รัฐภาคย์ วิไลโรจน์

รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ ชื่อเล่น ฟีม (14 เมษายน พ.ศ. 2531 - ) นักแข่งมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชาวไทย ที่ลงแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกรุ่น GP 250

รัฐภาคย์ วิไลโรจน์
สัญชาติไทย ไทย
เกิด (1988-04-14) 14 เมษายน ค.ศ. 1988 (36 ปี)
จังหวัดชลบุรี (ไทย)

รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ เกิดที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรชายคนโตของ คริสมาส วิไลโรจน์ อดีตนักแข่งรถจักรยานยนต์ทางเรียบ จบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง, จังหวัดชลบุรี​ และระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว, จังหวัดสมุทรปราการ​ จากนั้นได้รับทุนศึกษาต่อจากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต [1] รัฐภาคย์มีน้องชายที่เป็นนักแข่งรถเช่นกัน ชื่อ รัฐพงษ์ วิไลโรจน์ (เกิด พ.ศ. 2536)

รัฐภาคย์ เริ่มขับมอเตอร์ไซค์เด็กตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ได้แชมป์การแข่งขันรถจักรยานยนต์โมโตครอส 50 ซีซี รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปีในปี พ.ศ. 2540 และเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนแข่งรถของฮอนด้า และเริ่มเป็นนักแข่งสังกัดทีมฮอนด้า ได้ทดลองเข้าแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น (All Japan Road Racing Championship) 3 สนามในปี พ.ศ. 2546 และ 2547 ในรุ่น 125 ซีซี และในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 ในรุ่น 250 ซีซี จากสถิติในการแข่งขัน รัฐภาคย์จึงได้สิทธิ์จากสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์ประเทศญี่ปุ่น เข้าแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก World Grand Prix 2006 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 เข้าเส้นชัยได้ในลำดับที่ 10 จากนักแข่งทั้งหมด 32 คน

รัฐภาคย์มีชื่อเล่นจริงๆ ว่า "ฟิล์ม" [2] (film) แต่เนื่องจากเหตุผลด้านการตลาดโดยบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้สนับสนุนเกรงว่าอาจทำให้สับสนกับชื่อของนักร้อง "ฟิล์ม" รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ฝ่ายการตลาดของบริษัทจึงคิดเปลี่ยนชื่อเล่นให้เป็น "ฟีม" (feem) เพื่อให้เกิดความแตกต่าง พร้อมกับตั้งฉายาให้ว่า "เจ้าลิงน้อย" พร้อมกับออกแบบมาสคอตเป็นการ์ตูนรูปลิง ใส่เสื้อหมายเลข 14

ในปี พ.ศ. 2550 รัฐภาคย์ ได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกรุ่น 250 ซีซี ตลอดฤดูกาล ทำคะแนนสะสมตลอดฤดูกาล ได้ 30 คะแนนจาก 18 สนาม เป็นอันดับที่ 17 สังกัดทีม Thai Honda-PTT-SAG [3]

รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ ได้รับรางวัลนักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม ประจำปี 2550 จากการกีฬาแห่งประเทศไทย เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550 [4]

ในปี พ.ศ. 2551 รัฐภาคย์ เข้าแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกรุ่น 250 ซีซี โดยใช้รถคันใหม่ รุ่น RS250RW จากโรงงาน ได้รับการสนับสนุนของ HRC (Honda Racing Corporation) ติดหมายเลข 14 [5] สิ้นสุดฤดูกาล 2008 ด้วยอันดับที่ 13 คะแนนรวม 73 คะแนน และสิ้นสุดฤดูกาล 2009 ด้วยอันดับที่ 13 คะแนนรวม 82 คะแนน

ในฤดูกาล 2010 สมาพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ (F.I.M.) ได้ยกเลิกการแข่งขันรุ่น 250 ซีซี และเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่ใช้ชื่อว่าระดับ "MOTO2" โดยให้กำหนดรถที่เข้าแข่งขันใช้เครื่องยนต์มาตรฐานของฮอนด้า ขนาด 600 ซีซี เหมือนกันทุกคัน โดยให้อิสระในการเลือกใช้เฟรม [6] ทั้งนี้ ทีม SAG ได้เลือกใช้เฟรม Bimota (บิโมต้า) “MOTO2” HB4 (H จาก Honda และ B จาก Bimota, “4” four bike from Bimota/Honda) ท่อเหล็กไขว้กันร่วมกับอะลูมิเนียม ล่าสุดกับแชมป์ World Superbike รุ่น World Supersport 600 cc. สนามที่ 2 Chang International Circuit เป็นประวัติศาสตร์นัดบิดไทยคนแรกที่คว้าแชมป์โลกในบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งเปลี่ยนมาใช้หมายเลข 9 เป็นเลขของในหลวง

ผลการแข่งขัน แก้

Season Class Moto Races Win Podiums Pole Pts Position
2006 250cc ฮอนด้า 1 0 0 0 6 28th
2007 250cc ฮอนด้า 17 0 0 0 30 17th
2008 250cc ฮอนด้า 16 0 0 0 73 13th
2009 250cc ฮอนด้า 15 0 0 0 81 13th
2010 Moto2 Bimota 17 0 0 0 30 22nd
2011 Moto2 FTR 14 0 0 0 4 30th
2012 Moto2 Moriwaki 17 0 0 0 9 27th
Suter
2013 Moto2 Suter 8 0 0 0 0 NC
2014 Moto2 Caterham Suter 7 0 0 0 0 NC
Supersport ฮอนด้า 11 0 0 0 70 9th
2015 Moto2 Suter 4 0 0 0 0 NC
Supersport ฮอนด้า 5 1 0 0 46 13th
2016 Moto2 Kalex 17 0 0 0 6 28th
Total 133 0 0 0 239

หมายเหตุ : สนามแข่งขันที่ 10 ที่สหรัฐอเมริกา มีแต่รุ่น MotoGP (800 ซีซี) ไม่จัดแข่งขันรุ่น Moto2 และ 125 ซีซี
            ในฤดูกาล 2006 รัฐภาคย์ ลงแข่งเพียงสนามเดียว ที่ญี่ปุ่น ในฐานะไวล์การ์ด

ฤดูกาล 2010 แก้

รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ทำผลงานได้ดีที่สุดที่สนาม Assen ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังจากทำเวลาในรอบคลอริฟายได้อันดับ 2 จบการแข่งขันในลำดับที่ 4 ตามหลังอันดับที่ 3 อย่าง Thomas Luthi เพียง 0.083 วินาที

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติ รัฐภาคย์ วิไลโรจน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-13. สืบค้นเมื่อ 2007-12-19.
  2. จาก "ฟิล์ม" สู่ "ฟีม" / เด็กปั๊ม เก็บถาวร 2010-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ASTVผู้จัดการออนไลน์, 5 ตุลาคม 2553
  3. เป็นทีมจากความร่วมมือของ ไทยฮอนด้า - ปตท. และ SAG (ทีมงาน Stop And Go ทีมแข่งรถสัญชาติสเปน) โดยความสนับสนุนจาก การบินไทย และเอไอเอส
  4. "รางวัลนักกีฬาดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ วันที่ 16 ธันวาคม 2550 ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-26. สืบค้นเมื่อ 2007-12-19.
  5. "ความเคลื่อนไหวของรัฐภาคย์ วิไลโรจน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-16. สืบค้นเมื่อ 2008-02-25.
  6. "Moto2: 250cc replacement class regulations announced". motogp.com. Dorna Sports. 2008-12-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-26. สืบค้นเมื่อ 2008-12-11.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้