล้างบาปจากอาร์ชบิชอปธีโอบอลด์แห่งแคนเทอร์บรีที่โบสถ์ของพระตรีเอกานุภาพที่อัลด์เกต ทรงได้รับการตั้งชื่อตามจักรพรรดินีมาทิลดา พระมารดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2
มาทิลดากับพระเชษฐา เฮนรี มีพระชนมายุใกล้กันมากและใช้ช่วงเวลาในวัยเยาว์ร่วมกันในครัวเรือนของพระมารดา ทั้งคู่ถูกพาตัวไป ๆ มา ๆ ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสและมีความใกล้ชิดกับราชสำนักของเอเลนอร์ พระบิดาของทั้งคู่วุ่นวายกับการเมืองต่างแดนในเวลานั้นและในวัยเด็กทั้งคู่อาจเคยพบปะกับพระองค์เพียงไม่กี่ครั้ง
ในฐานะพระราชธิดองค์โตของกษัตริย์ เจ้าหญิงมาทิลดาคือสินค้าล้ำค่าทางการเมือง การเจรจาตกลงเรื่องการอภิเษกสมรสของมาทิลดากับไฮน์ริชสิงห์ ดยุคแห่งบาวาเรีย เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1165 มาทิลดามีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญ ที่ปรึกษาคนใกล้ชิดของจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซา เป็นผู้นำของคณะผู้แทนที่มาหาพระเจ้าเฮนรีที่รูอ็อง จักรพรรดิจัดแจงให้พระธิดาคนหนึ่งของเฮนรีแต่งงานกับพระราชโอรสของพระองค์ และอีกคนหนึ่งคือมาทิลดา แต่งงานกับพันธมิตรคนใกล้ชิดที่สุดของจักรพรรดิ ไฮน์ริช ดยุกแห่งซัคเซิน
สัมพันธไมตรีดังกล่าวจะทำให้ทั้งสองพระองค์ต่างให้สนับสนุนซึ่งกันและกันในการรับมือกับพระสันตะปาปา จักรพรรดิขัดแย้งกับพระสันตะปาปาเรื่องนครทางเหนือของอิตาลี ส่วนพระเจ้าเฮนรีต้องการให้พระสันตะปาปาช่วยจัดการกับทอมัส แบ็กกิตที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศในปี ค.ศ. 1164
จักรพรรดิบาร์บาร็อสซายังหาคนมาเป็นผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาเพื่อต่อกรกับพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ผู้เป็นศัตรูตลอดกาล แต่เฮนรีไม่สนับสนุนพระองค์ในเรื่องนี้ ส่งผลให้มีการแต่งงานเกิดขึ้นเพียงคู่เดียว คือ การแต่งงานระหว่างมาทิลดากับไฮน์ริช
การเจรจาต่อรองดำเนินต่อไป มาทิลดาอยู่กับพระมารดาในอ็องฌูและแมนในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1165 ในฤดูใบไม้ผลของปี ค.ศ. 1166 พระเจ้าเฮนรีตามมาสมทบ และเมื่อถึงจุดหนึ่งมาทิลดาก็กลับไปอังกฤษพร้อมกับพระมารดาเพื่อเตรียมตัวแต่งงาน ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1167 เป็นช่วงเวลาที่มาทิลดาออกเดินทางไปเยอรมนี พระองค์พระชนมายุ 11 พรรษา เยอรมนีเป็นสถานที่ที่มาทิลดาไม่เคยรู้จักมาก่อน พระอัยกีของพระองค์เคยออกเดินทางมาแต่งงานในเยอรมนีห้าสิบปีก่อนการเดินทางของมาทิลดา
มีกลุ่มเอิร์ลและกลุ่มบารอนคอยติดตาม พระองค์ทิ้งพระมารดาไว้ข้างหลัง มาทิลดาออกเดินทางไปแต่งงานกับไฮน์ริช ดยุคแห่งซัคเซิน
การอภิเษกสมรส
แก้ไฮน์ริชสิงห์มีอายุมากกว่ามาทิลดาเป็น 20 ปี รุ่นราวคราวเดียวกับพระบิดาของมาทิลดา เขายังเคยแต่งงานมาแล้วแต่การแต่งงานครั้งแรกถูกประกาศให้เป็นโมฆะด้วยเหตุผลว่าเป็นการร่วมประเวณีกันระหว่างญาติใกล้ชิด เขาถูกบรรยายไว้ว่าเป็นชายผู้โหดร้ายที่ไม่เคารพกฎ ลงโทษคนง่าย ๆ และน่าสะพรึงกลัว
