พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์ก หรือ อีริค ผู้น่าจดจำ (เดนมาร์ก: Erik II Emune; ราวค.ศ. 1090 – 18 กันยายน ค.ศ. 1137) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กในช่วงปีค.ศ. 1134 ถึง 1137 กษัตริย์อีริคที่ 2 เป็นพระโอรสนอกสมรสในพระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งครองราชย์ระหว่างปีค.ศ. 1095 ถึงค.ศ. 1103 พระเจ้าอีริคที่ 2 ทรงก่อกบฏต่อต้านพระเจ้านีลส์แห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นสมเด็จอา และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ในปีค.ศ. 1134 พระองค์ลงโทษศัตรูของพระองค์อย่างโหดร้าย และตอบแทนผู้สนับสนุนด้วยรางวัลอย่างงาม พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยข้าราชบริพารในปีค.ศ. 1137 ราชบัลลังก์ส่งผ่านไปยังพระราชนัดดาคือ พระเจ้าอีริคที่ 3 แห่งเดนมาร์ก

พระเจ้าอีริคที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์1134 – 1137[1]
ก่อนหน้านีลส์
ถัดไปอีริคที่ 3
ประสูติราว ค.ศ. 1090
สวรรคต18 กันยายน ค.ศ. 1137(1137-09-18) (47 ปี)
อูร์เนอโฮเว็ด, เดนมาร์ก
ฝังพระศพมหาวิหารรีเบ
คู่อภิเษกมาล์มเฟรดแห่งเคียฟ
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
อีริค อีริคเซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาไม่ปรากฎนาม
ศาสนาโรมันคาทอลิก

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ แก้

อีริคประสูติราวค.ศ. 1090 เป็นโอรสนอกสมรสของพระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์กกับพระสนมไม่ปรากฏนาม[2] อีริคทรงได้รับสิทธิมรดกสืบทอดจากพระอนุชาต่างมารดาคือ เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด[3] ซึ่งทรงเป็นยาร์ลแห่งเกาะเมิน ลอลันด์และฟาลสเตอร์[4] เมื่อเจ้าชายลาวาร์ดถูกปลงพระชนม์ในปีค.ศ. 1131 อีริคทรงร่วมกับพระเชษฐาต่างมารดาอีกองค์หนึ่งคือ ฮารัลด์ เคสจา โดยทำการกบฏต่อพระเจ้านีลส์แห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นสมเด็จอา[5] อีริคสถาปนาตนเป็นผู้อ้างตนเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กในสคาเนีย เดือนเมษายน ค.ศ. 1131 ซึ่งกระตุ้นให้เคสจา เชษฐาหันไปสนับสนุนกษัตริย์นีลส์เนื่องจากอิจฉาอนุชา[2]

กองทัพของกษัตริย์อีริคพ่ายแพ้ในการรบหลายครั้งต่อกองทัพของกษัตริย์นีลส์และพระเจ้ามักนุส ผู้แข็งแกร่ง[5] พระราชโอรสของกษัตริย์นีลส์ ทรงพ่ายแพ้ที่เยลลิงในคาบสมุทรจัตแลนด์ในปีค.ศ. 1131 และแวร์โบในเกาะเชลลันด์ พระองค์จึงหลบหนีไปยังสคาเนีย การหลบหนีของพระองค์ทำให้ทรงได้รับสมัญญาว่า "แฮร์ฟุต" ซึ่งแปลว่าเท้ากระต่าย หมายถึงทรงหลบหนีรวดเร็วดังกระต่าย[3] กษัตริย์อีริคประสบความล้มเหลวในการเกลี้ยกล่อมจักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในการสนับสนุนพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์[5] และทรงล้มเหลวในการขอการสนับสนุนจากพระเจ้ามักนุสที่ 4 แห่งนอร์เวย์[3] พระองค์เสด็จกลับสคาเนียในปีค.ศ. 1134 เมื่ออาร์กบิชอปอัสเชอร์ ธอร์คิลส์สันแห่งลุนด์ได้สนับสนุนพระองค์ และจักรพรรดิโลทาร์ตัดสินใจสนับสนุนพระองค์ในที่สุด[2] ในปีค.ศ. 1134 พระองค์สามารถรบชนะเหนือกองทัพกษัตริย์นีลส์ในยุทธการฟอเตอวิคในสคาเนีย ด้วยการช่วยเหลือของทหารรับจ้างชาวเยอรมัน[4] และกษัตริย์นีลส์สวรรคตภายในปีนั้น[6]

