มัชฌิมศีล แปลวว่า ศีลอย่างกลาง หมายถึงศีลที่มีระดับกลาง ที่ควรประพฤติงดเว้น มีความละเอียดขึ้นมาจากจุลศีล เช่น เว้นจากการการละเล่นต่างๆ การร้องรำทำเพลงเป็นต้น รวมถึงขัดเกลากาย วาจา ใจ ที่ปลอดจากอกุศลอย่างหยาบแล้วให้ละเอียดผ่องใสยิ่งขึ้น เช่นเมื่องดเว้นจากการพูดปด, พูดส่อเสียดให้แตกกัน, พูดคำหยาบ ๆ และพูดเพ้อเจ้อ ดังที่ปรากฏในจุลศีลแล้ว ก็ควรเว้นจากการพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง เป็นลำดับต่อมา เป็นอาทิ

มัชฌิมศีลนี้ คือศีลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) โดยทรงเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล 3 ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย (จุลศีล) ศีลอย่างกลาง (มัชฌิมศีล) และศีลอย่างใหญ่ (มหาศีล) โดยทรงชี้ว่า พระองค์ปฏิบัติศีลเหล่านี้จนเป็นที่สรรเสริญของชาวโลก และศีลเหล่านี้จะเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติต่อไป[1]

มัชฌิมศีล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) มีรายละเอียดดังที่ปรากฏในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) ของพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีดังต่อไปนี้

  1. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูต-คาม อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือพืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ห้า
  2. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้เห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือสะสมข้าวสะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิวสะสมของหอม สะสมอามิส
  3. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่น ที่เป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคม มหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลองฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูงการเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ สนามรบการตรวจพล การจัดกระบวนทัพ การดูกองทัพ
  4. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถนาน้อย ๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ เล่นทายอักษร เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ
  5. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉัน โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงให้เห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือเตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย พรมทำด้วยขนสัตว์ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะอันสวยงาม เครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดทำด้วยขนแกะเป็นรูปดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่นเครื่องลาดทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ เครื่องลาดทำด้วยขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดทำด้วยขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทำด้วยทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะและจุหญิงฟ้อนได้ 16 คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้าเครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังเสือ เครื่องลาดอย่างดี ที่ทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนสองข้าง
  6. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการประดับตกแต่งร่างกาย อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประดับตกแต่งร่างกายเห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คืออบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้าใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้มีดสองคม ใช้ร่ม สวมรองเท้าสวยงาม ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวีชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชายยาว
  7. พระสมณโคดม เว้นขาดจากติรัจฉานกถา อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบดิรัจฉานกถาเห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจรเรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องสงคราม เรื่องข้าว เรื่องน้ำเรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานเรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษเรื่องคนกล้า เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้น ๆ
  8. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพูดแก่งแย่งกันอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดแก่งแย่งกันเห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือ ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิดข้าพเจ้าปฏิบัติถูก คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์ ของท่านไม่มีประโยชน์คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรจะกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาได้ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้ ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ
  9. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเป็นทูต และการรับใช้ อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบการเป็นทูตและการรับใช้เห็นปานนี้อยู่เนือง ๆ คือรับเป็นทูตของพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า จงไปที่นี้ จงไปที่โน้น จงนำเอาสิ่งนี้ไป จงนำเอาสิ่งในที่โน้นมา ดังนี้
  10. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาด้วยลาภ[2]

อ้างอิง

แก้
  1. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 101
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 7 - 11

บรรณานุกรม

แก้
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • พระพุทธโฆสะ. สุมังคลวิลาสินี ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.