จุลศีล แปลว่า ศีลอย่างเล็กน้อย หมายถึงศีลที่มีระดับพื้นฐาน ที่ควรประพฤติงดเว้น เพื่อขจัดอกุศลอย่างหยาบ เช่นการงดเว้นจากฆ่าสัตว์ เป็นต้น จุลศีลนี้ คือศีลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในหลายพระสูตร เช่น พรหมชาลสูตร (เถรวาท) โดยทรงเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล 3 ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย (จุลศีล) ศีลอย่างกลาง (มัชฌิมศีล) และศีลอย่างใหญ่ (มหาศีล) [1] หรือในสามัญญผลสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่าพระภิกษุต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ซึ่งพระองค์ทรงบรรยายว่าพระภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้รัษาทั้งจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล นอกจากนี้ยังทรงแสดงไว้ในพระสูตรอื่นๆเช่น เกวัฏฏสูตร เป็นต้น

จุลศีล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) มีรายละเอียดดังที่ปรากฏในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) ของพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีดังต่อไปนี้

  1. พระสมณโคดม ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
  2. พระสมณโคดม ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
  3. พระสมณโคดม ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลเว้นจากเมถุน ซึ่งเป็นเรื่องของชาวบ้าน
  4. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวชมอย่างนี้ว่า
  5. พระสมณโคดม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จพูดคำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อ ไม่พูดลวงโลก.
  6. พระสมณโคดม ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียดฟังจากข้างนี้แล้วไม่บอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่บอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกกัน สมานคนที่แตกกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนที่พร้อมเพรียงกันกล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน.
  7. พระสมณโคดม ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบกล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนโดยมากรักใคร่ ชอบใจ.
  8. พระสมณโคดม ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อพูดถูกกาล พูดคำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร.
  9. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
  10. พระสมณโคดม ฉันอาหารหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล
  11. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก
  12. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว ซึ่งเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
  13. พระสมณโคดม เว้นขาดจากที่นอนที่นั่งสูง และที่นอนที่นั่งใหญ่
  14. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับทองและเงิน.
  15. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับธัญญชาติดิบ.
  16. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
  17. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับสตรีและเด็กหญิง.
  18. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.
  19. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
  20. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
  21. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
  22. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับนาและไร่
  23. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเป็นทูตและการรับใช้
  24. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการซื้อและการขาย.
  25. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยโลหะ และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด.
  26. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง
  27. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการฟัน การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น การจี้ [2]

อ้างอิง แก้

  1. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 101
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 5 - 7

บรรณานุกรม แก้

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • พระพุทธโฆสะ. สุมังคลวิลาสินี ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.