รัชกาล แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าอีริคที่ 2
 
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

พระเจ้าอีริคที่ 2 สถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่สคาเนียต่อหน้าสภาขุนนางที่เลอแบ็คชือเงินในคืฟลิงเงอวือเงิน ใกล้เมืองลุนด์ พระองค์ทรงให้เมืองลุนด์เป็นราชธานี[7] ด้วยชัยชนะอันโด่งดังที่ฟอเตอวิค จึงมีการขานสมัญญาของพระองค์ใหม่จาก แฮร์ฟุต เป็น ผู้น่าจดจำ[3] เคสจากลับมายังเดนมาร์กและสถาปนาตนเป็นพระมหากษัตริย์ที่อูร์เนอโฮเว็ดในชเลสวิช กษัตริย์อีริคทรงตามไล่ล่าฮารัลด์ เคสจาและทรงสังหารพระเชษฐา พร้อมโอรสของพระองค์ มีเพียงโอลาฟ ฮารัลด์เซนที่สามารถหลบหนีการสั่งประหารของสมเด็จอาได้[5] [8]

กษัตริย์อีริคทรงพยายามกระชับอำนาจและสร้างความชอบธรรมในการปกครอง พระองค์ได้พระราชทานตำแหน่งและสิทธิพิเศษแก่ผู้สนับสนุนพระองค์ และทรงแต่งตั้งหลานชายของอาร์กบิชอปอัสเชอร์ คือ เอสคิลแห่งลุนด์ (ราวค.ศ. 1100 - 1181) ให้เป็นบิชอปแห่งรอสคิลด์[9]

พระองค์ทรงริเริ่มกระบวนการเสนอให้พระอนุชาต่างมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วคือ เจ้าชายคนุด ลาวาร์ด ให้ได้รับการประกาศเป็นนักบุญและทรงตั้งอารามที่ริงสเต็ดซึ่งมีการเก็บเอกสารรายงานถึงปาฏิหาริย์ของหลุมฝังพระศพของเจ้าชายคนุด[5] กษัตริย์อีริคที่ 2 ทรงต้องการสถาปนาเทวสิทธิราชย์ และการทำให้เจ้าชายคนุดได้เป็นนักบุญจะช่วยให้พระองค์มีสิทธิในราชบัลลังก์อย่างกล้าแข็งขึ้น[2] ในที่สุดเจ้าชายคนุดได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในปีค.ศ. 1170[10]

กษัตริย์อีริคทรงเป็นที่จดจำในฐานะกษัตริย์ที่โหดร้ายในสายตาของศัตรู[2] ในฤดูร้อน ปีค.ศ. 1136 กษัตริย์อีริคทรงทำสงครามครูเสดต่อต้านผู้นับถือลัทธิเพแกนบนเกาะในทะเลบอลติกอย่างรือเกิน ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่แหลมอาร์โคนา[3] พระองค์ทรงมีพระบัญชาให้ทหารขุดคลองระหว่างเมืองนี้กับส่วนอื่นๆ ของเกาะ ซึ่งคลองจะเหือดแห้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิทำให้เมืองอาร์โคนาขาดแคลนน้ำดื่ม อาร์โคนาจึงต้องยอมจำนน[11] แต่ในปีค.ศ. 1135 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จที่อาร์โคนา กษัตริย์อีริคทรงพ่ายแพ้ในการต่อสู้ทางทะเลที่ชายฝั่งเดนมาร์กโดยกองทัพชนเผ่าลีชิ ชาวสลาฟตะวันตกภายใต้ดัชชีพอเมอเรเนียของดยุกราติบอร์ที่ 1 ได้เข้าปล้นเมืองรอสคิลด์ และในปีต่อมาหลังจากสมรภูมิคุงกาฮืลลา (ตอนนี้คือเมืองคุงอืลฟ์ในสวีเดน) ก็ได้ถูกปล้นสะดมเช่นกัน[12] พระองค์ทรงร่วมกับกษัตริย์มักนุสแห่งสวีเดน ในการบุกโจมตีนอร์เวย์ที่ไม่สำเร็จ[3] ซึ่งพระองค์ได้ทำการเผาเมืองออสโล[2] เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าเอสคิลพยายามปลุกระดมขุนนางเกาะเชลลันด์ให้ลุกฮือต่อต้านพระองค์ กษัตริย์อีริคทรงยกทัพบุกไปทางเหนือเพื่อปราบปรามกบฏที่แพร่ขยายไปทั่วเกาะฟึนและจัตแลนด์ พระองค์ทรงปรับโทษเอสคิลอย่างหนัก[2]