ทั้งคู่แต่งงานกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1168 ตอนมาทิลดาพระชนมายุ 12 พรรษา
เห็นได้ชัดว่าการแต่งงานเป็นการแต่งงานที่ประสบความสำเร็จและให้กำเนิดบุตรธิดา 10 คน แม้หลายคนจะเสียชีวิตในวัยเด็ก บุตรสาวคนโตของทั้งคู่ ริชเช็นท์ซา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมาทิลดา) เกิดราวปี ค.ศ. 1172 ถูกจับแต่งงานครั้งแรกกับฌอฟรัวที่ 3 เคานต์แห่งแปร์ช และครั้งที่สองกับอ็องแกร็องที่ 3 ลอร์ดแห่งกูซี
ส่วนบุตรชาย ไฮน์ริชที่เกิดในปี ค.ศ. 1173 จะสืบทอดต่อดัชชีซัคเซินและบาวาเรียหลังการเสียชีวิตของบิดาในปี ค.ศ. 1195 บุตรชายคนที่สอง อ็อทโท เอิร์ลแห่งยอร์กและเคานต์แห่งปงธิว ที่เกิดราวปี ค.ศ. 1175 จะกลายเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในนามจักรพรรดิอ็อทโทที่ 4 ในปี ค.ศ. 1209 อ็อทโทถูกพระมาตุลา พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 มองว่าเป็นทายาทในบัลลังก์อังกฤษช่วงสั้น ๆ ก่อนที่พระเจ้าจอห์นจะอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ บุตรชายคนที่สาม วิลเลียม ดยุคแห่งลือเนอบวร์คและบรุนสวิก เกิดในอังกฤษในปี ค.ศ. 1184 และจะเป็นบรรพบุรุษในสายเพศชายสายตรงของราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ของกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
ไม่ว่าบรรยากาศระหว่างทั้งคู่จะเป็นเช่นไร พระองค์ก็เป็นคนที่มีแข็งแกร่ง เหมือนเช่นพระมารดา เพราะทั้งที่ยังเด็กมากแต่เขาก็ปล่อยให้พระองค์บริหารจัดการทรัพย์สินที่ดินขนาดใหญ่ในช่วงที่ออกเดินทางไปแสวงบุญ พระองค์ต้องทำเช่นนั้นอีกครั้งเมื่อเขาออกเดินทางไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1172 ในตอนที่พระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษา
มาทิลดากับทอมัส แบ็กกิต
แก้สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องราวชีวิตของมาทิลดาคือการรับบทเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิทอมัส แบ็กกิต ตามที่มีการบันทึกไว้ มาทิลดาส่งเสริมลัทธินี้ในเยอรมนี
ลัทธิแบ็กกิตไม่ใช่ลัทธิสำคัญในคริสตจักรตะวันตก หลังเขาเสียชีวิตได้ไม่นาน พิธีฝังศพถูกประกอบขึ้นอย่างเร่งรีบและว่ากันว่ามรปาฏิหาริย์นับร้อย ๆ เกิดขึ้นทั้งในและรอบ ๆ แคนเทอร์บรี การเสียชีวิตของแบ็กกิตคือของแสลงใจของพระเจ้าเฮนรีและลัทธิย่อมเป็นขวากหนามที่คอยทิ่มแทงอยู่ข้างตัว ลัทธิที่เติบโตขึ้นเป็นเหมือนข้อพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นคนผิดในการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น พิธีอภัยบาปของกษัตริย์ที่หลุมฝังศพของแบ็กกิตในปี ค.ศ. 1174 คือการลบมลทินของพระองค์ มาทิลดาที่รักพระบิดาจึงอาจจะสนับสนุนลัทธิเพื่อแสดงให้โลกเห็น่วาพระบิดาของพระองค์ได้รับการอภัยบาปจากมรณสักขีแล้ว
