พระครูวิมลเมธาจาริย์ (อินทร์)

พระครูวิมลเมธาจาริย์ (อินทร์) บ้างเขียนว่า พระครูวิมลเมธาจารย์ (อิน) นิยมเรียกว่า “หลวงพ่ออินทร์ วัดพร้าว” เป็นพระเถราจารย์จังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณบุรี วัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

พระครูวิมลเมธาจาริย์

(อินทร์ , อิน )
ชื่ออื่นหลวงพ่ออินทร์ วัดพร้าว
ส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2391 (42 ปี)
มรณภาพ20 กรกฎาคม พ.ศ. 2433
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพร้าว ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี 
อุปสมบทพ.ศ. 2413
พรรษา20 พรรษา
ตำแหน่งอดีตเจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณบุรี

ประวัติ

แก้

ชาติภูมิ

แก้

ชื่อ อินทร์ บ้างเขียนว่า อิน สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ ชาตะ พ.ศ.2391 ณ บ้านโรงหีบ แขวงเมืองสุพรรณบุรี[1] (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี)

วัยเยาว์

แก้

ประวัติไม่ชัดเจน มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า เมื่อเยาว์วัยท่านคงจะเดินทางไปศึกษาความรู้ที่สำนักวัดใดวัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จนมีความรู้เชี่ยวชาญแตกฉานในด้านพระไตรปิฎก พระธรรมวินัย ภาษาบาลี อักขรวิธีภาษาไทย ภาษาขอม อาจเป็นศิษย์หลวงพ่อแก้ว วัดพร้าว และเป็นเพื่อนกับหลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว[1]

อุปสมบท

แก้

บรรพชาและอุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2413 ณ พัทธสีมาวัดใดยังไม่พบข้อมูล สันนิษฐานว่าอาจเป็นพัทธสีมาวัดเกาะ หรือวัดบ้านคอยเหนือ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธาราม) ซึ่งเป็นวัดที่มีพัทธสีมาในถิ่นกำเนิดสมัยนั้น[2]

อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่วัดใดบ้างยังไม่พบข้อมูล กระทั่งมาอยู่ที่มณีนาฬิการาม (วัดพร้าวในปัจจุบัน) แขวงเมืองสุพรรณบุรี ได้ช่วยแบ่งเบาภาระการสอน การอบรมแนะนำสั่งสอนพระธรรมวินัย อักขรวิธี บาลีไวยากรณ์ แก่พระภิกษุสามเณรผู้ใฝ่หาความรู้[1]

ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณ

แก้

ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณบุรีปัจจุบันเทียบเท่าตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เดิมพระครูวิมลเมธาจาริย์ (ท้วม) วัดตะไกร ดำรงตำแหน่งอยู่ ต่อมาพระครูวิมลเมธาจาริย์ (ท้วม) อาพาธเป็นไข้สันนิบาต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาเมื่อ พ.ศ. 2429 (นับแบบศักราชปัจจุบันคือ พ.ศ. 2430) ส่งผลให้ตำแหน่งนี้ว่าง พระไชยราชรักษา (ปลัดผู้รักษาเมืองสุพรรณบุรี) หลวงศรีราชรักษา (ยกกระบัตรเมืองสุพรรณบุรี) และกรมการเมืองสุพรรณบุรี จึงมีใบบอกมายังลูกขุน ณ ศาลา นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่าได้นิมนต์เจ้าอธิการและพระสงฆ์ทุกวัดมาประชุมพร้อมกันที่วัดประตูสาร เจ้าอธิการและพระสงฆ์เห็นว่า พระอาจารย์อินทร์ วัดมณีนาฬิการาม ประกอบด้วยศีลคุณ ปฏิบัติถูกต้องตามพระพุทธศาสโนวาท วินัยยานุญาต บัญญัติปริยัติกาคุณ ควรเป็นที่พระครูวิมลเมธาจาริย์ จะได้บังคับสั่งสอนพระสงฆ์สามเณรในแขวงเมืองสุพรรณบุรี บำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรวัฒนาการต่อไป[3]

พระราชทานสมณศักดิ์

แก้

วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 เวลา 11.00 น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกมาทรงประเคนพระสงฆ์ราชาคณะ พระฐานาเปรียญที่จะรับฐานันดรศักดิ์ และพระฐานานุกรมทั้ง 3 คณะ รวม 31 รูป รับพระราชทานฉันภัตตาหารที่ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ครั้นเวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจุดเทียนนมัสการ แล้วทรงตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ คือ พระราชทานผ้าไตรแพรและสัญญาบัตรให้เจ้าอธิการอินทร์ วัดพร้าว เป็นพระครูวิมลเมธาจาริย์ เจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณบุรี พระราชทานตาลปัตรพุดตานทองแผ่ลวด เครื่องยศต่างๆ อย่างพระครูเจ้าคณะ ไม่มีนิตยภัต