สวรรคต แก้

พระเจ้าอีริคที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1137 การสวรรคตของกษัตริย์อีริคมีการเขียนโดยบันทึกประวัติศาสตร์ของอาริลด์ ฮุทเฟลท์ บันทึกว่า พระประมุขผู้โหดร้ายและไม่เป็นที่นิยม กษัตริย์อีริคสวรรคตที่สภาอูร์เนอโฮเว็ดในปีค.ศ. 1137 กษัตริย์อีริคทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยขุนนางท้องถิ่น ซอร์เต พลอฟ[13] ตามตำนานบันทึกว่า ซอร์เต พลอฟขอพระบรมราชานุญาตให้การเข้าใกล้พระมหากษัตริย์ โดยเขาถือหอกไว้ในมือโดยมีท่อนไม้เสียบปิดบังส่วนปลายไว้ เมื่อเขาเห็นว่ากษัตริย์อีริคไม่ได้ทรงสวมเกราะเหล็กใต้ฉลองพระองค์คลุม ซอร์เตจึงเอาท่อนไม้ออกและเสียบหอกเข้าร่างของกษัตริย์ พระนัดดาของกษัตริย์อีริคคือ อีริค โฮกุนเซนพยายามก้าวไปข้างหน้าด้วยดาบในมือ แต่ขุนนางหยุดพระองค์และทูลให้พระองค์ให้ใจเย็นๆ เนื่องจากเห็นว่า อีริค เป็นผู้สืบราชบัลลังก์พระองค์ต่อไป และเป็นทายาทชายเพียงพระองค์เดียวของราชวงศ์ ขุนนางตะโกนว่า "วางกระบองของท่านลงซะ! ท่านอีริคหนุ่ม ตอนนี้ชิ้นเนื้อชุ่มฉ่ำตกอยู่หน้าจานอาหารของท่านแล้ว!" ตามตำนานระบุว่า ซอร์เตหลบหนีไปเพื่อรักษาชีวิต พระบรมศพของกษัตริย์อีริคถูกฝังที่มหาวิหารรีเบ อีริค โฮกุนสัน ได้ครองราชย์เป็น พระเจ้าอีริคที่ 3 แห่งเดนมาร์ก

ทายาท แก้

ก่อนปีค.ศ. 1130 อีริคได้เสกสมรสกับมาล์มเฟรดแห่งเคียฟ พระธิดาในมิสทิสลาฟที่ 1 แห่งเคียฟและเจ้าหญิงคริสตินา อิงเงอสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน[2] มาล์มเฟรดเคยเป็นอดีตสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ จากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าซิกวาร์ดที่ 1 แห่งนอร์เวย์ กษัตริย์อีริคทรงมีพระสนมชื่อ ทุนนา และมีโอรสนอกสมรสชื่อ สเวน ซึ่งต่อมาทรงได้เป็นพระเจ้าสเวนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก[3]

อ้างอิง แก้

  1. Monarkiet i Danmark – Kongerækken เก็บถาวร พฤศจิกายน 18, 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในราชาธิปไตยเดนมาร์ก
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Stefan Pajung, Erik Emune ca. 1090–1137, danmarkshistorien.dk, Aarhus University, 20 January 2010
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Bricka, Carl Frederik, Dansk Biografisk Lexikon, vol. IV [Clemens – Eynden], 1890, pp.540–542.
  4. 4.0 4.1 Palle Birk Hansen, Forside > Jubilæumslogo > Logohistorier > Peder Bodilsen เก็บถาวร 2011-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Næstved Municipality
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Erik 2. Emune at Gyldendals Åbne Encyklopædi
  6. "Asser, –1137, Ærkebiskop". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
  7. 1050–1250 – Konge og Kirke at Oresundstid.dk
  8. "Urnehoved". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
  9. "Eskil". Catholic Encyclopedia (1913). สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
  10. "Knud Lavard, ca. 1096-1131". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.
  11. Erik Emune [1134–1137 เก็บถาวร 2011-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Mogwai.dk
  12. Olga Baranowska, Pomorze Zachodnie, moja mała ojczyzna, Szczecin 2001, wyd. "Ines", K.Kozłowski, J.Podralski Gryfici Książęta Pomorza Zachodniego, KAW Szczecin 1985
  13. "Kongemorderen Sorte Plov". kongeaastien.dk. สืบค้นเมื่อ September 1, 2018.


ก่อนหน้า พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้านีลส์    
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1134 - ค.ศ. 1137)
  พระเจ้าอีริคที่ 3