ปลาตะพากส้ม, ปลาจาด หรือ ปลาจาดแมลคัม[2] เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus malcolmi ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

ปลาตะพากส้ม
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: ปลาตะเพียน
Cypriniformes
วงศ์: วงศ์ปลาตะเพียน
Cyprinidae
สกุล: ปลาตะพาก
Hypsibarbus
(Smith, 1945)
สปีชีส์: Hypsibarbus malcolmi
ชื่อทวินาม
Hypsibarbus malcolmi
(Smith, 1945)
ชื่อพ้อง
  • Acrossocheilus malcolmi Smith, 1945
  • Poropuntius malcolmi (Smith, 1945)

จัดเป็นปลาที่มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงปลาตะพากเหลือง (H. wetmorei) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ครีบก้นมีลักษณะโค้งเหมือนเคียว ครีบและหางเป็นสีแดงหรือสีส้ม รูปร่างอ้วนป้อมกว่า แต่ขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน

มีลำตัวกว้างและแบนข้าง เกล็ดค่อนข้างใหญ่ จำนวนแถวของเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวมี 26 แถว ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน ก้านครีบเดี่ยวก้านสุดท้ายเป็นหนามแข็งขอบจักเป็นฟันเลื่อย มีก้านครีบแขนง 8 ก้าน ครีบหางเป็นแฉกลึกและยาวมากกว่าความยาวหัว ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และมีก้านครีบแขนง 5 ก้าน ลำตัวมีสีขาวเงินสะท้อนแสง และมีลายดำเชื่อมต่อกันระหว่างเกล็ดดูคล้ายตาข่าย

ปลาตะพากส้มแพร่ขยายพันธุ์โดยมนุษย์เป็นครั้งแรกจากการผสมเทียมจากสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดเพชรบุรี พบว่าวางไข่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ไข่เป็นประเภทไข่ติด

มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 50 เซนติเมตร พบได้ที่แม่น้ำเพชรที่จังหวัดเพชรบุรี และแม่น้ำปิงที่จังหวัดตาก และแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ทั่วประเทศไทย ที่พบบ่อยคือแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำโขง ยกเว้นแม่น้ำสาละวิน

ปลาตะพากส้มได้รับการอนุกรมวิธานจากฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักวิชาการประมงชาวอเมริกัน ได้เก็บตัวอย่างต้นแบบจากแม่น้ำปิง จังหวัดตาก เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1924 เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นปลาชนิดใหม่ จึงส่งตัวอย่างไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่แมลคัม อาเธอร์ สมิธ นักมีนวิทยาและวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชาวอังกฤษที่เข้ามาศึกษาสัตว์ทั้งสองประเภทนี้ในประเทศไทย[2]

ปลาตะพากส้มมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาปีกแดง" นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม[2]

อ้างอิง

แก้
  1. Baird, I.; Allen, D.J. (2011). "Hypsibarbus malcolmi". IUCN Red List of Threatened Species. 2011: e.T180843A7652840. doi:10.2305/IUCN.UK.2011-1.RLTS.T180843A7652840.en. สืบค้นเมื่อ 20 November 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 91. ISBN 974-00-8701-9

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้