อาสนวิหารล็อง

(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารล็อง)

อาสนวิหารล็อง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Laon) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งล็อง (Cathédrale Notre-Dame de Laon) สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระนางมารีย์พรหมจารี ปัจจุบันมีฐานะเป็นโบสถ์ประจำแพริชในนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งในอดีตเคยมีฐานะเป็นอาสนวิหารของอดีตมุขมณฑลล็องซึ่งในปัจจุบันอยู่ในการปกครองของมุขนายกประจำมุขมณฑลซัวซง อันเป็นผลจากการควบรวมตามความตกลง ค.ศ. 1801 อาสนวิหารตั้งอยู่ที่เมืองล็อง จังหวัดแอน แคว้นโอดฟร็องส์ ประเทศฝรั่งเศส

Logo monument classe.svg อาสนวิหารแม่พระแห่งล็อง
La cathédrale de Laon DSC 0707.jpg
ทัศนียภาพจากภายนอก
Map
49°33′51″N 3°37′30″E / 49.56417°N 3.62500°E / 49.56417; 3.62500
ที่ตั้งล็อง จังหวัดแอน
ประเทศFlag of France.svg ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะโบสถ์ประจำเขต
(อาสนวิหารจนกระทั่งปี ค.ศ. 1790)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอธิก
แล้วเสร็จค.ศ. 1235
ขนาดอื่น ๆยาว 110.50 เมตร (362.5 ฟุต)
กว้าง 30.65 เมตร (100.6 ฟุต)
Logo monument classe.svg อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1840)

อาสนวิหารแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสถานที่แห่งแรกในแบบสถาปัตยกรรมกอทิกในประเทศฝรั่งเศส โดยสร้างหลังจากอาสนวิหารแซ็ง-เดอนีและอาสนวิหารนัวยง และยังสร้างก่อนอาสนวิหารแม่พระแห่งปารีสอีกด้วย

อาสนวิหารล็องได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[1]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแก้ไข

อาสนวิหารสร้างในแบบสถาปัตยกรรมกอทิกในยุคแรก ซึ่งต่อมาเป็นแรงบันดาลใจในการก่อสร้างอาสนวิหารอีกหลายแห่ง ๆ อาทิ อาสนวิหารแม่พระแห่งปารีส

ตัวอาคารประกอบด้วยหอจำนวนห้าหอจากทั้งหมดเจ็ดตามแบบเดิม : หอแสงสว่างบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์ หอคู่บริเวณหน้าบันฝั่งทางเข้าทิศตะวันตก และบริเวณปลายแขนกางเขนข้างละหนึ่งหอ

ทางเดินกลางแก้ไข

บริเวณกลางโบสถ์ประกอบด้วยทั้งหมด 11 ช่วงมุงด้วยเพดานโค้งแหลมหกแฉก (Sexpartite Vault) ที่มีความสูงถึง 26 เมตร โดยแบ่งเป็นทั้งหมดสี่ระดับ: ชั้นซุ้มโค้งและทางเดิน (Arcade), ระเบียงชั้นบน (Tribune), ระเบียงแนบ (Triforium), และหน้าต่างสูง ตามลำดับ บริเวณชั้นล่างเป็นชั้นซุ้มโค้งซึ่งสลับกันรับน้ำหนักโดยเสาสองแบบ เพื่อใช้รับน้ำหนักต่างกัน เสาแบบแรกเป็นเสาทรงกระบอกตัน มีหัวเสาแปดเหลี่ยมไว้รับน้ำหนักที่ถ่ายลงมาจากเพดานโค้งจำนวน 3 สาย ส่วนเสาแบบที่สองก็มีลักษณะเป็นทรงกระบอกเช่นกัน แต่หนาและแข็งแรงกว่า ใช้หัวเสาทรงสี่เหลี่ยมเพื่อรับน้ำหนักจากเพดานโค้งถึง 5 สาย

