อุปาทาน
อุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น
- ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจรวมกันว่าเป็น"ตัวตน" และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น"ของตน"
- หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็คือยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น"ตัวเรา" แล้วยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด ๔ อย่างนี้ว่าเป็น"ของเรา"
อุปาทาน 4 อย่างแก้ไข
- กามุปาทาน ยึดติดในกาม ซึ่งในที่นี้มิได้หมายความเพียงแค่เรื่องทางเพศ ซึ่งหมายถึงวัตถุกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิเลสกามคือความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ทำให้หลงรัก หลงชอบ พอใจและอยากมีไว้ในครอบครองหรือเป็นเจ้าของ เช่น บ้าน รถ คอนโด ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องประดับเพชรนิลจินดา หนุ่มหล่อ สาวสวย คนรวย คนมีอำนาจ คนดัง เป็นต้น
- ทิฏฐุปาทาน ยึดถือในทิฏฐิ คือ ความเห็นของตนว่าถูกต้อง ตรง จริง ของผู้อื่นผิด แม้ความเห็นนั้นจะถูกต้องจริงๆ ก็ยังจัดว่าเป็นอุปาทานด้วยเหมือนกัน
- สีลัพพัตตุปาทาน ติดยึดในศีลวัตรที่งมงาย ในที่นี้หมายถึง ข้อประพฤติปฏิบัติที่ไร้ประโยชน์ซึ่งเป็นการทรมานตนเปล่า ทำให้เสียเวลา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นแต่กลับทำให้ยึดติดในวัตรปฏิบัติมากยิ่งขึ้น โดยคิดว่าเพียงแค่การถือพรตอันเคร่งครัดเพียงเท่านั้น จะสามารถนำมาซึ่งวิมุตติอันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริงในทางพุทธศาสนา
- อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในความรู้สึกว่ามีตัวเอง เป็นของตัวเอง หรืออะไร ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวตนในตัวเอง
พุทธภาษิตมีอยู่ว่า "เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์"
ดังนั้น เบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้นหาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่าบริสุทธิ์หรือหลุดพ้นจึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า"ตัวเรา" ว่า"ของเรา"นี้โดยตรง ดังมีพุทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน" เรียกง่าย ๆ ว่า ทุกข์ก็เป็นความคับข้อง ความไม่สะดวกสบายอันเป็นธรรมดาของทุกข์เอง แต่เราไม่ได้ทุกข์ด้วยเพราะเราไม่ได้ไปยึดมั่นเอามาวยอุปาทานเสียแล้วจึงเป็นเบญจขันธ์ธรรมดาที่ไม่ได้ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่
อ้างอิงแก้ไข
- พุทธทาสภิกขุ. "ตัวกู-ของกู".