พินัยกรรมทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
"พินัยกรรมทางการเมืองของข้าพเจ้า" (เยอรมัน: Mein politisches Testament) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ลงนามในพินัยกรรมส่งมอบอำนาจทางการเมือง ณ ฟือเรอร์บุงเคอร์ เบอร์ลิน เวลาตีสี่ของวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1945 หนึ่งวันก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายพร้อมภริยา กระบวนการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์คเรียกเอกสารฉบับนี้ว่า พินัยกรรมทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน: Politisches Testament Adolf Hitlers)
ส่วนของคำสั่งเสียส่วนตัวระบุว่า ทั้งคู่เลือกตายดีกว่ายอมจำนนและให้จัดการศพของพวกตนด้วยการเผา ทั้งยังมอบหมายให้มาร์ทีน บอร์มัน เป็นผู้จัดการเรื่องดังกล่าว ส่วนพินัยกรรมทางการเมืองมีสองส่วน ในส่วนแรก เขาระบุว่า ไม่ยอมรับข้อกล่าวหาเรื่องบ้าสงคราม ขอบคุณพลเมืองเยอรมันที่จงรักภักดี และร้องขอให้พลเมืองฮึดสู้ต่อไป ในส่วนที่สอง เขาประกาศให้ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ กับแฮร์มัน เกอริง เป็นกบฏ และกำหนดแผนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของจอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์
เทราเดิล ยุงเงอ เลขานุการของฮิตเลอร์ จำได้ว่า ฮิตเลอร์อ่านข้อความพินัยกรรมจากที่เขียนไว้แล้วให้จดตาม และเชื่อกันว่า โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ เป็นผู้ช่วยจด
คำสั่งเสีย
แก้ส่วนแรกของเอกสารคือคำสั่งเสียส่วนตัว ซึ่งบันทึกว่าฮิตเลอร์ได้ทำการสมรสโดยกฎหมายแล้ว (แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นการสมรสกับเอฟา เบราน์) และระบุว่าฮิตเลอร์กับเบราน์ยอมตายดีกว่ายอมสละอำนาจหรือจำนนให้อดสู ทั้งกำหนดว่า ให้จัดการศพของทั้งคู่ด้วยการเผา คำสั่งเสียระบุให้จัดการทรัพย์สินของฮิตเลอร์ดังนี้[1]
- ของสะสมทางศิลปะ ให้มอบแก่หอศิลป์ในบ้านเกิดของฮิตเลอร์ที่เมืองลินทซ์บนฝั่งแม่น้ำดานูบ
- วัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจหรือจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ให้มอบแก่ญาติพี่น้องของฮิตเลอร์ และเพื่อนร่วมงานผู้ซื่อสัตย์ เช่น อันนี วินเทอร์ ผู้เป็นแม่บ้าน
- ของมีค่าอย่างอื่นที่ฮิตเลอร์มีในครอบครอง ให้มอบแก่พรรคนาซี
มาร์ทีน บอร์มัน ถูกระบุชื่อให้เป็นผู้จัดการคำสั่งเสียส่วนตัวของฮิตเลอร์ คำสั่งเสียนี้มีบอร์มันเองและพันเอก นิโคเลาส์ ฟ็อน เบโล ลงนามเป็นพยาน[2]
พินัยกรรรมทางการเมือง
แก้พินัยกรรมทางการเมืองลงนาม ณ วันเวลาเดียวกับคำสั่งเสียส่วนตัว[3]
พินัยกรรมส่วนแรกพรรณนาแรงจูงใจของฮิตเลอร์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานับแต่อาสาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกล่าวย้ำข้อกล่าวอ้างของฮิตเลอร์ที่ว่า จะฮิตเลอร์เองก็ดี จะคนอื่นคนใดในเยอรมนีก็ดี ไม่มีใครอยากให้เกิดสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1939 ทั้งยังระบุเหตุผลของฮิตเลอร์ที่ประสงค์จะฆ่าตัวตาย พร้อมชื่นชมและขอบคุณชาวเยอรมันที่สนับสนุนและสร้างความสำเร็จด้วยกันตลอดมา[4] ส่วนแรกนี้ยังลงรายละเอียดเรื่องข้อกล่าวอ้างของฮิตเลอร์ที่ว่า ฮิตเลอร์พยายามเลี่ยงไม่ทำสงครามกับชาติอื่น ๆ แล้ว และยกการเกิดสงครามให้เป็นความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ ดิอินเทอร์เนชันนัลจิว กับผู้ช่วยเหลือหนังสือพิมพ์นี้[5] ฮิตเลอร์ระบุว่า ตนจะไม่ทิ้งเบอร์ลิน แม้มีกำลังน้อยนิดเกินกว่าจะรักษาเมืองไว้ได้ ฮิตเลอร์ยังแถลงเจตนาที่เลือกตายดีกว่าตกในเงื้อมมือศัตรู[6] เขาทิ้งท้ายพินัยกรรมส่วนนี้ด้วยข้อเรียกร้องให้เสียสละและต่อสู้กันต่อไป[6] กับทั้งแสดงความหวังว่า จะรื้อฟื้นขบวนการสังคมนิยมแห่งชาติขึ้นใหม่เพื่อก่อให้เกิด "ประชาคมประชาชาติที่แท้จริง" (true community of nations)[5]
