พรหมชาลสูตร (เถรวาท)

พรหมชาลสูตร มีทั้งของฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน (ดู พรหมชาลสูตร (มหายาน)) ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี พรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรแรกในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บรรดาพระสาวกที่พระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทา[1]

โดยสังเขปพระสูตรนี้ มีเนื้อหาว่าด้วยศีลทั้งหลาย คือจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล อันเป็นแนวทางการปฏิบัติตนของพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังทรงตรัสถึงทัศนะทางปรัชญาและแนวทางการปฏิบัติของลัทธิต่างๆ ในสมัยพุทธกาล ทั้งหมด 62 ลัทธิ หรือที่เรียกว่า ทิฏฐิ 62 ประการ

ชื่อพระสูตร แก้

ในพรหมชาลสูตรฝ่ายเถรวาท ชื่อพรหมชาล หมายความถึง ข่ายที่ทำให้สมณพราหมณ์หลงอยู่ในความเห็นผิด (ทิฏฐิ 62 ประการ) จนต้องติดข้องอยู่กับเวียนว่ายตายเกิด ดังพระสูตรว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกำหนด ขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีต ทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั่งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงวาทะหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ถูกทิฏฐิ 62 อย่างเหล่านั้นแหละเป็น ดุจข่ายคลุมไว้ อาศัยอยู่ในข่ายนี้แหละ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ ในข่ายนี้ ถูกข่ายคลุมไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ เปรียบเหมือนชาว ประมงหรือลูกมือชาวประมงผู้ฉลาด ใช้แหตาถี่ทอดลงยังหนองน้ำเล็ก ๆ เขาคิดอย่างนี้ว่า บรรดาสัตว์ใหญ่ ๆ ในหนองนี้ทั้งหมด ถูกแห คลุมไว้ ติดอยู่ในแห เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ติดอยู่ในแหนี้ ถูกแห คลุมไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้น กำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั่งส่วนอดีตทั่งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั่งส่วนอดีต ทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงวาทะหลายชนิด สมณะหรือพราหมณ์ เหล่านั้นทั้งหมด ถูกทิฏฐิ 62 อย่างเหล่านี้ แหละเป็นดุจข่ายคลุมไว้ อาศัย อยู่ในข่ายนี้แหละ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ ถูกข่ายคลุมไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้."[2]

ด้วยเหตุนี้ พระสูตรนี้ของฝ่ายเถรวาทจึงมีชื่อสอดคล้องไปในทางเดียวกัน กล่าวคือฝ่ายเถรวาทยังเรียกพรหมชาลสูตรว่า อัตถชาล, ธัมมชาล, ทิฏฐิชาล และอนุตรสังคมวิชัย หรือชัยชนะในสงครามอันมิอาจประมาณได้ คือชัยชนะเหนือทิฏฐิอันสุดโต่ง และไม่นำไปสู่การหลุดพ้นทั้งปวง

สถานที่แสดงพระสูตร แก้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ณ พระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา ซึ่งเป็นอุทยานหลวง ตั้งอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทา พระพุทธโฆสะกล่าวว่า สวนแห่งนี้มีร่มเงาร่มรื่น และมีสวนน้ำให้ความเย็นฉ่ำ มีคูน้ำขุดไว้ล้อมรอบ มีศาลาพักผ่อนประดับด้วยภาพจิตรกรรมงดงาม สมกับเป็นที่พักผ่อนของพระราชาแห่งแคว้นมคธ และที่ได้ชื่อว่า อัมพลัฏฐิกาเพราะที่ประตูหน้ามีมะม่วงยืนต้นอยู่หนึ่งต้น[3]

มูลเหตุแห่งพระสูตร แก้

พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา มีปริพพาชก (นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ เดินทางมาข้างหลัง สุปปิยะ ปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล 3 ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างใหญ่[4]

เนื้อหา แก้

เนื้อหาหลักของ กล่าวถึง คือศีลอย่างเล็กน้อย หรือจุลศีล ศีลอย่างกลาง หรือมัชฌิมศีล และศีลอย่างใหญ่ หรือมหาศีล จากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความคิดเห็น หรือทิฏฐิ 62 ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องตั้นของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร (ปุพพันตกัปปิกะ) 18 ประเภท กับพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องต้นสิ่งต่าง ๆ ว่าจะลงสุดท้ายอย่างไร (อปรัตกัปปิกะ) 44 ประเภท รวมเป็น 62 หรือที่เรียว่าทิฏฐิ 62 ประการ[5]

จากนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า สมณพราหมณ์ทุกพวกที่ทิฏฐิความเห็นความเห็นต่าง ๆ รวม 62 ประการเหล่านี้ เพราะอาศัย(ผัสสะ)การสัมผัสถูกต้องด้วยอายตนะสำหรับ 6 อย่าง จึงเกิดเวทนาการเสวยอารมณ์ เพราะเหตุที่มี(เวทนา)เสวยอารมณ์ จึงเกิดตัณหาความทะยานอยาก, เพราะเหตุที่มีความทะยานอยาก จึงมีความยึดมั่นถือมั่น หรือ อุปาทาน, เพราะเหตุที่มีความยึดมั่นถือมั่น จึงมีภพ คือความมีความเป็น, เพราะเหตุที่มีความมีความเป็น จึงมีชาติ คือความเกิด , เพราะเหตุที่มีความเกิด จึงมีความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ (โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส) สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมติดอยู่ในข่ายแห่งความเห็นทั้งหกสิบสองนี้เหมือนปลาติดข่ายฉะนั้น ส่วนตถาคตเป็นผู้ถอนตัญหาอันจะนำให้เวียนอยู่ในภพได้แล้ว กายยังดำรงอยู่ตราบใด ก็มีผู้แลเห็นเมื่อกายทำลายไปแล้ว ก็ไม่มีผู้แลเห็น[6]

โดยสรุป คือ ทิฏฐิทั้ง 62 ประการนั้นพวกหนึ่ง เห็นว่า มีตลอดไป เที่ยงนิรันดร (อัตถิตา, สัสสตะ) ส่วนอีกพวกหนึ่ง เห็นว่า ขาดสูญ ไม่นิรันดร (นัตถิตา, อุจเฉทะ หรือ อสสัสตะ ) ขณะที่พุทธศาสนา เป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลางไม่ใช่ทั้งสอง อย่างข้างต้น พระพุทธเจ้าทรงสอนหลัก "ปฏิจจสมุปบาท" หรือ "อิทัปปัจจยตา" สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นหรือดับไป เพราะมีเงื่อนไข และหมดเงื่อนไข จะชี้ชัดลงไปตายตัวไม่ได้ แล้วแต่เงื่อนไข เช่น ถ้าตอบว่า "เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ (สัสสตะ) ถ้าตอบว่า "ไม่เกิด" ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ (อุจเฉทะ)[7]

อ้างอิง แก้

  1. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 2
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 65 - 66
  3. G.P. Malalasekera. (2007). หน้า 158
  4. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 101
  5. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 103
  6. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 106
  7. เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (2555). คำบรรยายในพระไตรปิฎก

บรรณานุกรม แก้

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • พระพุทธโฆสะ. สุมังคลวิลาสินี ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก. (2555). คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์ธรรมสภา.
  • Bhikkhu Bodhi. (2010). Brahmajala Sutta: The All-embracing Net of Views.
  • G.P. Malalasekera. (2007). Dictionary of Pali Proper Names, Volume 1. New Delhi. Motilal Banarsidass.

เนื้อหา แก้

  • พรหมชาลสูตร (แปล)

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=09&A=0&Z=1071

  • พรหมชาลสูตร (บาลี)

http://www.tipitaka.org/thai/

  • พรหมชาลสูตร (อังกฤษ)

http://www.accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.01.0.bodh.html

  • พรหมชาลสูตรโดยสังเขป

http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prasuttanta/1.html