เสาใหญ่คู่สุดท้ายของบริเวณกลางโบสถ์ก่อนถึงบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์นั้นประกอบด้วยเสากลมล้อมรอบด้วยเสาขนาดเล็กจำนวน 5 เสา ซึ่งใช้เพื่อช่วยรับน้ำหนักจากเสาหลัก บริเวณจุดรับน้ำหนักจากคานเป็นแป้นหัวเสาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า

บริเวณชั้นบนของบริเวณกลางโบสถ์ มีระเบียงชั้นบนเป็นช่องทะลุถึงพื้นแบ่งเป็นสองช่องขนาดเท่าๆกัน เหนือขึ้นไปอีกชั้นเป็นระเบียงแนบซึ่งเป็นระเบียงตัน แต่ละช่วงแบ่งเป็นหน้าต่างระเบียงจำนวนสามช่อง และชั้นสุดท้ายซึ่งอยู่สูงที่สุดเป็นช่องหน้าต่างสูงช่วงละหนึ่งช่องตามปกติ

บริเวณกลางโบสถ์ถูกขนาบด้วยสองทางเดินข้าง บริเวณทิศเหนือ และทิศใต้ตามลำดับ ซึ่งมีเพดานโค้งเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่มีแค่ 4 แฉก ในบริเวณนี้ประกอบด้วยชาเปลจำนวน 27 แห่ง สร้างอยู่ระหว่างครีบยัน ซึ่งสามารถมองเห็นบริเวณกลางโบสถ์และบริเวณร้องเพลงสวดได้

เหนือสุดบริเวณหน้าบันทางเข้า เป็นที่ตั้งของหน้าต่างกุหลาบแบบแรยอน็อง ซึ่งมองเห็นได้เป็นบางส่วนเบื้องหลังออร์แกน

แขนกางเขนแก้ไข

ในช่วงการก่อสร้างอาสนวิหารแห่งนี้ ล็องมีประชากรประมาณ 15,000 คน ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักร บริเวณแขนกางเขนก่อสร้างระหว่างปีค.ศ. 1170 ถึง 1185 อันเนื่องมาจากขนาดอันใหญ่โต: ยาว 54 เมตร กว้าง 22 เมตร ขนาบด้วยทางเดินข้างขนาดใหญ่ ราวกับว่ามีโบสถ์แห่งที่สองตั้งอยู่ในที่เดียวกัน

ในช่วงแรกของการก่อสร้าง บริเวณร้องเพลงสวดมีความลึกเพียงแค่ 3 ช่วงเท่านั้น ซึ่งต่อมาสั้นเกินไป จึงได้มีการตัดสินใจขยายออกเป็นจำนวนถึง 10 ช่วงด้วยกัน ทำให้แขนกางเขนตัดผ่านตัววิหารเกือบตรงกลางพอดี

บริเวณเหนือจุดตัดกลางโบสถ์เป็นหอรับแสงซึ่งมีความสูงถึง 30 เมตร (ด้านนอกสูงถึง 48 เมตร) บริเวณภายในของหอช่วงฐานเป็นระเบียงแนบซึ่งเป็นกำแพงตันไม่มีหน้าต่าง ลักษณะของหอมีหน้าตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านล่างของหอเป็นระเบียงแนบ ซึ่งอยู่ภายใต้กลีบเพดานจำนวน 8 กลีบ (แบ่งเป็นข้างละ 2 กลีบ) เหนือขึ้นไปเป็นหน้าต่างจำนวน 8 บาน (แบ่งเป็นข้างละ 2 บาน) ใช้เพื่อส่องสว่างอาสนวิหารอันเป็นที่มาของชื่อหอ

การรับน้ำหนักของแขนกางเขนคล้ายคลึงกับบริเวณกลางโบสถ์ กล่าวคือ เสาแต่ละต้นรับน้ำหนักร่วมกันเป็นสี่ช่วง และสูงขึ้นไปอีกสองชั้นเหมือนกันทั้งสองข้าง

 
แผนผังอาสนวิหาร
 
บริเวณกลางโบสถ์มองจากบริเวณร้องเพลงสวด
 
หอแสงสว่างบริเวณจุดตัด

ระเบียงภาพแก้ไข

อ้างอิงแก้ไข

  1. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00115710 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส