พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 แห่งอารากอน
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 (สเปน: Alfonso I; อารากอน: Alifonso I; บาสก์: Alfontso I.a) หรือ พระเจ้าอัลฟอนโซนักรบ (สเปน: Alfonso El Batallador; อารากอน: Alifonso lo Batallero; บาสก์: Alfontso Borrokalaria) เสด็จพระราชสมภพ ค.ศ. 1073 สิ้นพระชนม์เดือนกันยายน ค.ศ. 1134 ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอารากอนและนาวาร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1104 จนถึงปี ค.ศ. 1134
อัลฟอนโซที่ 1 | |
---|---|
รูปปั้นแกะสลักของพระเจ้าอัลฟอนโซใน ปาร์เกกรันเดโฆเซอันโตนิโอลาบอร์เดตา ในซาราโกซา | |
กษัตริย์แห่งอารากอน กษัตริย์แห่งปัมโปลนา | |
ครองราชย์ | 28 กันยายน ค.ศ. 1104 – 8 กันยายน ค.ศ. 1134 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอน |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้ารามีโรที่ 2 แห่งอารากอน (อารากอน) พระเจ้าการ์เซีย รามีเรซแห่งนาวาร์ (ปัมโปลนา) |
ประสูติ | ค.ศ. 1073/1074 |
สิ้นพระชนม์ | 8 กันยายน ค.ศ. 1134 (60 พรรษา) |
ฝังพระศพ | วิหารซันเปโดรเอลบิเอโฆ |
พระมเหสี | สมเด็จพระราชินีนาถอูร์รากาที่ 1 แห่งเลออน |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ฆีเมเนซ |
พระบิดา | พระเจ้าซันโช รามีเรซแห่งอารากอนและนาวาร์ |
พระมารดา | เฟลิซี เดอ รูซี |
อัลฟอนโซเป็นพระโอรสคนที่สองของพระเจ้าซันโชที่ 5 รามิเรซ และเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอน (พระเชษฐา) พระองค์ทรงได้รับการทาบทามจากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยาให้แต่งงานกับอูร์รากา ภรรยาม่ายของแรมงแห่งบูร์กอญที่ต่อมากลายเป็นพระราชินีผู้ปกครองกัสติยา เลออน และกาลิเซีย ภายหลังเมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1109 ราชอาณาจักรคริสเตียนทั้งสี่ คือ อารากอน นาวาร์ กัสติยา และเลออน ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแต่เพียงในนาม และอัลฟอนโซที่ 1 สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิต่อจากพระสสุระ ทว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเลออนและกัสติยาเกลียดชังจักรพรรดิชาวอารากอน, เพราะอูร์รากาชิงชังพระสวามีคนที่สองของตนเอง และเพราะแบร์นาร์ อาร์ชบิชอปชาวฝรั่งเศสสายกลูว์นีแห่งโตเลโดต้องการให้อัลฟอนโซ รามิเรซ พระโอรสเลี้ยงของพระองค์ (พระโอรสวัยทารกของอูร์รากากับพระสวามีคนแรกชาวบูร์กอญ) ครองบัลลังก์จักรพรรดิ ด้วยการกระตุ้นของแบร์นาร์ สมเด็จพระสันตะปาปาประกาศให้การแต่งงานของอัลฟอนโซกับอูร์รากาเป็นโมฆะ แต่พระเจ้าอัลฟอนโซยังคงมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองในราชอาณาจักรตอนกลางต่อไปจนกระทั่งยอมวางมือจากการอ้างสิทธิ์เพื่อหลีกทางให้พระโอรสเลี้ยงในท้ายที่สุดหลังการสิ้นพระชนม์ของอูร์รากาในปี ค.ศ. 1126
อัลฟอนโซได้ฉายานามนักรบจากการทำเรกองกิสตา ทรงประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ทางทหารในหุบเขาเอโบรตอนกลางซึ่งพระองค์ได้รับชัยชนะอันน่าทึ่งเหนือชาวมัวร์ ทรงยึดซาราโกซาได้ในปี ค.ศ. 1118 และยึดเอเฆอา, ตูเดลา, กาลาตายุด, บอร์ฆา, ตาราโซนา, ดาโรกา และมอนเรอัลเดลกัมโปได้ ในปี ค.ศ. 1125 ทรงเป็นผู้นำในการยกกองกำลังลงใต้รุกรานไปไกลถึงอันดาลูซิอา ในการสู้รบพระองค์ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากผู้ปกครองอาณาจักรเคานต์ต่าง ๆ ทางตอนเหนือของเทือกเขาพิรินี ผลลัพธ์ที่ได้คืออารากอนเข้าไปพัวพันในความวุ่นวายในฝรั่งเศสตอนใต้ พระเจ้าอัลฟอนโซบาดเจ็บสาหัสในการรบที่ไม่ประสบความสำเร็จกับชาวมุสลิมในยุทธการที่ฟรากา ด้วยความเลื่อมใสในศาสนาอย่างสุดซึ้ง พระองค์ยกราชอาณาจักรของตนให้อัศวินเทมพลาร์และอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ แต่อดีตผู้อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ไม่ยอมรับเรื่องนี้ ท้ายที่สุดอาณาจักรก็ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของเคานต์แห่งบาร์เซโลนา
ต้นชีวิต
แก้
พระองค์ใช้ชีวิตช่วงแรกในอารามซีเรซา ศึกษาด้านการอ่านเขียน และฝึกฝนทักษะด้านการทหารภายใต้การอบรมสั่งสอนของโลเป การ์เซสผู้เป็นนักแสวงบุญ ซึ่งต่อมาเมื่ออพระเจ้าอัลฟอนโซได้ครองบัลลังก์ ทรงตอบพระอาจารย์ด้วยการพระราชทานเคานตีเปโดรลาให้
ในช่วงที่พระเชษฐาครองราชย์ พระองค์มีส่วนร่วมในการยึดเฮวสกา ซึ่งต่อมากลายเป็นนครที่ใหญ่ที่สุดของราชอาณาจักรและเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ พระองค์ทำศึกร่วมกับเอลซิดในบาเลนเซีย ทรงได้รับพระราชทานตำแหน่งลอร์ดแห่งบรีเอล, ลูนา, อาร์เดเนส และไบโลจากพระบิดา
การสิ้นพระชนม์ที่เกิดขึ้นติดๆ กันของอิซาเบลกับเปโดร พระโอรสธิดาของพระเชษฐา ที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1103 และ 1104 ตามลำดับ ทำให้อัลฟอนโซกลายเป็นทายาทในบัลลังก์
ความขัดแย้งจากการแต่งงาน
แก้
พระองค์เป็นชายที่หลงใหลในการต่อสู้ ทรงสู้รบกับชาวคริสต์และชาวมัวร์มากว่า 29 สมรภูมิ ในวัย 30 กว่าพรรษา ทรงอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1109 กับพระราชินีอูร์รากาผู้ทะเยอทะยาน ภรรยาม่ายของแรมงแห่งบูร์กอญ พระนางเป็นหญิงที่มีความทะเยอทะยานซึ่งไม่เหมาะจะเป็นช้างเท้าหลัง การแต่งงานถูกจัดแจงขึ้นโดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออน พระบิดาของอูร์รากา เพื่อรวมสองรัฐหลักของชาวคริสต์เข้าด้วยกันกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มอัลโมราวิด ทว่าอูร์รากากลับหวงแหนสิทธิ์ในฐานะพระราชินีผู้ปกครองของพระองค์ และครัวเรือนแบบหนึ่งสามีหลายภรรยาของพระบิดาไม่ได้สอนให้พระองค์รู้จักรักนวลสงวนตัว สองสามีภรรยาจึงทะเลาะกันจนเปิดสงครามเข้าใส่กัน ด้วยไพร่พลที่มีมากกว่าฝ่ายตรงข้าม ทรงชนะในสมรภูมิกันเดสปินาและสมรภูมิเบียดันโกส แต่ผู้สนับสนุนที่ไว้ใจได้ของพระองค์มีเพียงชาวอารากอน ซึ่งมีจำนวนไม่มากพอที่จะกำราบกัสติยาและเลออน ในปี ค.ศ. 1110 การแต่งงานของพระเจ้าอัลฟอนโซกับพระราชินีอู่ร์รากาถูกสมเด็จพระสันตะปาปาประกาศให้เป็นโมฆะ เนื่องจากทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่สองกัน แต่พระองค์ปฏิเสธผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาและยังคงมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับพระราชินีอูร์รากาจนถึงปี ค.ศ. 1144[1] ระหว่างที่แต่งงานกัน ทรงเรียกตัวเองว่า "กษัตริย์และจักรพรรดิแห่งกัสติยา โตเลโด อารากอน ปัมโปลนา โซบราเบ และริบาโกร์ซา" เพื่อแสดงสิทธิ์ของพระองค์ในฐานะพระสวามีของพระราชินีอูร์รากา และสิทธิ์ในฐานะผู้สืบทอดดินแดนของพระบิดา ทรงใช้ตำแหน่งจักรพรรดิด้วยเหตผลว่าพระองค์ปกครองราชอาณาจักรสามแห่ง
ความสัมพันธ์กับคริสตจักร
แก้พระองค์ทะเลาะกันคริสตจักร โดยเฉพาะนิกายซิสเตอร์เชียน รุนแรงพอๆ กับที่ทะเลาะกับพระมเหสี ทรงขับไล่อาร์ชบิชอปเบร์นาร์ดออกนอกประเทศและเนรเทศคณะนักบวชของซาฮากูน สุดท้ายพระองค์ถูกบังคับให้วางมือจากกัสติยาและเลออน เพื่อหลีกทางให้พระโอรสเลี้ยง พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งกัสติยา พระโอรสของพระราชินีอูร์รากากับพระสวามีคนแรก การเข้ามาแทรกแซงของสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 2 ทำให้อัลฟอนโซทั้งสองทำข้อตกลงร่วมกันได้
การขยายอำนาจทางทหาร
แก้พระเจ้าอัลฟอนโซทรงเป็นที่จดจำในด้านการทหารมากกว่าการเมืองการปกครอง สี่ปีแรกของการเป็นกษัตริย์ ทรงใช้เวลาไปกับการทำสงครามกับชาวมุสลิมแทบไม่ขาด ในปี ค.ศ. 1105 ทรงพิชิตเอเฆอาและเตาสเต และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กัสเตยาร์และฆัสลิโบลซึ่งเป็นอาณาเขตของชาวคริสต์ ในปี ค.ศ. 1106 ทรงคว้าชัยเหนืออัลมุสตะอินแห่งซาราโกซาที่บันติเอร์รา และในปี ค.ศ. 1107 ทรงยึดตามาริเตเดลิเตราและเอสเตบันเดลาลิเตรา ความขัดแย้งเรื่องการอ้างสิทธิ์ในอาณาจักรทั้งสี่ (อารากอน, นาวาร์, กัสติยา และเลออน) ในปี ค.ศ. 1109 ทำให้การพิชิตอาณาเขตมุสลิมของพระองค์หยุดนิ่งไปหลายปี แต่ในปี ค.ศ. 1117 ทรงเตรียมพร้อมที่จะสู้รบอีกครั้ง
ในปี ค.ศ. 1118 สภาตูลูสประกาศสงครามครูเสดกับราชอาณาจักรมุสลิมในสเปน กองทัพของพระเจ้าอัลฟอนโซรีบรุกคืนไปทั่วคาบสมุทรไอบีเรีย และมาถึงซาราโกซาในเดือนพฤษภาคม หลังการปิดล้อมอันยาวนาน สุดท้ายเมืองก็แตกในวันที่ 18 ธันวาคม พระเจ้าอัลฟอนโซได้ประกาศให้ซาราโกซาเป็นเมืองหลวงของพระองค์ทันที ปีต่อมาทรงยึดดินแดนเพิ่ม ก่อนจะกลับไปซาราโกซาในปี ค.ศ. 1120 เพื่อขับไล่กองทัพมุสลิมที่พยายามจะยึดเมืองกลับไป
ตลอดระยะเวลาสิบห้าปี ทรงรุกรานอาณาเขตมุสลิมอย่างต่อเนื่อง เมืองต่างๆ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์มากขึ้น อุปสรรคที่ขัดขวางความสำเร็จของพระองค์คือการขัดแย้งกับผู้นำของราชอาณาจักรคริสเตียนแห่งอื่นๆ ในสเปนตอนเหนือและฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายครั้งที่ทำให้พระองค์ต้องทิ้งการสู้รบไปปกป้องอาณาเขตของตนเอง
การสิ้นพระชนม์
แก้พระเจ้าอัลฟอนโซสิ้นพระชนม์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1134 หลายเดือนหลังความสำเร็จครั้งสุดท้ายในการยึดฟรากาด้วยกองทัพที่มีเพียงอัศวิน 500 คน หลุมฝังศพของพระองค์อยู่ในอารามซันเปโดรในเฮวสกา
ตามพินัยกรรมของพระเจ้าอัลฟอนโซ ทรงยกราชอาณาจักรให้อัศวินสามกลุ่มซึ่งขุนนางของราชอาณาจักรของพระองค์ไม่ยอมรับการตัดสินใจนี้ รามีโร พระอนุชาเพียงคนเดียวของพระเจ้าอัลฟอนโซบวชเป็นพระในนิกายเบเนดิกตินมาตั้งแต่เด็ก ข้อผูกมัดที่พระองค์มีต่อคริสตจักร, ภาวะอารมณ์ และการให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะถือครองพรหมจรรย์ทำให้พระองค์ไม่คู่ควรที่จะปกครองราชอาณาจักรที่ถูกคุกคามทางทหารอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออน ในฐานะกษัตริย์ผู้ปกครองและลูกหลานตามกฎหมายของพระเจ้าซันโชที่ 3 แห่งปัมโปลนา (นาวาร์) พยายามเสนอตนแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากขุนนางท้องถิ่น ขุนนางของนาวาร์หันไปหาเปโดร เด อาตาเรส พระนัดดาของพระปิตุลานอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซ ขณะที่ขุนนางอารากอนสนับสนุนบิชอปรามีโร
สุดท้ายขุนนางนาวาร์ได้เลือกการ์เซีย รามีเรซ ลอร์ดแห่งมอนซอน ลูกหลานของบุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าการ์เซีย ซันเชซที่ 3 แห่งปัมโปลนา เป็นกษัตริย์ ขณะที่ชาวอารากอนนำตัวรามีโรออกมาจากอารามและตั้งเป็นกษัตริย์ จับพระองค์แต่งงานกับแอนเญ็ส น้องสาวของดยุคแห่งอากีแตน
อ้างอิง
แก้- Alfonso I KING OF ARAGON AND NAVARRE: The Editors of Encyclopaedia Britannica
- ALFONSO THE BATTLER AND MUSLIM SPAIN: NewHistorian
- Alfonso the Battler: WIKIPEDIA
- ↑ Chisholm, Hugh, ed. (1911). "Alphonso s.v. Alphonso I., king of Aragon". Encyclopædia Britannica. 1 (11th ed.). Cambridge University Press. pp. 734–735.