พินัยกรรมส่วนที่สองระบุเจตนาของฮิตเลอร์เกี่ยวกับรัฐบาลเยอรมนีและพรรคนาซีหลังจากที่เขาสิ้นชีพแล้ว กับทั้งรายละเอียดเรื่องใครจะสืบตำแหน่งเขา เขายังให้ไล่แฮร์มัน เกอริง ออกจากพรรคและจากตำแหน่งราชการทุกตำแหน่ง และยกเลิกกฤษฎีกาฉบับ ค.ศ. 1941 ที่ตั้งเกอริงเป็นผู้สืบตำแหน่งเขาหลังเขาเสียชีวิตแล้ว พินัยกรรมระบุให้ตั้งคาร์ล เดอนิทซ์ เป็นประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหาร แทนที่เกอริง[7] พินัยกรรมยังให้ไล่ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ออกจากพรรคและตำแหน่งราชการทุกตำแหน่ง ฐานที่พยายามเจรจาสันติภาพกับสัมพันธมิตรตะวันตกโดยที่ฮิตเลอร์ไม่รับรู้และไม่อนุญาต[6] นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ให้เรียกเกอริงและฮิมเลอร์ว่า กบฏ[8]
ฮิตเลอร์ให้ตั้งบุคคลต่อไปนี้เป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่และเป็นผู้นำประเทศ[9]
- ประธานาธิบดีไรช์ (Reichspräsident), รัฐมนตรีการสงคราม (Kriegsminister) และผู้บัญชาการใหญ่กองทัพเรือ (Oberbefehlshaber der Kriegsmarine) ได้แก่ จอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์
- นายกรัฐมนตรีไรช์ (Reichskanzler) ได้แก่ ดร.โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์
- รัฐมนตรีประจำพรรค (Parteiminister) ได้แก่ มาร์ทีน บอร์มัน
- รัฐมนตรีต่างประเทศ (Aussenminister) ได้แก่ อาร์ทัวร์ ไซส์-อินควาร์ท
- รัฐมนตรีมหาดไทย (Innenminister) ได้แก่ เกาไลเทอร์ เพาล์ กีสเลอร์
- ผู้บัญชาการใหญ่กองทัพบก (Oberbefehlshaber des Heeres) ได้แก่ จอมพล แฟร์ดีนันท์ เชอร์เนอร์
- ผู้บัญชาการใหญ่กองทัพอากาศ (Oberbefehlshaber der Luftwaffe): จอมพล โรแบร์ท ริทเทอร์ ฟ็อน ไกรม์
- ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็สและอธิบดีตำรวจ (Reichsführer-SS und Chef der Deutschen Polizei): เกาไลเทอร์ คาร์ล ฮังเคอ
- รัฐมนตรีเศรษฐการ (Wirtschaft) ได้แก่ วัลเทอร์ ฟุงค์
- รัฐมนตรีกสิกรรม (Landwirtschaft) ได้แก่ แฮร์แบร์ท บัคเคอ
- รัฐมนตรียุติธรรม (Justiz) ได้แก่ อ็อทโท ทีรัค
- รัฐมนตรีวัฒนธรรม (Kultur) ได้แก่ ดร.กุสทัพ อาด็อล์ฟ เชล
- รัฐมนตรีโฆษณาการ (Propaganda) ได้แก่ ดร.แวร์เนอร์ เนามัน
- รัฐมนตรีคลัง (Finanzen) ได้แก่ กราฟ ชเวรีน ฟ็อน โครซิค
- รัฐมนตรีแรงงาน (Arbeit) ได้แก่ ดร.เทโอ ฮุฟเฟาเออร์
- กระทรวงยุทธภัณฑ์ (Rüstung) ได้แก่ คาร์ล-อ็อทโท เซาร์
- ผู้บังคับการแนวร่วมแรงงานเยอรมันและสมาชิกคณะรัฐมนตรี (Leiter der Deutschen Arbeitsfront und Mitglied des Reichskabinetts: Reichsminister) ได้แก่ ดร.โรแบร์ท ไล
พินัยกรรมมีพยาน คือ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์, มาร์ทีน บอร์มัน, พลเอก วิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ, และพลเอก ฮันส์ เครพส์[3]
ครั้นบ่ายวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ราวหนึ่งวันครึ่งหลังจากฮิตเลอร์ลงนามในบันทึกความประสงค์และพินัยกรรมแล้ว ฮิตเลอร์กับเบราน์ผู้เป็นภริยาก็ฆ่าตัวตาย[10] เกิบเบิลส์, พลเอก บวร์คดอร์ฟ, และพลเอก เครพส์ ฆ่าตัวตายตามไปในอีกสองวันถัดมา ส่วนบอร์มันฆ่าตัวตายในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เพื่อไม่ให้ทหารโซเวียตที่ล้อมเบอร์ลินอยู่จับตัวได้[11]
อ้างอิง
แก้- ↑ Hitler 1945a.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 948, 950.
- ↑ 3.0 3.1 Kershaw 2008, p. 950.
- ↑ Kershaw 2008, p. 948.
- ↑ 5.0 5.1 Hitler 1945b.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Kershaw 2008, p. 949.
- ↑ Kershaw 2008, pp. 949, 950.
- ↑ Evans 2008, p. 724.
- ↑ Hitler 1945b; NS-Archiv
- ↑ Kershaw 2008, pp. 953–955.
- ↑ Beevor 2002, pp. 381, 383, 387, 389.
บรรณานุกรม
แก้- Beevor, Antony (2002). Berlin: The Downfall 1945. London: Viking–Penguin Books. ISBN 978-0-670-03041-5.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Evans, Richard J. (2008). The Third Reich At War. New York: Penguin Group. ISBN 978-0-14-311671-4.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help) - Hitler, Adolph (1945a).
{{citation}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help)
. - Hitler, Adolph (1945b).
{{citation}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help)
. - Kershaw, Ian (2008). Hitler: A Biography. New York: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-06757-6.
{{cite book}}
:|ref=harv
ไม่ถูกต้อง (help)