เมื่อทรงตั้งตำแหน่งพระสงฆ์นั้น พระราชาคณะ พระฐานานุกรม ที่ไม่ต้องเลื่อนสมณศักดิ์ สวดชัยมงคลคาถาพร้อมกัน ส่วนพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ใหม่ออกไปครองผ้าแล้วกลับเข้ามาถวายอนุโมทนา อดิเรก และพระพร เสร็จแล้วลากลับไป[4]

สัทธิวิหาริก - อันเตวาสิก

แก้

พระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง วชิรสุวณฺโณ) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดวรจันทร์

"ครั้นปีชวด ตรงกับพุทธศักราช 2431 พระครูธรรมสารรักษามีอายุย่างเข้า 21 ปี โยมได้จัดการอุปสมบทเป็นพระมหานิกายที่วัดพร้าว จังหวัดสุพรรณ์ มีฉายาว่า "เพชรสุวณฺณ" โดยหลวงพ่อแก้วเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปลื้มเล็กกับท่านพระครูอินทร์ เจ้าคณะจังหวัดเป็นคู่สวด เมื่อบวชแล้วท่านพระครูธรรมสารรักษาอยู่เล่าเรียนกับท่านพระครูอินทร์ที่วัดพร้าว 1 พรรษา แล้วจึงย้ายลงไปเล่าเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ โดยท่านพระครูอินทร์เป็นผู้นำไปฝาก"[5]

ตำแหน่ง

แก้

งานปกครอง

แก้
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็นพระกรรมวาจาจารย์[5]
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็นเจ้าคณะหมวด[4]
  • พ.ศ. 2431 เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณบุรี[4]

งานคณะสงฆ์

แก้
  • พ.ศ. 2431 (นับแบบศักราชปัจจุบันคือ พ.ศ. 2432) ดำเนินเรื่องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดหนองกระทุ่ม แขวงเมืองสุพรรณบุรี[6]
  • พ.ศ. 2431 (นับแบบศักราชปัจจุบันคือ พ.ศ. 2432) ระงับอธิกรณ์[6]
  • พ.ศ. 2432 เจริญพระพุทธมนต์ และรับถวายเครื่องไทยธรรมของหลวงพระราชทาน เนื่องในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่เมืองสุพรรณบุรี[7]

สมณศักดิ์

แก้
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็นเจ้าคณะหมวด สมณศักดิ์ที่ เจ้าอธิการอินทร์[4]
  • พ.ศ. 2431 เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูวิมลเมธาจาริย์[4]

อาพาธ - มรณภาพ

แก้

พระครูวิมลเมธาจาริย์อาพาธเป็นวัณโรคภายใน หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาก็ไม่หาย กระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 ถึงแก่มรณภาพ สิริอายุ 42 ปี อุปสมบทได้ 20 พรรษา[8]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 พระมหาสมชาย ญาณวีโร, ปกิจ กลิ่นสุคนธ์ และสนิท ทองคำใส. (2545). วัดพร้าว อดีต...สู่ปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์.
  2. พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
  3. พระไชยราชรักษา, หลวงศรีราชรักษา. (2430). ใบบอกเมืองสุพรรณบุรี [ไมโครฟิล์ม]. กรุงเทพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ , เล่ม 5, ตอน 17, 24 สิงหาคม 2431, หน้า 138
  5. 5.0 5.1 พระยาลักษมัณสุพจน์ (บุญ ศาลยาชีวิน). (2486). ประวัติท่านพระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง) และประวัติวัดวรจันทร์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
  6. 6.0 6.1 พระยาสุนทรสงครามรามพิไชย, พระไชยราชรักษา. (2431). ใบบอกเมืองสุพรรณบุรี [ไมโครฟิล์ม]. กรุงเทพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  7. พระยาสุนทรสงครามรามพิไชย. (2432). ใบบอกเมืองสุพรรณบุรี [ไมโครฟิล์ม]. กรุงเทพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
  8. พระยาสุนทรสงครามรามพิไชย, พระไชยราชรักษา. (2433). ใบบอกเมืองสุพรรณบุรี [ไมโครฟิล์ม]. กรุงเทพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า พระครูวิมลเมธาจาริย์ (อินทร์) ถัดไป
พระครูวิมลเมธาจาริย์ (ท้วม)    
เจ้าคณะใหญ่เมืองสุพรรณบุรี
(พ.ศ. 2431 – พ.ศ. 2433)
  พระครูวิบูลเมธาจารย์ (ภู)|}