อาสนวิหารปัวตีเย

(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารปัวตีเย)

อาสนวิหารปัวตีเย (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Poitiers) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญเปโตรแห่งปัวตีเย (Cathédrale Saint-Pierre de Poitiers) เป็นทั้งอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิกและไมเนอร์บาซิลิกา (minor basilica) ในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 (ตั้งแต่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1912) เป็นที่ตั้งของอัครมุขนายกประจำอัครมุขมณฑลปัวตีเย ตั้งอยู่ที่เมืองปัวตีเย จังหวัดเวียน แคว้นนูแวลากีแตน ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญเปโตร

อาสนวิหารนักบุญเปโตรแห่งปัวตีเย
แผนที่
46°34′49″N 0°20′57″E / 46.58028°N 0.34917°E / 46.58028; 0.34917
ที่ตั้งปัวตีเย จังหวัดเวียน
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
ไมเนอร์บาซิลิกา (ตั้งแต่ ค.ศ. 1902)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอธิกแบบอ็องฌ์แว็ง
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 14
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์(ค.ศ. 1875)

อาสนวิหารแห่งนี้เป็นที่น่ารู้จักน้อยกว่าโบสถ์แม่พระองค์ใหญ่แห่งปัวตีเย (Notre-Dame la Grande de Poitiers) อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำจากหินที่ใหญ่ที่สุดในเมืองและสามารถมองเห็นได้จากในเมืองโดยรอบ

สร้างโดยความสนับสนุนจากอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1160 และเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อ ค.ศ. 1379 โดยสร้างในแบบสถาปัตยกรรมกอทิกอ็องฌ์แว็ง (ลักษณะเฉพาะคือ เพดานโค้งเกือบครึ่งวงกลม) และภายในมีลักษณะเป็นแบบโบสถ์โถง กล่าวคือ มีการแบ่งทางเดินกลางและทางเดินข้าง ในความสูงเท่า ๆ กัน บริเวณหน้าบันหลักถูกขนาบด้วยหอคู่ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งการออกแบบใช้องค์ประกอบที่มีลักษณะท้องถิ่นของภาคเหนือของฝรั่งเศส

ภายในอาสนวิหาร มีที่นั่งร้องเพลงสวดที่เป็นงานไม้แกะสลักสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 และงานกระจกสีสมัยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 ซึ่งหนึ่งในงานที่สวยที่สุด และถือว่าเป็นจุดสูงสุดของศิลปะกระจกสีของยุคกลาง ได้แก่ งานกระจกสีการตรึงพระเยซูที่กางเขน

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1875[1]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม แก้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปเป็นแบบกอทิกอ็องฌ์แว็ง บริเวณหน้าบันหลักประกอบด้วยหน้าต่างกุหลาบและซุ้มประตูทรงหน้าจั่วจำนวน 3 ซุ้ม ซึ่งเป็นเอกลัษณ์ของสถาปัตยกรรมกอทิกของฝรั่งเศสตอนเหนือ หน้าบันประตูมีงานประติมากรรมแบบนูนสูงเกี่ยวกับเรื่องราวของการพิพากษาครั้งสุดท้าย

บริเวณร้องเพลงสวดประกอบด้วยผนังตรง ๆ เรียบ ๆ และไม่มีครีบยันลอย ตามแบบกอทิกอ็องฌ์แว็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบที่หายากในฝรั่งเศส โดยคล้ายคลึงกับที่อาสนวิหารล็อง อาสนวิหารดอล-เดอ-เบรอตาญ และอาสนวิหารลูว์ซง

เหนือแท่นบูชาขึ้นไปเป็นที่ตั้งของงานกระจกสีที่เก่าแก่ที่สุดในคริสต์ศาสนา ได้แก่ งานกระจกสีการตรึงพระเยซูที่กางเขน ซึ่งเป็นงานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 ด้านตรงข้ามของแท่นบูชาฝั่งขวามือจะพบกับลายวงกตซึ่งวาดลงบนหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูงระดับตัวคน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบของลายวงกตที่เคยอยู่บริเวณพื้นชั้นล่าง และได้สูญหายไปในภายหลัง

หลังคาของอาสนวิหารเป็นหลังคาขนาดใหญ่ทรงจั่ว 2 ด้าน มุงด้วยกระเบื้องหินชนวน ซึ่งกินเนื้อที่ทั้งสิ้นกว่า 5,500 ตารางเมตร ส่วนบริเวณหน้าบันหลักของอาสนวิหารเพิ่งผ่านการบูรณะมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. [1] Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส