ภาษาซำเร
ภาษาซำเร ภาษาซัมเร หรือ ภาษาสำเร เป็นภาษาใกล้สูญภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาปอร์ของตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก งานวิจัยฉบับหนึ่งใน พ.ศ. 2544 รายงานว่ามีผู้พูดภาษานี้ประมาณ 20 คนในตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ประเทศไทย[2]
ภาษาซำเร | |
---|---|
ภาษาซัมเร, ภาษาสำเร | |
ออกเสียง | /samɹeː/ [samˈɹeː³³²~samˈɣeː³³²] |
ประเทศที่มีการพูด | ไทย |
ภูมิภาค | จังหวัดตราด |
ชาติพันธุ์ | ชาวซำเร |
จำนวนผู้พูด | 20 คน (2544)[1] |
ตระกูลภาษา | |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน | ไทย |
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | ไม่มี (mis ) |
สัทวิทยา
แก้ระบบเสียงภาษาซำเรมีลักษณะตามแบบฉบับของภาษากลุ่มมอญ-เขมรสมัยใหม่และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางสัทวิทยาบางประการจากภาษาเขมรสมัยกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 17[3] เช่นเดียวภาษากลุ่มปอร์ภาษาอื่น ๆ นอกจากนี้ระบบเสียงภาษาซำเรยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาษาไทยในแง่การพัฒนาระบบวรรณยุกต์ขึ้นมาใช้เพื่อจำแนกความหมายของคำ เช่นเดียวกับภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกอื่น ๆ โดยทั่วไป และภาษากลุ่มปอร์โดยเฉพาะ ผู้พูดภาษาซำเรอาจเปล่งเสียงสระออกมาด้วยคุณภาพเสียงที่แตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่า "ลักษณะน้ำเสียง" หรือ "ลักษณะเสียงพูด" อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างเสียงพูดลมแทรกกับเสียงพูดปกตินั้นไม่มีลักษณะเปรียบต่างอีกต่อไป และมีความสำคัญรองลงมาจากเสียงวรรณยุกต์ของคำคำหนึ่ง[4]
พยัญชนะ
แก้ลักษณะการออกเสียง | ตำแหน่งเกิดเสียง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ริมฝีปาก | ปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||||
เสียงนาสิก | m | n | ɲ | ŋ | ||||
เสียงหยุด | ก้อง | b | d | |||||
ไม่ก้อง | ไม่พ่นลม | p | t | c | k | ʔ | ||
พ่นลม | pʰ | tʰ | cʰ | kʰ | ||||
เสียงเสียดแทรก | s | h | ||||||
เสียงเปิด | w | ɹ | j | |||||
เสียงเปิดข้างลิ้น | l |
- หน่วยเสียงที่เป็นได้ทั้งพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายมี 13 หน่วยเสียง ได้แก่ /m/, /n/, /ɲ/, /ŋ/, /p/, /t/, /c/, /k/, /ʔ/, /h/, /ɹ/, /w/ และ /j/[6]
- หน่วยเสียงพยัญชนะต้นควบมี 15 หน่วยเสียง ได้แก่ /pɹ/, /pl/, /pʰɹ/, /pʰl/, /bl/, /tɹ/, /tʰɹ/, /cɹ/, /cʰɹ/, /kɹ/, /kl/, /kʰɹ/, /kʰl/, /mɹ/ และ /sɹ/
- หน่วยเสียง /s/ เมื่อตามด้วย /ɹ/ และสระสั้น อาจออกเสียงเป็น [s] หรือ [tʰ] เช่น /sɹàŋ/ [sɹaŋ²¹~sɣaŋ²¹~tʰɹaŋ²¹~tʰɣaŋ²¹] 'เสา'[7]
- หน่วยเสียง /w/ เมื่อเกิดในตำแหน่งต้นพยางค์ อาจออกเสียงเป็นเสียงเปิด ริมฝีปาก-เพดานอ่อน [w] หรือเสียงเปิด ริมฝีปาก-ฟัน [ʋ] เช่น /wəj/ [wəj³³²~ʋəj³³²] 'ตี'[8]
- หน่วยเสียง /ɹ/ เมื่อเกิดในตำแหน่งท้ายพยางค์และตามหลังสระ /a/ หรือสระ /aː/ ออกเสียงเป็นเสียงกึ่งสระตำแหน่งลิ้นอยู่ตรงกลาง [ɯ̯] เช่น /tʰaɹ/ [tʰaɯ̯³³²] 'เสื้อผ้า' แต่เมื่อเกิดในตำแหน่งอื่น ๆ อาจออกเสียงเป็นเสียงเปิด ปุ่มเหงือก [ɹ] หรือเสียงเสียดแทรก เพดานอ่อน ก้อง [ɣ] เช่น /cɹam/ [cɹam³³²~cɣam³³²] 'จุ่ม, แช่'[8] ทั้งนี้ การออกเสียงเป็น [ɣ] มักได้ยินในหมู่ผู้พูดรุ่นเก่าซึ่งถือว่าการออกเสียงเช่นนี้เป็นการออกเสียงที่ "ถูกต้อง" แต่ในขณะเดียวกันยังถือว่าเป็นการออกเสียงแบบ "กระด้าง" บางครั้งพวกเขาจึงออกเสียงเป็น [ɹ] แทนเพื่อให้ฟังดู "นุ่มนวล" หรือ "รื่นหู" ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การออกเสียงเป็น [ɣ] ยังพบไม่บ่อยนักในหมู่ผู้พูดอายุน้อยหรือผู้พูดภาษาไม่คล่องซึ่งจะออกเสียงเป็น [ɹ] หรือออกเสียงเป็นเสียงลิ้นกระทบหรือเสียงรัว ปุ่มเหงือก /r/ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยมาตรฐาน[8]