การกระทำของมาทิลดาทำให้พระองค์ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง ทรงเกียรติ และทรงอำนาจ ในปลายคริสตทศวรรษ 1170 ดยุคไฮน์ริชกับจักรพรรดิฟรีดริชขัดแย้งกันทางการเมือง การทะเลาะเบาะแว้งสร้างบาดแผลใหญ่ให้กับไฮน์ริชและมาทิลดา ทั้งคู่ถูกริบที่ดินและถูกขับไล่ออกจากประเทศเป็นเวลา 7 ปี ในปี ค.ศ. 1182 ทั้งสองมุ่งหน้าไปที่ราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในนอร์ม็องดี มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ต้องรับทั้งคู่ด้วยความปิติยินดี
มาทิลดาตั้งครรภ์อีกครั้งและอยู่กับพระบิดาต่อไปในขณะที่สามีของพระองค์ออกเดินทางแสวงบุญไปกอมโปสเตลา ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้งในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1182 ช่วงเวลาที่มาทิลดาได้ฉลองเทศกาลกับพี่น้องที่ราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในก็อง
แต่ครอบครัวของพระองค์แตกออกจากกันเมื่อพระเชษฐา เฮนรียุวกษัตริย์ ต่อสู้กับพระบิดา พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ผลลัพธ์ที่ได้คือการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐาผู้เป็นที่รัก เฮนรี ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1183 ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงสร้างความโทมนัสให้แก่มาทิลดา ในปี ค.ศ. 1184 มาทิลดาตั้งครรภ์อีกครั้งและให้กำเนิดบุตรชาย วิลเลียม ที่วินเชสเตอร์
ในปี ค.ศ. 1174 อาลีเยนอร์แห่งอากีแตนกลับมาอังกฤษและถูกคุมขังไม่ที่วินเชสเตอร์ก็ที่โอลด์ซารุม ว่ากันว่ามาทิลดาพยายามอย่างหนักเพื่อให้มารดาได้รับความสะดวกสบายในการคุมขัง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มาทิลดามาให้กำเนิดบุตรชาย วิลเลียม ที่วินเชสเตอร์ในปี ค.ศ. 1184 เอเลนอร์ได้รับอนุญาตให้พบมาทิลดาได้ และเมื่อเอเลนอร์ได้รับอนุญาตให้กลับไปฝรั่งเศสได้ในเวลาต่อมา ก็เป็นมาทิลดาที่ติดตามพระองค์ไปด้วย
กลับสู่เยอรมนี
แก้ขณะเดียวกันพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ก็พยายามหาวิธีให้ทั้งคู่ได้กลับไปซัคเซินอีกครั้งด้วยการกดดันจักรพรรดิฟรีดริชในทางการทูต ในปี ค.ศ. 1185 ทั้งคู่ได้รับอนุญาตให้กลับไปได้ ทั้งคู่ไม่มั่นใจกับสถานะของตนในซัคเซินจึงตัดสินใจทิ้งบุตรธิดาสามคนให้เติบโตในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรี เหตุการณ์ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก บุตรชายคนหนึ่งของทั้งสอง อ็อทโท กลายเป็นพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 และต่อมาจะกลายเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนลูกหลานของทารกน้อยวิลเลียมที่เกิดที่วินเชสเตอร์สุดท้ายจะกลายเป็นผู้ปกครองราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
ไฮน์ริชสิงห์ถูกขับไล่ออกจากประเทศอีกครั้งในปี ค.ศ. 1188 และต่อมาในปี ค.ศ. 1189 มาทิลดาสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุเพียง 33 ปี ไฮน์ริชเสียชีวิตในอีก 6 ปีต่อมาและทั้งคู่ถูกฝังอยู่เคียงข้างกันในอาสนวิหารบรุนสวิก
พระราชโอรส-ธิดา
แก้มาทิลดากับไฮน์ริชมีบุตรด้วยกัน คือ
- มาทิลดาหรือริชเช็นท์ซา (ค.ศ. 1172–1204) แต่งงานครั้งแรกกับฌอฟรัว เคานต์แห่งแปร์ช มีทายาท ครั้งที่สองกับอ็องแกร็องที่ 2 ลอร์ดแห่งกูซี ไม่มีทายาท
- ไฮน์ริชที่ 5 เคานต์พาลาไทน์แห่งไรน์ (ค.ศ. 1173–1227) แต่งงานครั้งแรกกับอักเน็สแห่งโฮเอินชเตาเฟิน มีทายาท ครั้งที่สองกับอักเน็สแห่งลันทซ์แบร์ค ไม่มีทายาท
- โลทาร์แห่งบาวาเรีย (ค.ศ. 1174–1190)
- อ็อทโทที่ 4 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และดยุคแห่งสเวเบีย (ค.ศ. 1175–1218) แต่งงานครั้งแรกกับเบียทริซแห่งสเวเบีย ไม่มีทายาท ครั้งที่สองกับมาเรียแห่งบราแบนต์ ไม่มีทายาท
- วิลเลียมแห่งวินเชสเตอร์ ลอร์ดแห่งลือเนอบวร์ค (ค.ศ. 1184–1213) แต่งงานกับเฮเลนาแห่งเดนมาร์ก มีทายาทหนึ่งคน อ็อทโท ดยุคที่ 1 แห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค บรรพบุรุษของราชวงศ์ฮันโนเฟอร์
อ้างอิง
แก้- ↑ นักประวัติศาสตร์ต่างถกเถียงเรื่องนิยามของราชวงศ์แพลนแทเจเนตและอ็องณู บางแห่งถือว่าพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 เป็นต้นวงศ์ราชวงศ์แพลนแทแจเน็ต ในขณะที่บางแห่งถือว่าพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 พระเจ้าริชาร์ด และพระเจ้าจอหน์เป็นกษัตริย์ราชวงศ์อ็องณู และพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์แพลนแทแจเน็ต
- ↑ 2.0 2.1 Weir 2011, p. 62.
- ↑ Panton 2011, p. 342.
- ↑ Norgate 1894, p. 58.
แหล่งที่มา
แก้- Diggelmann, Lindsay (2005). "Exile and the Poetic Standpoint of the Troubadour Bertran de Born". Parergon. Australian and New Zealand Association of Medieval and Early Modern Studies (Inc.). 22: 1–16. doi:10.1353/pgn.2005.0018. S2CID 145553555.
- Jordan, Karl (1986). Henry the Lion: A Biography. Falla, P. S. (trans.). Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0198219699.
- Leese, Thelma Anna (1996). Blood Royal: Issue of the Kings and Queens of Medieval England, 1066-1399 : the Normans and Plantagenets. Heritage Books. ISBN 978-0788405259.
- Norgate, Kate (1894). Sidney Lee (บ.ก.). "Matilda (1156-1189)". Dictionary of National Biography. London: Smith, Elder & Co. pp. 58–59.
- Weir, Alison (2011). Britain's Royal Families: The Complete Genealogy. Random House. pp. 62–63. ISBN 978-0810874978.
- Wheeler, Bonnie; Parsons, John Carmi (2008). Eleanor of Aquitaine : Lord and Lady (The New Middle Ages). Palgrave Macmillan. ISBN 978-0230602366.
- Panton, James (2011). Historical Dictionary of the British Monarchy. Scarecrow Press. p. 342. ISBN 978-0810874978.