ปลาซิวสมพงษ์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Trigonostigma
สปีชีส์: T.  somphongsi
ชื่อทวินาม
Trigonostigma somphongsi
(Meinken, 1958)
ชื่อพ้อง
  • Rasbora somphongsi
  • Barbus somphongsi

ปลาซิวสมพงษ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Trigonostigma somphongsi) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กจำพวกปลาซิวชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ได้รับการค้นพบโดยนายสมพงษ์ เล็กอารีย์ พ่อค้าปลาสวยงามชาวไทย [ซึ่งเป็นผู้ค้นพบปลาปักเป้าสมพงษ์ (Carinotetraodon lorteti) และปลาตะเพียนสมพงษ์หรือปลาจาดแถบดำ (Poropuntius melanogrammus) ด้วย]

ปลาเพศผู้รูปร่างลักษณะรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศเมีย บริเวณลำตัวมีสีเหลืองส้มและลวดลายข้างลำตัวจะเข้มชัดเจนเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ เพศเมียมีลักษณะรูปร่างป้อมมีสีซีดจางและลวดลายข้างลำตัวไม่ชัดเจน ข้อแตกต่างจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นช่วงที่ปลาพร้อมจะวางไข่ ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 10.5 เซนติเมตร กินอาหารง่าย เป็นปลาที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ว่ายน้ำตลอดเวลา วางไข่โดยการแปะติดกับใบของพืชน้ำ ไข่จะฟักภายใน 30 ชั่วโมง แม่ปลาสามารถวางไข่ได้ประมาณ 8-10 ฟอง กินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนสัตว์และตัวอ่อนแมลงน้ำขนาดเล็ก[2]

ปลาซิวสมพงษ์จัดเป็นปลาที่หายากมาก เนื่องจากเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองแถบจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น มีรายงานการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ในฐานะปลาสวยงาม จนทำให้ปลาซิวสมพงษ์มีสถานะในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต เคยถูกจัดให้เป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากบัญชีของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติเมื่อกว่า 50 ปีก่อน จนกระทั่งหลังเหตุมหาอุทกภัยในปลายปี พ.ศ. 2554 ในเหตุการณ์น้ำท่วมทุ่งที่จังหวัดนครนายกในปี พ.ศ. 2555 ก็มีการค้นพบปลาซิวสมพงษ์อีกครั้ง[3] และมีรายงานการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วที่เยอรมนี เป็นปลาที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในสถานที่เลี้ยงได้ดี

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Trigonostigma somphongsi จาก IUCN (อังกฤษ)
  2. "ปลาไทย|ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-19. สืบค้นเมื่อ 2010-07-31.
  3. "ลุยงานเกษตรแฟร์ มีโชว์ทีเด็ดปลาใกล้สูฯพันธุ์". ไทยรัฐ. 23 March 2014. สืบค้นเมื่อ 23 March 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้