สระ
แก้สระเดี่ยว
แก้ระดับลิ้น | ตำแหน่งลิ้น | ||
---|---|---|---|
หน้า | กลาง | หลัง | |
สูง | i, iː | ɯ, ɯː | u, uː |
กลาง | e, eː | ə, əː | o, oː |
ต่ำ | ɛ, ɛː | a, aː | ɔ, ɔː |
สระประสม
แก้ภาษาซำเรมีหน่วยเสียงสระประสม 3 หน่วยเสียง ได้แก่ /iə/, /ɯə/ และ /uə/[9] ไม่มีความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นกับเสียงยาวของสระประสมทั้งสาม
ลักษณ์เหนือหน่วยแยกส่วน
แก้ในปัจจุบันระบบลักษณะน้ำเสียงของภาษาซำเรได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบเสียงวรรณยุกต์ที่มีหน่วยเสียง 3 หน่วยเสียง ได้แก่
- วรรณยุกต์กลาง เมื่อเกิดในคำเป็นจะมีระดับเสียงเป็น [³³²] เมื่อเกิดในคำตายเสียงยาว (รวมทั้งคำที่ลงท้ายด้วย /h/) จะมีระดับเสียงเป็น [³³⁴] และเมื่อเกิดในคำตายเสียงสั้น (รวมทั้งคำที่ลงท้ายด้วย /h/) จะมีระดับเสียงเป็น [³⁴⁴][10]
- วรรณยุกต์ต่ำ เมื่อเกิดในคำเป็นจะมีระดับเสียงเป็น [²¹] และเมื่อเกิดในคำตาย (รวมทั้งคำที่ลงท้ายด้วย /h/) จะมีระดับเสียงเป็น [²²][11]
- วรรณยุกต์กลาง-ตก เมื่อเกิดในคำเป็นจะมีระดับเสียงเป็น [⁴⁵¹] และเมื่อเกิดในคำตายเสียงยาว (รวมทั้งคำที่ลงท้ายด้วย /h/) จะมีระดับเสียงเป็น [³⁴²][11]
อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏร่องรอยการใช้ลักษณะน้ำเสียงลมแทรกควบคู่ไปกับเสียงวรรณยุกต์อยู่บ้างในบางคำหรือบางสัทบริบท แม้ว่าจะไม่มีนัยสำคัญในการจำแนกความหมายของคำก็ตาม[12]
สถานการณ์ในปัจจุบัน
แก้ภาษาซำเรเป็นภาษาหนึ่งที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญ การใช้ภาษาในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาษาไทยอย่างชัดเจน เช่น การยืมคำศัพท์พื้นฐานจำนวนมากจากภาษาไทย การใช้เสียงวรรณยุกต์ในการจำแนกความหมายของคำ เป็นต้น[13] นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้พูดภาษาซำเรได้เพียงประมาณ 20 คน ในจำนวนนี้มักใช้ภาษาซำเรสลับกับภาษาไทยแต่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยมากกว่า ส่วนเด็กชาวซำเรเรียนภาษาไทยและใช้เพียงภาษาไทยเท่านั้น ทัศนคติต่อภาษาดั้งเดิมของกลุ่มตนเองเป็นไปในทางค่อนข้างลบ[13]
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาษาซำเรเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย สาขาภาษา เมื่อ พ.ศ. 2557[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ Ploykaew 2001, p. 23
- ↑ Ploykaew 2001, p. 19
- ↑ Ferlus, Michel (2011). "Toward Proto Pearic: problems and historical implications". Mon-Khmer Studies Journal. Mon-Khmer Studies Special Issue No. 2: Austroasiatic Studies - papers from ICAAL4. สืบค้นเมื่อ 30 November 2015.
- ↑ Ploykaew 2001, p. 62
- ↑ Ploykaew 2001, p. 47
- ↑ Ploykaew 2001, p. 46
- ↑ Ploykaew 2001, p. 48
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Ploykaew 2001, p. 49
- ↑ 9.0 9.1 Ploykaew 2001, p. 54
- ↑ Ploykaew 2001, p. 67
- ↑ 11.0 11.1 Ploykaew 2001, p. 68
- ↑ Ploykaew 2001, p. 64
- ↑ 13.0 13.1 อิสระ ชูศรี และคณะ 2565, p. 24
- ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 2559, p. 25
บรรณานุกรม
แก้- กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
- อิสระ ชูศรี และคณะ (2565). เสียงสุดท้ายในความทรงจำ Last Speakers. นครปฐม: ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Ploykaew, Pornsawan (2001). Samre Grammar (Ph.D. thesis). Mahidol University.